การพยาบาลที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง : แนวโน้มและบทบาทที่ท้าทายของพยาบาลในการดูแลสุขภาพครอบครัว
บทคัดย่อ:
ครอบครัวเป็นแหล่งรวมสุขภาพและความเจ็บป่วยของสมาชิกทุกคน เป็นศูนย์กลางของการดูแลช่วยเหลือ บรรเทาให้สมาชิกแต่ละคนสามารถคงบทบาทหน้าที่ของตนเองไว้ได้อย่างต่อเนื่องภายใต้วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติตนและสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่แวดล้อมครอบครัวนั้นไว้ ซึ่งปัญหาและความต้องการทางสุขภาพของแต่ละครอบครัว จะมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามพลวัตของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ในสภาวการณ์ปัจจุบันสุขภาพของครอบครัวนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพที่มีผลให้ครอบครัวต้องสนใจดูแลสุขภาพของสมาชิกมากขึ้น รวมทั้งพยาบาลเองต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน กระบวนการพยาบาลเป็นแนวปฏิบัติที่พยาบาลใช้ในการดูแลสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถือว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเอกภาพของวิชาชีพ การดูแลสุขภาพที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางโดยใช้กระบวนการพยาบาลเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่ต้องการ ซึ่งจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถในการแสดงบทบาทของพยาบาลที่จะทำให้เห็นว่าการปฏิบัตินั้นสอดคล้องและถูกต้องต่อการพัฒนาสุขภาพที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้บรรลุได้นั้น พยาบาลจะต้องดูแลสุขภาพร่วมกันกับครอบครัวในทุกขั้นตอนตั้งแต่การประเมินภาวะสุขภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดเป้าหมายของการดูแลสุขภาพ การดำเนินวิธีการปฏิบัติพยาบาลที่เป็นไปได้ การกำหนดลำดับความสำคัญในความต้องการของครอบครัว การวางแผนดูแลสุขภาพ การปฏิบัติตามแผนที่วางไว้และการประเมินผล โดยจะต้องขยายมุมมองต่อครอบครัวให้กว้างและลึกมากขึ้นกว่าเดิมในทุกขั้นตอนของการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ตามปกติ กล่าวคือ จะต้องมองครอบครัวในฐานะที่เป็นบริบทของการดูแลสุขภาพสมาชิกร่วมกันมองครอบครัวว่าเป็นหน่วยรวมในฐานะที่เป็นผู้รับบริการ ทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพครอบครัวประสบความสำเร็จ คือ การใช้ทักษะของการทำความเข้าใจ ทักษะการใช้ความคิดเพื่อจับประเด็นและทักษะการจัดการสุขภาพภายใต้บรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพยาบาลกับครอบครัวอย่างเป็นระบบ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้กระบวนการพยาบาลเพื่อการดูแลสุขภาพครอบครัวสำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย. (2549). การพยาบาลที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง : แนวโน้มและบทบาทที่ท้าทายของพยาบาลในการดูแลสุขภาพครอบครัว . วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 90-106.
อ่านบทความฉบับเต็ม
แรงงานเด็ก : ปัญหาสุขภาพอนามัยกับสิ่งคุกคามความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน
การนำเด็กมาใช้แรงงานทั้งในงานภาคอุตสาหกรรม งานภาคบริการ และงานภาคเกษตรกรรมนั้น ก่อให้เกิดปัญหากับเด็กหลายประการ เช่น ปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาอาชีพ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขและคุ้มครองแรงงานเด็กจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งบทความนี้จะเน้นเรื่องปัญหาสุขภาพอนามัยของแรงงานเด็กและความปลอดภัยในการทำาน ที่เกิดจากสิ่งคุกคามจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยอธิบายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสุขภาพของแรงงานเด็ก ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับแรงเด็ก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก การเคลื่อนไหว ระบบกล้ามเนื้อ และด้านจิตใจ และปัญหาสุขภาพอนามัยของแรงงานเด็กที่เกิดจากสิ่งคุกคามและจากสภาพแวดล้อมในการทำาน ซึ่งมีหลายปัจจัยทั้งทางด้านเคมี กายภาพ ชีวภาพ และจิตวิทยาสังคม ส่งผลให้เด็กเกิดการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน หรือเกิดโรคจากการทำงาาน รวมทั้งได้เสนอแนวทางสำหรับควบคุมอันตรายจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำงาน
พงษ์สิทธิ์ บุญรักษา. (2549). แรงงานเด็ก : ปัญหาสุขภาพอนามัยกับสิ่งคุกคามความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 79-89.
การบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ (Management of Rabies Control Program in Samutprakarn Province)
การวิจัยเชิงพรรณนาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างเดือนกันยายน 2547-กรกฎาคม 2548 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและของสำนังานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 4 คน ผู้เลี้ยงสุนัขที่เป็นเจ้าของสุนัข 44 คน และผู้เลี้ยงสุนัขที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสุนัขจำนวน 16 คนที่ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ทำการเก็บข้อมูลด้วยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์ด้วยแบบบันทึกและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ความถี่และร้อยละ ผลการิจัยพบว่าการบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลางโดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดยาคุมกำเนิด ทำหมันสุนัขเพศผู้เพศเมีย และฉีดวัคซีน/อิมมูโนโกลบูลิน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในผู้สัมผัสโรค แต่กิจกรรมดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีระบบการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า การประชาสัมพันธ์และประสานงานการควบคุมโรคกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้ากับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด แต่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานส่วนกลาง มีการอบรมอาสาสมัครปศุสัตว์จำนวน 510 ราย (เกินเป้าหมาย) ปัญหาการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า คือ การฉีดวัคซีน การฉีดยาคุมกำเนิด และการทำหมันสุนัขเพศผู้เพศเมีย ในกลุ่มสุนัขที่ไม่มีเจ้าของต่ำกว่าเป้าหมาย กลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขที่เป็นเจ้าของมีความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและการควบคุมโรค การปฏิบัติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ยาคุมกำเนิดและทำหมันสุนัขเพศผู้เพศเมีย สูงกว่ากลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ
กิตติภณ คล้ายเจ๊ก เสาวลักษณ์ ลักษมีจรัลกุล และ วาชรัตน์ นันทเสน. (2549). การบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 52-65.
การสำรวจและประเมินสถานการณ์การสร้างเสริมสุขภาพของคณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (Survey and Situational Analysis for Health Promoting Activities in the Faculty of Public and Environmental Health, Huachiew Chalermprakiet University)
รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์การสร้างเสริมสุขภาพในด้าน 1) พฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ 2) ประสบการณ์การสร้างเสริมสุขภาพ (การเป็นผู้นำ) 3) สภาวะสุขภาพ และ 4) นโยบายการบริหารจัดการการดำเนินแผนงานการพัฒนาสถาบันการศึกษาสาธารณสุข ให้เป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ (สอส.) ของคณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 500 คน อาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวน 30 คน ทำการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นตามสาขาวิชา ชั้นปี และเพศ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามสถานการณ์สร้างเสริมสุขภาพและแบบสัมภาษณ์เชิงลึกต่อผู้บริหารจำนวน 5 ราย สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ความถี่และร้อยละ Read the rest of this entry »
มองต่างมุมกับเทคโนโลยี EM
ท่ามกลางกระแสของการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorganisms หรือ EM) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แพร่หลายทั้งในด้านการเกษตร การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะ รวมทั้งการนำมาบริโภค รวมทั้งการนำมาบริโภค เป็นต้น เทคโนโลยี EM นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย แต่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กับทุกงานจริงหรือไม่ เพราะในบางกรณีผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยี EM ยังไม่สามารถอธิบาย ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และหลักการทางวิชาการได้อย่างชัดเจน บทความนี้ จึงนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายของเทคโนโลยี EM ทั้งด้านที่มีเหตุผลมารองรับและด้านที่ยังเป็นข้อสงสัย รวมทั้งการตรวจสอบทางวิชาการเพื่อวิเคราะห์ว่าจะสามารถนำเทคโนโลยี EM ไปแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่
วรพจน์ กนกกันฑพงษ์. (2548). มองต่างมุมกับเทคโนโลยี EM. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 90-98.
พิบัติภัย : เรื่องที่ควรเรียนรู้และเตรียมตัวรับอย่างมีสติ
พิบัติภัยในบทความนี้ หมายถึง ภัยที่นำความหายนะมาให้แก่มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ พิบัติภัยจากธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราไม่อาจห้ามได้ เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขของธรรมชาติ แต่เราสามารถ เรียนรู้ ป้องกัน และหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่ยกพิบัติภัยจากคลื่นยักษ์สึมานิ เป็นกรณีศึกาษา และพิบัติภัยจากมนุษย์ กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การประทุษร้ายร่างกาย การทารุณกรรม การฆาตกรรม จนถึงสงครามที่สร้างหายนะให้แก่ชีวิตและสังคมที่มิอาจประเมินค่าได้ ซึ่งในบทความนี้ มุ่งอธิบายพิบัติภัยจากธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยใช้กรอบแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการอธิบาย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ ความหมาย ประเภท มูลเหตุ และผลกระทบของพิบัติภัย ตลอดจนกระทั่งยุทธศาสตร์ในการเตรียมรับอย่างมีสติ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การตั้งรับอย่างมีสติ และการก้าวต่อไป ไม่ยอมแพ้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้อ่านได้หลักการในการเตรียมรับกับพิบัติทั้ง 2 ประเภท อย่างมีสติซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียลงหรืออาจไม่ต้องสูญเสียอะไรเลยก็เป็นได้
ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2548). พิบัติภัย : เรื่องที่ควรเรียนรู้และเตรียมตัวรับอย่างมีสติ. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 64-78.
ISO22000 : มาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านอาหาร ที่ต้องใส่ใจ
ISO22000 ระบบมาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นระบบมาตรฐานสากลกลางที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 23 ประเทศ เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อังกฤษ เบลเยี่ยม อินโดนีเซีย อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย รวมทั้งตัวแทนองค์กรจากอุตสาหกรรมอาหาร เช่น Codex Alimentarius Commission, FAO (Food and agriculute Organization) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารมีมาตรฐานเดียวกันในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งครอบคลุมทุกองค์กรในห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ตั้งแต่ผู้ผลิตชั้นต้น (Primary Producer) จนถึงผู้บริโภคชั้นสุดท้าย (Final Consumer) ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย ในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ปัจจุบันมาตรฐานนี้ได้ผ่านการรับรองแล้ว และประกาศใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2548 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ไม่ถูกกีดกัน สามารถขายได้มากขึ้น และก้าวสู่การเป็นครัวของโลกต่อไป บทความนี้นำเสนอ สาเหตุที่ต้องจัดทำระบบมาตรฐานระบบการรับรองคุณภาพอาหาร มาตรฐานต่างๆ ที่ผู้ประกอบการอาหารควรรู้จัก ระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ISO22000 และรายละเอียดข้อกำหนด ประโยชน์ของระบบ ISO22000
พรพิมล เชวงศักดิ์โสภาคย์. (2548). ISO22000 : มาตรฐานการบริหารความปลอดภัยด้านอาหาร ที่ต้องใส่ใจ. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 54-63.
ควอนตัมคอมพิวเตอร์
จากหลักแห่งความไม่แน่นอนของเวิร์นเนอร์ ไฮเซนเบิร์ก (Werner Heisenberg) และอัลกอริทึมของปีเตอร์ ชอร์ (Peter Shor) ได้นำมาสู่การสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่มีตัวคิวบิต (qubit) หรือควอนตัมบิตเป็นหน่วยแสดผลข้อมูลได้สามสถานะ คือ “0” หรือ “1” หรือ “0,1” ได้พร้อมกันในคราวเดียว โดยที่สถานะการแสดงผลแบบ “0.1” นี้เรียกในทางฟิสิกส์ว่า “superposition state” ขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่่วไปแสดงผลข้อมูลเป็นบิต (bit) ได้เพียงสองสถานะคือ “0” หรือ “1” ส่งผลให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์มีศักยภาพในการประมวลผลสูงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปหรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ อันมีประโยชน์ในการคำนวณโจทย์คณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนและการเข้ารหัสลับ (encryption) เป็นต้น หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของควอนตัมคอมพิวเตอร์ คือ gate operation และ ion traps ซึ่งเหมือนกับการกระทำพื้นฐานทางตรรกศาสตร์ในการสร้างเกทรูปแบบต่างๆ เช่น AND gate OR gate และ XOR gate เป็นต้น พัฒนาการของควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ธนาวุฒิ ประกอบผล. (2548). ควอนตัมคอมพิวเตอร์. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 46-53.
การสร้างแบบฝึกอ่านออกเสียงคำควบกล้ำสำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
Creating Pattern Practice for Thai ก Clusters for Huachiew Chalermprakiet University Students
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ในการอ่านออกเสียงคำควบกล้ำของกลุ่มตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการพูดเพื่อการสื่อสาร ภาคการศึกษา 1/2547 จำนวน 30 คน ดำเนินการวิจัยโดยให้กลุ่มตัวอย่างเข้าโปรแกรมการอ่านออกเสียงตามแบบฝึกอ่านออกเสียงคำควบกล้ำที่สร้างขึ้นจำนวน 25 แบบฝึก โดยทำการฝึกในเวลาเรียน 1 ชั่วโมง/ครั้ง/สัปดาห์ และฝึกนอกเวลาเรียน 1 ชั่วโมง/คร้้ง/สัปดาห์ ตลอดระยะเวลา 13 สัปดาห์ แล้วทำการวัดผลด้วยแบบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่านออกเสียงควบกล้ำที่ได้ผ่านการทดสอบความเชื่อมั่นจนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าเฉลี่ยและ dependent t-test ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ผ่านการฝึกการอ่านออกเสียงควบกล้ำมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากก่อนการฝึก 72.7 เป็น 95.2 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 บ่งชี้ว่าโปรแกรมการฝึกและฝึกการอ่านออกเสียงควบกล้ำนี้มีประสิทธิภาพที่จำนำไปใช้กับนักศึกษาได้ต่อไป
ปราโมทย์ ชูเดช. (2548). การสร้างแบบฝึกอ่านออกเสียงคำควบกล้ำสำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 36-45.
การศึกษารูปแบบการสอนกระบวนการพยาบาลที่เน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณต่อความสามารถในการใช้กระบวนการพยาบาลของนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
A Study of the Methods of Nursing Process Teaching Through Critical Thinking Procedures and Assessment of Decision – Making Ability of HCU Nursing Students
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการใช้กระบวนการพยาบาลและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกระบวนการพยาบาลระหว่างนักศึกษาพยาบาลที่ได้รับการสอนแบบปกติและการสอนที่เน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่กำลังศึกษาวิชากระบวนการพยาบาลและการประเมินภาวะสุขภาพ ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2546 จำนวน 66 คน ซึ่งได้จากการแบ่งนักศึกษาในชั้นเรียนตามผลการเรียน แล้วสุ่มตัวอย่างแบบง่ายจากแต่ละกลุ่มผลการเรียน เป็นกลุ่มควบคุม 33 คน กลุ่มทดลอง 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แผนการสอนกระบวนการพยาบาลที่เป็นการสอนแบบปกติและแผนการสอนที่เน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 2) แบบประเมินความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) แบบประเมินความสามารถในการใช้กระบวนการพยาบาล 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องกระบวนการพยาบาล สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-tes) ผลการศึกษาพบว่า Read the rest of this entry »