ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล
บทคัดย่อ
ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เป็นอาการผิดปกติ ชั่วคราวของการนึกคิดความสนใจและความตั้งใจเป็นภาวะที่นำผู้ป่วยไปสู่ความตายหรือมีพยากรณ์โรคที่เลว โดยมักจะพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคต้องรับประทานยาหลายชนิด หรืออยู่ในภาวะวิกฤติ
สาเหตุของภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) สาเหตุที่กระทำต่อสมองโดยตรง หรือมีการรบกวนระบบทางสรีรวิทยา 2) การรบกวนทางภาวะจิตใจ 3) การรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก 4) การรบกวนทางเภสัชวิทยาจากการใช้ยาหลายชนิด ผู้ป่วยจะแสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ เช่นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือลดลงหรือทั้งสองแบบผสมกัน มีการเปลี่ยนแปลงด้านการนึกคิด สมาธิ อารมณ์ การรับรู้เวลา สถานที่ ความจำ
ในการประเมินผู้ป่วย พยาบาลควรใช้ทักษะการสังเกต การสัมภาษณ์ และการทดสอบความนึกคิด เชาว์ปัญญา การรับรู้ การแปลความหมาย และการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วย โดยมองผู้ป่วยอย่างเป็นระบบเปิดและประเมินผู้ป่วยตามบริบทและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย พยายามหาสาเหตุที่เฉพาะเจาะจง จากนั้นจึงวางแผนการพยาบาลที่มีความเป็นไปได้ มีเป้าหมาย มีกิจกรรม และมีส่วนร่วมของทีมการพยาบาลมีการบันทึกและประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพยาบาล ได้แก่การป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยการเตรียมผู้ป่วย ชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้ความกระจ่างในการพยาบาล หรือสิ่งแวดล้อม ให้การสัมผัส และติดตามผลการตอบสนองของผู้ป่วย นอกจากนี้พยาบาลควรต้องเรียนรู้การใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาต่าง ๆ เช่นมีความนึกคิดบกพร่อง ประสาทหลอน ตื่นตระหนก สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น
อรพินท์ สีขาว. (2546). ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 91-101.