SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
OCLC’s Integrated Management Platform, WorldShare Management Services (WMS) สามารถช่วยตอบโจทย์ในปัจจุบันของห้องสมุดได้อย่างไร
ธ.ค. 29th, 2018 by supaporn

หัวข้อดังกล่าว เป็นการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเปิดตัวระบบห้องสมุด WorldShare Management Services (WMS) อย่างเป็นทางการของศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 โดยบริษัท แอดวานซ์ มีเดีย เซอร์วิส (Advance Media Service-AMS) ได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่อง OCLC’s integrated management platform, WorldShare Management Services (WMS) สามารถช่วยตอบโจทย์ในปัจจุบันของห้องสมุดได้อย่างไร เพื่อให้ห้องสมุดที่สนใจ เข้าร่วมฟัง

OCLC’s Integrated Management Platform, WorldShare Management Services (WMS) สามารถช่วยตอบโจทย์ในปัจจุบันของห้องสมุดได้อย่างไร

ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงการนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ WorldShare Management Services (WMS) มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และทีมงาน AMS ได้มาอัพเดท feutures ใหม่ ๆ ของ WMS ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของห้องสมุด สุดท้ายเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ในการนำระบบ WMS มาใช้ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พร้อมสาธิตระบบให้แก่ผู้สนใจเข้าฟัง ณ ห้องสื่อประสม (ห้องบรรยายพิเศษ 2) ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ Read the rest of this entry »

OA & Open Content in the user workflow
ธ.ค. 9th, 2018 by supaporn

OA & Open Content in the user workflow เป็น member session ของวันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ของ APRC18 Change the Game โดยมีวิทยากร คือ Kuang-hua Chen และ Titia van der Werf ซึ่งทั้งสองท่าน มาพูดถึงงานที่ OCLC กำลังสำรวจโดยออกแบบสอบถามในเรื่องของ Open Access (OA) และ Open Content ให้แก่ห้องสมุดเข้าไปตอบแบบสอบถามได้ที่ http://oc.lc/OAAPRC18 (หมดเขต 15 มกราคม 2562) โดยวิทยากรได้ให้คำถามประมาณ 5 คำถาม เป็น Discussion guide เพื่อให้ผู้เข้าฟังทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

Discussion guide

เริ่มจากคำถามแรกคือ How do you define/categories open content activities and services? ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คำถามที่วิทยากรนำเสนอในห้อง และให้ผู้เข้าร่วมฟังนำเสนอว่าในห้องสมุดของตนเองนั้น มีการทำ OA หรือมีการให้บริการ OA ประเภทใดบ้าง ห้องสมุดแต่ละแห่งต่างก็นำเสนอ OA ที่มีในรูปแบบที่เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง สรุปออกมาได้ตามรูปที่วิทยากรพยายามจัดกลุ่มหรือหมวดหมู่มาให้ การทำ OA ของห้องสมุดที่มาร่วมฟัง มีทั้งที่เป็นการทำด้วยห้องสมุดเอง เช่น การทำ Digitization เอง หรือการไปดึง OA จากที่อื่นมาให้บริการ บางแห่งก็มีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไปบ้าง

สรุปหมวดของ OA

ประเด็นคำถามอื่นๆ น่าจะเป็นแนวทางในการนำความคิดได้ว่า การมี/การทำ Open content ต้องมีนโยบายอย่างไร มีแนวปฏิบัติอย่างไร แนวโน้มจะเป็นอย่างไร การลงทุนกับการทำ Open content และ OCOC จะมาช่วยในเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิดกันต่อและให้เป็นระบบ

APRC18 Change the Game
ธ.ค. 9th, 2018 by supaporn

OCLC ที่เรามักจะคุ้นกับการเรียก OCLC มากกว่า จนลืมไปแล้วว่า คำเต็มๆ ของ OCLC คือ Online Computer Library Center หน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร มีชื่อเสียงในการวิจัยและพัฒนาทางด้านห้องสมุดมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งรับประกันได้ถึงความน่าเชื่อถือในด้านรายการบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด รวมทั้งการขยายงานวิจัยออกไปในหลายๆ ด้าน

ผู้เขียนคุ้นเคยกับผลงานของ OCLC มาตั้งแต่สมัยการทำสหบรรณานุกรม หรือ Union Catalog พัฒนามาเป็น WorldCat และพัฒนาการจนเป็นการยืมระหว่างห้องสมุดที่สามารถยืมกันได้ทั่วโลก ผ่านระบบ WorldShareILL นับว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการบรรณารักษศาสตร์และห้องสมุดเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน OCLC ก็มีการวิจัยในหลายๆ ส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงข้อมูล (Linked data) และการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

ในแต่ละปี OCLC จะมีการจัดประชุมวิชาการในแต่ละภูมิภาคเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานวิจัย ความร่วมมือจากหลายๆ ส่วนที่ก่อให้เกิดการวิจัยร่วมกัน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์กิจการและผลิตภัณฑ์ของ OCLC เองด้วย นอกเหนือจากหัวข้อเหล่านี้แล้ว OCLC จะมีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับหัวข้อของงานที่จัดในแต่ละปี ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้รับประโยชน์จากข้อความรู้ต่างๆ เหล่านี้ แม้ว่าบางครั้งอาจจะยังตามไม่ทัน แต่การได้ไปฟังเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยรู้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีๆ เพราะคำขวัญที่ OCLC ใช้เสมอก็คือ “Because what is known must be shared” ไม่ว่าจะเป็นการ share ทรัพยากรสารสนเทศตาม concept ของ OCLC เองก็ตาม แต่ขอรวมการเอาองค์ความรู้ที่ทำวิจัยมาเผยแพร่หรือการเชิญวิทยากรจากหลายๆ แห่งมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ก็นับเป็นสิ่งที่ดี

สำหรับปี 2561 นี้ ในส่วนภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก OCLC ได้จัดการประชุมที่ประเทศไทย ณ โรงแรมเชอราตัน ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2561 ภายใต้ชื่อว่า APRC18 Change the Game มีหัวข้อในปีนี้ที่น่าสนใจหลายหลายข้อ เช่น (คงสามารถเขียนได้เฉพาะในส่วนที่ได้เข้าร่วมฟัง เพราะบางหัวข้อมีการแยกห้องตามความสนใจ)

OCLC Asia Pacific Regional Council Conference ในหัวข้อ Change the Game (APRC18 Change the Game)

How can we change the game? โดย Skip Richard สรุปเป็นภาษาไทย

Collaboration, visibility and data-driven decision making โดย Ellen Hartman

How can you and your library transform user engagement? โดย Adrianna Astle และ Kalliope Stavridaki

Evolving Scholarly Record โดย Aaron Tay และ Titia van der Werf

Transforming trend insights into innovations โดย Nathania Christy (สรุปเป็นภาษาไทย)

WMS: Game Changer for your Library โดย Supaporn Chaithammapakorn, Michael Mojica และ Chris Paroz

Reimaging your library space โดย Feiyun Huang, Dr. Amorn Petsom

Are your libraries connected to the global knowledge network? โดย Axel Kaschte

OA& Open Content in the user workflow โดย Kuang-hua Chen และ Titia van der Werf เอกสารฉบับเต็มของวิทยากร

A venue for the research library community โดย Roxanne Missingham, Titia van der Werf, Esther Woo และ Fung Ping Shan

WMS : Game Changer for Your Library
ธ.ค. 2nd, 2018 by supaporn

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ได้รับเชิญเป็นผู้พูดในงาน OCLC Asia Pacific Regional Council Conference ในหัวข้อ Change the Game (APRC18 Change the Game) ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2561 โดยในปีนี้ จัดที่ประเทศไทย ณ โรงแรมเชอราตัน กรุงเทพฯ

OCLC Asia Pacific Regional Council Conference ในหัวข้อ Change the Game (APRC18 Change the Game)

หัวข้อที่ผู้จัดงาน คือ OCLC เชิญให้เป็นผู้พูด คือ WMS : Game Changer for Your Library โดยจัดในลักษณะที่เป็น Panel ร่วมกับผู้พูดอีก 2 ท่าน ซึ่งมาจากห้องสมุดที่ใช้ระบบ WorldShare Management Services หรือ WMS คือ Christopher Paroz ซึ่งเป็น Curator of Digital Resources, SAE Institute (https://www.oclc.org/en/events/councils/2018-19/asia-pacific-regional-council-meetings-home/agenda.html) และ Michael Anthony A. Mojica ซึ่งเป็น Director of Learning Resource Center of De La Salle-College of Saint Benilde (https://www.oclc.org/en/events/councils/2018-19/asia-pacific-regional-council-meetings-home/agenda.html)

ระหว่างการขึ้น Panel

Read the rest of this entry »

ลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลกับวงการศึกษา
ต.ค. 4th, 2018 by supaporn

จากการบรรยาย เรื่อง ลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลกับวงการศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พินัย ณ นคร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลกับวงการศึกษา โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พินัย ณ นคร

รองศาสตราจารย์ ดร. พินัย ณ นคร ได้บรรยายให้ความรู้ตามหัวข้ออย่างชัดเจน ด้วยความเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ทำให้มีความกระจ่างและชัดเจนในประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น สไลด์ที่อาจารย์เตรียมมาประกอบในการบรรยายนั้น มี 111 สไลด์ ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์แต่ต้องอ่านและค่อยๆ ทำความเข้าใจ ประกอบกับการฟังบรรยายจากอาจารย์ ทำให้การบรรยาย ประมาณ 3 ชั่วโมง จบไปอย่างรวดเร็ว และยังมีผู้ฟังอยู่ฟังค่อนข้างหนาแน่น  Read the rest of this entry »

การทำหน้าที่ในฐานะว่าที่ผู้ตรวจห้องสมุดสีเขียว
ก.ย. 29th, 2018 by supaporn

หลังจากที่อบรมการเป็นผู้ตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวของเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวเมื่อวันที่ 29-30 มกราคม 2561  พร้อมกับการทดสอบความรู้ในเรื่องการประหยัดพลังงานและเกณฑ์การตรวจในหมวดต่างๆ ไปแล้วนั้น  กิจกรรมของการเป็นผู้ตรวจ ต่อจากนั้น จึงเริ่มจากการฝึกว่าที่ผู้ตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวกับห้องสมุดที่เสนอชื่อรับการตรวจห้องสมุดสีเขียวในรอบปีที่ 3  โดยว่าที่ผู้ตรวจจะต้องฝึกการตรวจประเมินห้องสมุดจำนวน 2 แห่ง มี ในการลงสนามว่าที่ผู้ตรวจของผู้เขียนครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตนวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกลยุทธ์เพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในการตรวจ ประกอบด้วยทีมผู้ตรวจ ได้แก่ ดร. อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาวรุ่งทิพย์ ห่อวโนทยาน ประธานมาตรฐานวิชาชีพ คนที่ 2 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เและนางสาว ธนาภรณ์ ฉิมแพ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการตรวจ

ในการตรวจจะแบ่งหน้าที่ตามเกณฑ์ที่ผู้ตรวจมีความเชี่ยวชาญ ตามเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว ข้อกำหนด แนวทางเชิงปฏิบัติ และวิธีการตรวจประเมิน พ.ศ. 2559 โดยหลักๆ เช่น ทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม นโยบาย เครือข่ายและห้องสมุด และตัวบ่งชี้ต่างๆ เช่น  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตนวรรณ มั่งคั่ง จะตรวจหมวด 2 (โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) หมวด 3 (การจัดการทรัพยากรและพลังงาน), และหมวด 4  (การจัดการของเสียและมลพิษ) ดร. อารีย์  ธัญกิจจานุกิจ จะรับตรวจในหมวดที่ 1  ทั่วไป และ หมวดที่ 5 การบริหารจัดการและการให้บริการห้องสมุด เพื่อส่งเสริมการอนุรักษพลังงานและสิ่งแวดล้อม คุณรุ้งทิพย์ ห่อวโนทยาน รับตรวจในหมวดหมวดที่ 7  เครือข่ายและความร่วมมือระหว่างห้องสมุด และคุณธนาภรณ์ ฉิมแพ รับตรวจในที่ 6 บทบาทของบคลากรห้องสมุดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหมวดที่ 8  การประเมินคุณภาพห้องสมุดสีเขียว แต่ทั้งนี้ อาจจะมีการสลับหมวดหรือเพิ่มเติมหมวดในการตรวจกันบ้างในกรณีที่ผู้ตรวจบางท่านติดภารกิจ

ว่าที่ผู้ตรวจควรจะพิจารณาลงตรวจในหมวดที่มีความถนัด หรือสนใจ และควรจะเวียนตรวจในหมวดอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้ทดสอบความรู้ที่มีอยู่ ฝึกการตั้งคำถามฝึกการสังเกต ฝึกการพิจารณาหลักฐาน ฝึกการสรุปประเด็น การสรุปข้อสังเกต ฝึกการพิจารณาและอภิปรายประเด็นที่อาจจะมองเห็นต่างมุม ตลอดจนพิจารณาตัดสินว่า ควรจะให้คะแนนหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ประเด็นที่เห็น ที่คิด ควรจะได้มีการนำเสนอ เพื่อให้กลุ่มว่าที่ผู้ตรวจและผู้ตรวจทราบว่า คิดเห็นอย่างไร จะได้มีการปรับความคิด หรือการพูด การให้เหตุผลที่ดี ก่อนจะนำเสนอและสรุปเป็นคะแนนต่อไป Read the rest of this entry »

งานปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าอาคารบรรณสาร
มิ.ย. 24th, 2018 by supaporn

ตามที่ อาคารบรรณสาร โดยศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียว และห้องสมุดสีเขียว และได้ผ่านการตรวจประเมินในระดับทอง และผ่านเกณฑ์ ของทั้งสองมาตรฐานไปแล้วนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของความตระหนักถึงการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภารกิจหนึ่งที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้พยายามสานต่อ ก็คือ การสร้างพื้นที่สีเขียว โดยรอบอาคารบรรณสาร ในปีการศึกษา 2559 ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้จัดสร้างห้องสมุดในสวน ส่วนที่ติดกับศูนย์วัฒนธรรม และได้มีพิธีเปิดห้องสมุดในสวนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 (https://lib-km.hcu.ac.th/index.php/16-news/156-160811-open-garden-library)

ในปีการศึกษา 2560 ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้รับความอนุเคราะห์จากกองอาคารและสถานที่ในการร่วมกันจัดทำพื้นที่สีเขียว เพิ่มเติมในฝั่งรูปปั้น ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ เนื่องจากเป็นส่วนที่จะมีแดดจ้าในตอนเช้า ทำให้ผู้ใช้บริการไม่นิยมมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว กองอาคารและสถานที่ ได้ออกแบบสำหรับการจัดทำพื้นที่สีเขียว ไว้ดังนี้ (โดยกิจกรรมบางส่วน ศูนย์บรรณสารสนเทศ จัดทำเอง และกองอาคารฯ ได้มาต้นไม้มาเพิ่มเติมตามที่ออกแบบไว้)

พื้นที่ก่อนจัดทำเป็นพื้นที่สีเขียว

พื้นที่ก่อนจัดทำเป็นพื้นที่สีเขียว

 

การออกแบบในการปลูกต้นไม้โดยใช้ต้นปาล์ม

การออกแบบในการปลูกต้นไม้โดยใช้ต้นปาล์ม

Read the rest of this entry »

Knowledge Management 4.0 (KM 4.0) และ Soft Skill for Knowledge Management in Digital Change
มิ.ย. 23rd, 2018 by supaporn

จากการเข้าร่วมฟังการบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง Knowledge Management 4.0 (KM 4.0) และฟังการเสวนา เรื่อง Soft Skill for Knowledge Management in Digital Change เมื่อวันที่ 21 เดือน มิถุนายน พ.ศ 2561 จัดโดย ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมี วิทยากรผู้บรรยายและเสวนา ดังนี้

การบรรยาย เรื่อง  Knowledge Management 4.0 (KM 4.0)  โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

การเสวนา เรื่อง Soft Skill for Knowledge Management in Digital Change  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุษกร วัชรศรีโรจน์ และ ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้บรรยายในหัวข้อ KM 4.0 : Beyond  Knowledge โดยทบทวนความเป็นมาของการจัดการความรู้ในประเทศไทย ตั้งแต่แรกจนมาถึงเป็น 4.0 คือ

KM 1.0
คลังความรู้ เป็นการรวบรวมความรู้ในองค์กรใส่คลังความรู้ ซึ่งในยุคนี้ไม่ได้อะไรกับความรู้ในระบบ คนในองค์กร ไม่เอาความรู้ไปใส่ หรือมีการนำไปใส่ แต่ไม่มีคนดูหรือไม่มีคนนำความรู้ไปใช้

KM 2.0 Human KM เน้นการฝึกทักษะของคน มีการเปิดใจ ยินดี และกล้าแลกเปลี่ยน มี Soft Skills ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการใช้ BAR (Before Action Review) เพื่อ review ความรู้และบทบาทของแต่ละคน เกิดปัญหาจะส่งไปหาใคร มีการใช้ DAR (During Action Review) และ AAR (After Action Review) ซึ่งควรดำเนินการทันที่เมื่อการทำงานเสร็จสิ้น เพื่อให้ทราบประเด็นปัญหาและเป็นการให้ความรู้ในกลุ่มคนทำงาน มีถอดความรู้ รวมทั้ง มีลักษณะเป็น Peer Assist เป็นการหาผู้ช่วย (ทีมผู้ช่วย) มาให้ความรู้ หรือ เพื่อนช่วยเพื่อน ในยุคนี้ ฝึกให้คนมีทักษะ ดี แต่ไม่เป็นระบบ เน้น individual เกินไป ต้องการให้มีระบบมากขึ้น

KM 3.0 มีเป้าหมาย มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้อย่างมีระบบ มีการจัดการ “หัวปลา” (เป้าหมาย) และสารสนเทศ รวมทั้งมีการจัดการความรู้จากภายนอก

KM 4.0 มีการวางเป้าหมาย อย่างชัดเจน มีการทำเป็นระบบ อย่างขั้นตอน มีการวัดและการสื่อสาร กล่าวคือ Read the rest of this entry »

ระบบห้องสมุด WorldShare Management Services หรือ WMS จุดเด่น/ความแตกต่าง (ตอนที่ 2)
พ.ค. 20th, 2018 by supaporn

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดในฐานะที่เคยทำงานด้านวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศหรือ Cataloging ก็คือ โมดูลในการลงรายการบรรณานุกรมนั้น ในระบบ WorldShare Management Services – WMS นั้น ให้ความสำคัญกับการทำเมทาดาทา การบริหารจัดการเมทาดาทา ขั้นตอนการทำงานในโมดูลเทาดาทาจึงมีแตกต่างจากโมดูล Cataloging ของระบบห้องสมุดโดยทั่วไป กล่าวคือ ในโมดูลเมทาดาทา (Metadata Module) ซึ่งเป็นโมดูลของการนำเข้าทรัพยากรสารสนเทศ หรือเดิมมักจะรู้จักกันในชื่อว่า Cataloging Module จะมีการบริหารจัดการข้อมูลทางบรรณานุกรม หรือเมทาดาทาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม และเนื่องจากเป็นการรวมรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่เป็นสมาชิก OCLC มากกว่า 7,200 แห่งทั่วโลก จึงทำให้สถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างการสร้างระเบียนข้อมูลทางบรรณานุกรมแตกต่างจากเดิมเพื่อให้สนับสนุนการทำงานที่เป็นระบบ World Cataloging ซึ่งก็คือ พัฒนาการของการเป็นระบบสหบรรณานุกรม หรือ Union Catalogue นั่นเอง

สถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างระเบียนทางบรรณานุกรมของระบบ WMS เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงกับ WorldCat นั้น จึงแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย คือ

1. Master Record
2. Local Bibliographic Data (LBD)
3. Local Holding Record (LHR)

โครงสร้างระเบียนบรรณานุกรม

 

Master Record หมายถึง ระเบียนทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศ ที่ห้องสมุดนำเข้าระบบเป็นแห่งแรก จะถือว่าระเบียนนั้น เป็นระเบียนหลัก ประกอบด้วยข้อมูลทางบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศที่นำเข้าตามหลักเกณฑ์การลงรายการทางบรรณานุกรมแบบ AACR2 และ MARC21 หรืออาจจะเป็น RDA ห้องสมุดอื่นที่จะนำเข้าในระบบ WorldCat และตรวจสอบความซ้ำซ้อนและพบว่ามีระเบียนทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศที่จะนำเข้าอยู่แล้ว (Master record) สามารถใช้ Master record เพื่อเป็นระเบียนทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดตนเองได้ โดยไม่ต้องลงข้อมูลทางบรรณานุกรมใหม่ แต่สามารถเพิ่มข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นข้อมูลเฉพาะของห้องสมุดได้ในส่วนประกอบที่เรียกว่า Local Bibliographic Data (LBD) และใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ item information ในส่วนประกอบที่เรียกว่า Local Holding Record (LHR)

Local Bibliographic Record (LBD) หมายถึง ข้อมูลทางบรรณานุกรมที่ห้องสมุดแห่งอื่นๆ ที่ใช้ Master record ร่วมกัน มีข้อมูลที่เป็นส่วนของห้องสมุดต้องการใส่ เช่น หัวเรื่อง (ที่กำหนดใช้ขึ้นเอง) หมายเหตุ (Note) ที่ห้องสมุดกำหนดขึ้นเอง ชื่อชุด ที่กำหนดเอง

Local Holding Record (LHR) หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับ item ของระเบียนนั้นๆ ได้แก่ เลขหมู่ หมายเหตุ (ที่เกี่ยวกับหนังสือ) บาร์โคด ราคา การกำหนดการยืม การกำหนดการให้ทำสำเนา เป็นต้น

ย้อนรอยห้องสมุด ธนาคารศรีนคร
พ.ค. 20th, 2018 by supaporn

เคยแต่ได้ยินชื่อห้องสมุดธนาคารศรีนคร ตั้งแต่เมื่อสมัยเรียนบรรณารักษศาสตร์ เพราะห้องสมุดธนาคารศรีนคร จะถูกจัดอยู่ในห้องสมุดประชาชนของหน่วยงานเอกชน จึงเป็นการรับรู้ชื่อห้องสมุดธนาคารศรีนคร ตั้งแต่นั้นมา กาลเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของธนาคารศรีนคร ทำให้กิจการของห้องสมุดกลายเป็นอดีต

ห้องสมุดประชาชน ธนาคารศรีนคร

ห้องสมุดประชาชน ธนาคารศรีนคร

ด้วยความซาบซึ้งในความคิด และวิสัยทัศน์ของ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษาในการที่จะช่วยให้มีการพัฒนาบุคคล ทั้งทางสมอง สติปัญญา อันจะเป็นกำลังของชาติในอนาคต และส่วนสำคัญที่จะสร้างสติปัญญา และพัฒนาบุคคลได้นั้น หนังสือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงพยายามรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นการย้อนรอยและระลึกถึงท่าน

8 มกราคม พ.ศ. 2515 ในปี 2515 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นปีหนังสือระหว่างประเทศ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ (ประธานกรรมการธนาคารศรีนคร) เห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะเป็นการเริ่มต้นให้เยาวชนได้มีแหล่งความรู้ และถือว่าเอาวันเด็กแห่งชาติ คือ วันเสาร์ที่ 8 มกราคม เปิดห้องสมุดขึ้นบริการแก่เด็ก และเยาวชน ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นห้องสมุดเยาวชน ธนาคารศรีนคร อยู่ที่ ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาสามแยก เลขที่ 573 ถ. เยาวราช สัมพันธวงศ์ กทม. มีหนังสือเด็กและเยาวชน พร้อมกิจกรรมพิเศษ เช่น ชั่วโมงเสริมทักษะและเล่านิทาน ชั่วโมงเล่นเกม

4 เมษายน พ.ศ. 2515 ด้วยมีผู้สนใจในการใช้ห้องสมุดเป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดเป็นห้องสมุดประชาชน นับเป็นห้องสมุดแห่งที่ 2 ของธนาคารศรีนคร ให้บริการที่ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขา ถ. เพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่ 1740 ถ. เพชรบุรีตัดใหม่ ใกล้กับเชิงสะพานลอยอโศก มีนายบุญถิ่น อัตถากร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด และที่นี่ได้เปิดห้องสมุดกอล์ฟขึ้นอีกมุมหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬากอล์ฟ มีการจัดให้มีนักกอล์ฟมือโปรให้คำแนะนำอีกด้วย เปิดบริการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด นับว่าเป็นห้องสมุดกอล์ฟแห่งแรกของไทย

15 ธันวาคม พ.ศ. 2518 เปิดห้องสมุดธนาคารศรีนคร เป็นแห่งที่ 3 โดยขยายไปยังภูมิภาค พร้อมกับการเปิดธนาคารศรีนคร สาขาเชียงใหม่ เลขที่ 119 ถ. ช้างคลาน อ. เมือง จ. เชียงใหม่ โดยมีนายชลอ ธรรมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด

21 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เปิดห้องสมุดประชาชน เป็นแห่งที่ 4 ที่ชั้น 8 ของอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารศรีนคร เลขที่ 2 ถ. เฉลิมเขต 4 สวนมะลิ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. โดยได้ทำพิธีเปิดพร้อมกับอาคารสำนักงานใหญ่ 16 ชั้น ของธนาคารศรีนคร อันเป็นวันครบรอบปีที่ 26 ของธนาคารศรีนคร
เน้นทางด้านการเงินและการธนาคาร และที่ห้องสมุดสำนักงานใหญ่นี้ มีการจัดเป็นห้องสมุดภาษาจีน โดยจัดเป็นห้องแยกต่างหากไม่ปะปนกัน มีบรรณารักษ์ทางด้านภาษาจีนให้บริการห้องสมุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นห้องสมุดภาษาจีนแห่งแรกในประเทศไทย

27 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เปิดห้องสมุดประชาชน ที่ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร สาขาพิจิตร เลขที่ 22/22 ถ.ศรีมาลา อ. เมือง จ. พิจิตร นับเป็นห้องสมุดแห่งที่ 5 โดยมี ดร. ชูวงศ์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เปิดห้องสมุดประชาชนแห่งที่ 6 ที่ธนาคารศรีนคร สาขาวงเวียนใหญ่ เลขที่ 1491/1 ถ. ประชาธิปก หัวมุมวงเวียนใหญ่ เขตคลองสาน กทม. โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ทราบว่า หนังสือห้องสมุดภาษาจีน มีการกระจายไปหลายแห่ง ที่เห็นตัวเล่ม คือ ห้องสมุดภาษาจีน ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และห้องสมุดภาษาจีน สถาบันภาษา (เดิม คือ สถาบันพัฒนาครูสอนภาษาจีน) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

รายการอ้างอิง

สมชาย สินวัฒนรักษ์. (2531). ธนาคารศรีนครกับการพัฒนาห้องสมุด. วารสารการศึกษานอกโรงเรียน 25,142 (ก.พ.-มี.ค.),31-36.

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa