SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
การทำหน้าที่ในฐานะว่าที่ผู้ตรวจห้องสมุดสีเขียว
กันยายน 29th, 2018 by supaporn

หลังจากที่อบรมการเป็นผู้ตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวของเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวเมื่อวันที่ 29-30 มกราคม 2561  พร้อมกับการทดสอบความรู้ในเรื่องการประหยัดพลังงานและเกณฑ์การตรวจในหมวดต่างๆ ไปแล้วนั้น  กิจกรรมของการเป็นผู้ตรวจ ต่อจากนั้น จึงเริ่มจากการฝึกว่าที่ผู้ตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวกับห้องสมุดที่เสนอชื่อรับการตรวจห้องสมุดสีเขียวในรอบปีที่ 3  โดยว่าที่ผู้ตรวจจะต้องฝึกการตรวจประเมินห้องสมุดจำนวน 2 แห่ง มี ในการลงสนามว่าที่ผู้ตรวจของผู้เขียนครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตนวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกลยุทธ์เพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในการตรวจ ประกอบด้วยทีมผู้ตรวจ ได้แก่ ดร. อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาวรุ่งทิพย์ ห่อวโนทยาน ประธานมาตรฐานวิชาชีพ คนที่ 2 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เและนางสาว ธนาภรณ์ ฉิมแพ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการตรวจ

ในการตรวจจะแบ่งหน้าที่ตามเกณฑ์ที่ผู้ตรวจมีความเชี่ยวชาญ ตามเกณฑ์การพัฒนาห้องสมุดสีเขียว ข้อกำหนด แนวทางเชิงปฏิบัติ และวิธีการตรวจประเมิน พ.ศ. 2559 โดยหลักๆ เช่น ทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม นโยบาย เครือข่ายและห้องสมุด และตัวบ่งชี้ต่างๆ เช่น  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตนวรรณ มั่งคั่ง จะตรวจหมวด 2 (โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) หมวด 3 (การจัดการทรัพยากรและพลังงาน), และหมวด 4  (การจัดการของเสียและมลพิษ) ดร. อารีย์  ธัญกิจจานุกิจ จะรับตรวจในหมวดที่ 1  ทั่วไป และ หมวดที่ 5 การบริหารจัดการและการให้บริการห้องสมุด เพื่อส่งเสริมการอนุรักษพลังงานและสิ่งแวดล้อม คุณรุ้งทิพย์ ห่อวโนทยาน รับตรวจในหมวดหมวดที่ 7  เครือข่ายและความร่วมมือระหว่างห้องสมุด และคุณธนาภรณ์ ฉิมแพ รับตรวจในที่ 6 บทบาทของบคลากรห้องสมุดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหมวดที่ 8  การประเมินคุณภาพห้องสมุดสีเขียว แต่ทั้งนี้ อาจจะมีการสลับหมวดหรือเพิ่มเติมหมวดในการตรวจกันบ้างในกรณีที่ผู้ตรวจบางท่านติดภารกิจ

ว่าที่ผู้ตรวจควรจะพิจารณาลงตรวจในหมวดที่มีความถนัด หรือสนใจ และควรจะเวียนตรวจในหมวดอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้ทดสอบความรู้ที่มีอยู่ ฝึกการตั้งคำถามฝึกการสังเกต ฝึกการพิจารณาหลักฐาน ฝึกการสรุปประเด็น การสรุปข้อสังเกต ฝึกการพิจารณาและอภิปรายประเด็นที่อาจจะมองเห็นต่างมุม ตลอดจนพิจารณาตัดสินว่า ควรจะให้คะแนนหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ประเด็นที่เห็น ที่คิด ควรจะได้มีการนำเสนอ เพื่อให้กลุ่มว่าที่ผู้ตรวจและผู้ตรวจทราบว่า คิดเห็นอย่างไร จะได้มีการปรับความคิด หรือการพูด การให้เหตุผลที่ดี ก่อนจะนำเสนอและสรุปเป็นคะแนนต่อไป

ในการฝึกสนามจริงนี้ ว่าที่ผู้ตรวจต้องทำความเข้าใจหรือทบทวนเกณฑ์แต่ละหมวดให้มีความแม่นยำ แม้ว่า ว่าที่ผู้ฝึกจะเป็นบุคลากรที่มาจากหน่วยงานที่ผ่านการตรวจประเมินห้องสมุดสีเขียวมาแล้วก็ตาม  สามารถเอาองค์ความรู้ที่พบในฐานะผู้ถูกตรวจมาช่วยได้ เพราะคำแนะนำหรือประเด็นที่มีการเสนอให้ปรับปรุงเหล่านั้น จะใช้เป็นแนวทางในการตรวจได้ดี และในฐานะว่าที่ผู้ตรวจ จะต้องมีการพัฒนาแนวทางในการตรวจผ่านมุมมองของการเป็นผู้ตรวจ

ผู้ประสานงานเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว จะให้ฟอร์มของเกณฑ์ทั้ง 8 หมวด แก่ว่าที่ผู้ตรวจ และเข้าร่วมการตรวจเสมือนเป็นผู้ตรวจจริง เริ่มตั้งแต่การประชุมผู้ตรวจ การฟังการนำเสนอของห้องสมุดที่รับการตรวจ เพียงแต่ในขณะที่ฟังการนำเสนอนั้น ว่าที่ผู้ตรวจอาจจะไม่เห็นหลักฐานที่เป็นไฟล์เอกสารประกอบในแต่ละเกณฑ์ เหมือนผู้ตรวจจริง แต่ต้องตั้งใจฟัง และบันทึกประเด็นที่สงสัยในระหว่างการนำเสนอ เพื่อหาหลักฐานมาประกอบต่อไป

เมื่อจบการนำเสนอของหน่วยงานที่ขอรับการตรวจ ผู้ตรวจจะขอให้แบ่งกลุ่มตามหมวดที่จะตรวจ โดยว่าที่ผู้ตรวจจะเข้าไปร่วมกลุ่มการตรวจในช่วงเวลานั้น และเชิญบุคลากรของหน่วยงานที่ขอรับการตรวจ และรับผิดชอบในแต่ละหมวดเพื่อขอสัมภาษณ์ ซึ่งว่าที่ผู้ตรวจ ควรฟังคำถามจากผู้ตรวจก่อนว่า ผู้ตรวจ สัมภาษณ์ บุคลากรของหน่วยงานที่รับการตรวจในประเด็นใดบ้าง (ผู้เขียนได้บันทึกคำถามไว้ทุกคำถาม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาลักษณะของคำถามว่าควรจะถามอย่างไร) ว่าที่ผู้ตรวจสามารถช่วยหาเอกสารประกอบหลักฐาน ถ้ามีเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ค มากพอในการให้เข้าใช้  (ทราบในภายหลังว่า ผู้ตรวจไม่ได้เห็นไฟล์เอกสารมาก่อน จึงต้องใช้ความเร็วในการเปิดดูไฟล์เอกสาร พร้อมๆกับการฟังการนำเสนอ และบันทึกประเด็นที่ต้องการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเป็นอันมาก) ผู้ตรวจสามารถเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติม ถ้าไม่มีในไฟล์เอกสารที่ให้มา กรณีที่ผู้รับการตรวจแจ้งว่ามี การสัมภาษณ์จึงต้องพยายามใช้หลักการหลายๆ อย่างเพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สามารถสื่อสารหรือให้คำตอบได้ หรือผู้ตรวจพยายามหาหลักฐานมาเชื่อมโยง ซึ่งเกณฑ์ในบางข้อจะมีความสัมพันธ์กัน ต้องอาศัยการขอคำตอบจากเกณฑ์ในหมวดอื่นๆ และนำมาวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งบางครั้งอาจจะเกิดจากการมอบหมายให้บุคลากรในหน่วยงานดูแลแยกหมวดกัน และไม่ได้มีการบูรณาการหรือมิได้มีการตรวจหลักฐานให้พร้อมก่อนตรวจอีกครั้ง

เมื่อสัมภาษณ์และหาเอกสารหลักฐานเสร็จแล้ว จะมีการเยี่ยมชมพื้นที่ เพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์อีกครั้ง เนื่องจากหลักฐานที่แจ้งไว้เป็นเพียงเอกสารตัวเลข รูปภาพ การลงพื้นที่จะเห็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเป็นจริงตามที่เสนอหรือไม่ อย่างไร ในการลงพื้นที่ของห้องสมุดแต่ละแห่ง จะเห็นว่ามีจุดเด่นกัน เช่น บางแห่งมีจุดเด่นในการนำของเก่าใช้แล้ว มาประดิษฐ์เป็นของใช้ใหม่ บางแห่งมีจุดเด่นในการทำป้ายเพื่อสะดวกในการปิด-เปิดไฟ หรือจุดเด่นในการคิดวิธีประหยัดน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

จากนั้นจะมีการสรุป โดยผู้ตรวจจะหารือกับทีมว่าที่ผู้ตรวจ ในแต่ละข้อ และขอความคิดเห็นในแต่ละข้อค้นพบอะไรบ้าง แนะนำวิธีการพูดหรือการเขียนในตอนสรุป และพิจารณาหลักฐานประเภทใด ที่สมควรได้รับการพิจารณาว่าสามารถให้ผ่านได้ ในช่วงนี้ ว่าที่ผู้ตรวจจะได้ฝึกการพูดเกณฑ์ที่ให้คะแนน และไม่ให้คะแนนเพราะขาดหลักฐานใด ผู้ตรวจจะมีการขัดเกลาภาษา หรือสอบถามเพื่อความเข้าใจให้ตรงกัน ก่อนพิจารณาคะแนนในภาพรวมอีกครั้ง จากนั้น จะเป็นการพิจารณาการให้คะแนนร่วมกันในแต่ละเกณฑ์ และร่วมกับเกณฑ์ข้ออื่นๆ ที่ผู้ตรวจได้รับมอบหมาย ในช่วงเวลาการพิจารณาผลการตรวจ ผู้รับการตรวจจะไม่สามารถอยู่ในห้องพิจารณาการตรวจได้ เมื่อมีการสรุปคะแนนเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการเชิญหน่วยงานรับการตรวจเข้าฟังผลการตรวจ และสรุปผลคะแนน พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ

จากการเข้าร่วมการฝึกเป็นว่าที่ผู้ตรวจ นั้น เห็นว่า

  1. การตรวจมีลักษณะเหมือนการตรวจประเมินในระบบต่างๆ เช่น การตรวจประกันคุณภาพ การตรวจ ISO
  2. ผู้ตรวจต้องมีความแม่นยำในเกณฑ์แต่ละหมวด
  3. ผู้ตรวจต้องทราบหลักฐานที่สอดคล้องกับเอกสารตามเกณฑ์ในแต่ละข้อ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าหลักฐานใดไม่สอดคล้องกับเกณฑ์
  4. ผู้ตรวจต้องมีทักษะในการแยกโสตประสาท มีทักษะในการฟัง จับประเด็น เนื่องจากต้องเปิดไฟล์เอกสารไปพร้อมกับเกณฑ์ และต้องฟังการนำเสนอในเวลาเดียวกัน พร้อมบันทึกสิ่งที่ข้อสังเกต เพื่อจะได้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อไป (เพราะหน่วยงานที่รับการตรวจไม่ได้ส่งเอกสารมาให้ผู้ตรวจก่อน)
  5. ผู้ตรวจต้องมีทักษะในการตั้งคำถามกับผู้บริหาร หรือบุคลากรที่ได้รับมอบหมายในการตอบแต่ละเกณฑ์
  6. ผู้ตรวจต้องสามารถหาความเชื่อมโยงของคำตอบในแต่ละเกณฑ์ได้ แม้ว่าผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะตอบตกหล่นไปบ้าง
  7. ผู้ตรวจต้องเป็นผู้รู้จักสังเกต โดยไม่ต้องสอบถาม เมื่อลงพื้นที่เพื่อตรวจหลักฐานเชิงประจักษ์
  8. ผู้ตรวจต้องมีทักษะในการสื่อสารเพื่อสรุปผลการตรวจ ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และให้กำลังใจผู้ถูกตรวจ
  9. การตรวจต้องอาศัยประสบการณ์ในการตรวจเป็นอย่างสูง
  10. ควรจะได้มีการฝึกตรวจมากกว่า 2 แห่ง เพราะต้องมีประสบการณ์ในการตรวจเป็นอย่างมาก จึงจะสามารถจับประเด็น หาหลักฐาน ด้วยความแม่นยำ
  11. หน่วยงานที่รับการตรวจแต่ละแห่งมีจุดเด่น
  12. การประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ต้องสร้างจิตสำนึก จนปฏิบัติเป็นธรรมชาติของการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องใช้เวลาสั่งสมพอสมควร

Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa