SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ

บทคัดย่อ

อำนาจและพฤติกรรมการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับองค์การ ทั้งนี้เพราะองค์การจำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขององค์การจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ใช้อำนาจและพฤติกรรมการเมืองให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้องค์การก้าวหน้าได้จากความสามัคคีของบุคลากร แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างแพร่หลาย ผลประโยชน์ของตนเองและของกลุ่มจะมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ขององค์การ บทความนี้จึงนำเสนอแนวคิดและหลักการที่จะพึงมีคุณประโยชน์ต่อองค์การโดยรวมที่แสวงหาความก้าวหน้าโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรขององค์การ

สถาพร ปิ่นเจริญ. (2546). อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 13 – 21.

ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล

บทคัดย่อ

ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เป็นอาการผิดปกติ ชั่วคราวของการนึกคิดความสนใจและความตั้งใจเป็นภาวะที่นำผู้ป่วยไปสู่ความตายหรือมีพยากรณ์โรคที่เลว โดยมักจะพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคต้องรับประทานยาหลายชนิด หรืออยู่ในภาวะวิกฤติ

สาเหตุของภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) สาเหตุที่กระทำต่อสมองโดยตรง หรือมีการรบกวนระบบทางสรีรวิทยา 2) การรบกวนทางภาวะจิตใจ 3) การรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก 4) การรบกวนทางเภสัชวิทยาจากการใช้ยาหลายชนิด ผู้ป่วยจะแสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ เช่นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือลดลงหรือทั้งสองแบบผสมกัน มีการเปลี่ยนแปลงด้านการนึกคิด สมาธิ อารมณ์ การรับรู้เวลา สถานที่ ความจำ

ในการประเมินผู้ป่วย พยาบาลควรใช้ทักษะการสังเกต การสัมภาษณ์ และการทดสอบความนึกคิด เชาว์ปัญญา การรับรู้ การแปลความหมาย และการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วย โดยมองผู้ป่วยอย่างเป็นระบบเปิดและประเมินผู้ป่วยตามบริบทและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย พยายามหาสาเหตุที่เฉพาะเจาะจง จากนั้นจึงวางแผนการพยาบาลที่มีความเป็นไปได้ มีเป้าหมาย มีกิจกรรม และมีส่วนร่วมของทีมการพยาบาลมีการบันทึกและประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพยาบาล ได้แก่การป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยการเตรียมผู้ป่วย ชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้ความกระจ่างในการพยาบาล หรือสิ่งแวดล้อม ให้การสัมผัส และติดตามผลการตอบสนองของผู้ป่วย นอกจากนี้พยาบาลควรต้องเรียนรู้การใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาต่าง ๆ เช่นมีความนึกคิดบกพร่อง ประสาทหลอน ตื่นตระหนก สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น

อรพินท์ สีขาว. (2546). ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 91-101.

การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell Donation and Transplantation)

บทคัดย่อ

การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต นับเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกทางหนึ่งที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับการบริจาคโลหิตที่เคยรู้จักกันมานาน ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด หรือแม้กระทั่งการฉายรังสีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากการบริจาคของผู้อื่น การปลูกถ่ายนั้นจะเป็นทางเลือกสุดท้ายและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาค เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่จะนำมาให้กับผู้ป่วยจึงจะต้องเป็นเซลล์ที่ได้มาจากผู้บริจาคที่มีชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อที่ตรงกันกับผู้ป่วย ซึ่งโอกาสที่จะได้มานั้นมีน้อยมากเพราะชนิดของแอนติเจนนี้จะมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้โอกาสที่พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันจะมีชนิดของแอนติเจนนี้ตรงกันมีเพียง 25% และจะลดต่ำลงในบุคคลที่มาจากต่างเชื้อสายกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดขึ้นมา เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้บริจาคและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อของผู้บริจาคแต่ละคนไว้สำหรับการคัดเลือกให้กับผู้ป่วย

วิธีการที่จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้นทำได้ถึง 3 วิธีคือ การบริจาคโดยการเจาะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากหลอดโลหิตดำ จากโพรงไขกระดูก และจากรกของทารกแรกคลอด ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เก็บได้ประมาณ 5 x 10 เซลล์ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวผู้ป่วยจะถูกนำไปให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและ/หรือฉายแสงรังสีรักษาทั่วร่างกายเพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกายและทำลายเซลล์เม็ดโลหิตเดิมที่ผิดปกติไว้แล้ว แต่ภายหลังการรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในระยะแรกผู้ป่วยจะมีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีปริมาณของเม็ดโลหิตชนิดต่าง ๆ ต่ำ ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่ายและเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาคที่เกิดจากความแตกต่างกันของแอนติเจนของเนื้อเยื่อชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการตรวจ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อไปก่อน ถึงแม้ว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคนั้นๆ ได้ แต่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนี้ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ จะต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด บทความนี้จึงมุ่งหวังที่จะช่วยในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษา รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย

ชลันดา กองมะเริง และ เบญจพร โอประเสริฐ. (2546). การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 79-90.

การพัฒนาระบบข้อมูล
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การพัฒนาระบบข้อมูล

บทคัดย่อ

ระบบข้อมูลคือปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการดำเนินงานทางธุรกิจการขาดระบบข้อมูลจะมีผลทำให้การดำเนินงานมีความล่าช้าและอาจเกิดความผิดพลาดไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้ ดังนั้นการศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องระบบข้อมูล ไม่ว่าในเรื่องความสำคัญและองค์ประกอบของระบบข้อมูล ขั้นตอนการพัฒนารวมทั้งแนวทางในการจัดสร้างระบบข้อมูลที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรของหน่วยงานที่จะต้องเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมพัฒนาระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

มาโนชย์ ไชยสวัสดิ์. (2546). การพัฒนาระบบข้อมูล. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 66-78.

 

โรคอัลไซเมอร์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

โรคอัลไซเมอร์

บทคัดย่อ

บทความนี้ ให้สาระความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในด้าน การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและกลไกการเกิดโรค การวินิจฉัย อาการ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคในปัจจุบัน สัญญาณเตือนของโรค รวมถึงการปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อตัวคุณเองและคนใกล้ชิดกับคุณจะได้ไม่ต้องพบกับโรคอัลไซเมอร์ในวัยชราที่จะมาถึง

เมตตา โพธิ์กลิ่น. (2546). โรคอัลไซเมอร์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 51-65.

อาวุธชีวภาพ : พิชัยยุทธสงครามยุคโลกาภิวัตน์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

อาวุธชีวภาพ : พิชัยยุทธสงครามยุคโลกาภิวัตน์

บทคัดย่อ

อาวุธชีวภาพ หรือ อาวุธเชื้อโรค คือ อาวุธที่ผลิตขึ้นจากจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธชีวภาพ คือ เชื้อบาซิลลัส แอนธาซิส (Bacillus anthracis) เชื้อพลาสเทอเรลลา เพลทิส (Pasteurella pestis) เชื้อวาริโอลา ไวรัส (Variola virus) เชื้อวิ บริโอ คลอเลอรี (Vibrio cholerae) เชื้อฟรานซิส เซลลา ทูลาเรนซีส (Francisella tularensis) เชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคเลือดออกจากไวรัส (Virus Hemorrhagic Fever : VHF) เชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum)

เกษม พลายแก้ว. (2546). อาวุธชีวภาพ : พิชัยยุทธสงครามยุคโลกาภิวัตน์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 30-42.

ไวรัสซิกา
มี.ค. 18th, 2016 by jittiwan

ช่วงนี้มีข่าวเรื่องไข้เลือดออก ซึ่งเราก็คุ้นเคยกันมานานว่า มียุงลายเป็นพาหะในการก่อให้เกิดโรคชนิดนี้ แต่เป็นข่าวดังมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการเสียชีวิตของบุคคลที่เป็นดารา ทำให้ทุกคนยิ่งเริ่มหันมาให้ความใส่ใจกันยิ่งอีกมากขึ้น และก็ยิ่งน่าสนใจและน่าติดตามพร้อมกับต้องให้ความระมัดระวังมากขึ้น ด้วยมีเชื้อไวรัสที่มีชื่อที่เราไม่ค่อยจะคุ้นหูเท่าไรนัก และก็มีสาเหตุมาจากยุง เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกก็ตาม แต่เป็น 1 ใน 3 โรคร้ายที่เกิดจากยุงลาย

ไวรัสที่กำลังพูดถึงนี้คือ ไวรัสซิกา ไวรัสตัวนี้เกิดดังมากในช่วงปี 2558  เพราะระบาดหนักในแถบลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศบราซิล ทำให้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้การระบาดของไวรัสซิกา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ  สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศจัดให้ “โรคติดเชื้อไวรัสซิกา” เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ แต่เรามาทำความรู้จักไวรัสซิกา กันซักนิดนะคะ

ไวรัสซิกาหรือไข้ซิกาเป็นเชื้อไวรัสตระกูลเฟลวิไวรัส ลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ ตั้งแต่ปี 2490 ที่ Alexander Haddow นักกีฏวิทยาชาวสกอต พบว่าลิงที่เลี้ยงไว้ตัวหนึ่ง มีอาการป่วยและพบว่ายุงลายเป็นพาหะ เลยตั้งชื่อให้ตามชื่อป่าว่า ไวรัสซิลิกา

กลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ หากติดเชื้อแล้วจะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตราย คือจะทำให้ศีรษะเล็กกว่าปกติ ไวรัสซิกา เป็นเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ การติดต่อจึงมาจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด

อาการ คล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้เลือดออก มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ไข้ขึ้นสูง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวและปวดหัว อาการเหล่านี้สามารถทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การรักษา รักษาตามอาการเช่นเดียวกับโรคไวรัสอื่นๆที่มียุงลายเป็นพาหะ ผู้ป่วยควรพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทานยาตามแพทย์สั่ง ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือวิธีการรักษาที่แน่ชัด

การป้องกัน พยายามอย่าให้ยุงกัด ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ และป้องกันโรคที่มาจากยุงลาย

ภัยอันตรายจากยุงลาย

ภัยอันตรายจากยุงลาย

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ไข้ซิกาเป็น 1 ใน 3 โรคร้ายที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ ส่วนอีก 2 โรค ก็คือ โรคไข้เลือดออก และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา ซึ่งจะต่างจากไข้เลือดออก และ ไข้ซิกา คือ จะมีอาการปวดข้อมากเป็นพิเศษ บางคนหายป่วยแล้ว ยังมีอาการปวดข้อต่อเนื่องกว่า 6 เดือน

รายการอ้างอิง

ปอมอ. (2559). โรคไข้ ZIKA ไม่ใหม่. แพรว 37, 877 (10 มีนาคม 2559), 250.
ปาจรีย์. (2559). 3 โรคร้ายจากยุงลาย หายนะตัวจิ๋ว. แพรว 37, 877 (10 มีนาคม 2559), 256.
ไวรัสซิกา ไข้ซิกา โรคติดต่อที่ไร้วัคซีนป้องกัน ภัยเงียบจากยุงลาย. สืบคืนเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 จาก http://health.kapook.com/view139846.html

การบริหารทรัพยากรสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์ : การจัดการสมดุลระหว่างเอกสารทรงคุณค่ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่
มี.ค. 16th, 2016 by namfon

จากการที่บุคลากรของศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้เข้าร่วมฟังการสัมมนาทางวิชาการ ในโครงการสัมมนาทางวิชาการ : เทิดพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “การบริหารทรัพยากรสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์ : การจัดการสมดุลระหว่างเอกสารทรงคุณค่ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่” ซึ่งจัดโดย สำนักหอสมุดกลาง และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร นั้น สามารถสรุปประเด็นความรู้ได้ดังนี้

เริ่มด้วยการกล่าวรายงาน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช (อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ) และพิธีเปิดโดยผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กิจกรรมในภาคเช้า เวลา 09.00-12.00 น. บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร และรองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ

ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร บรรยายหัวข้อ “เอกสารทรงคุณค่า คลังแห่งปัญญาไทย” Read the rest of this entry »

กินถูกสุขสง่า
มี.ค. 15th, 2016 by sirinun

กินถูกสุขสง่า

กินถูกสุขสง่า

สังคมปัจจุบันมีแต่ความเร่งรีบจนทำให้คนทำงานไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือพนักงานไม่มีเวลาออกกำลังกาย จนทำให้เป็นโรคต่าง ๆ เช่น ความดัน เบาหวาน ฯลฯ ขอแนะนำให้อ่าน “กิน ถูก สุข สง่า” ซึ่งบอกวิถีการกิน และการอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ผู้อ่านจะได้ความรู้เรื่องโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคก่อนวัยอันควร เพราะกินไม่ถูกตามหลักโภชนาการ และขาดการออกกำลังกายที่ถูกต้อง หมวดหมู่QU145 ส152ก 2555

รายการอ้างอิง

สง่า ดามาพงษ์. (2555). กินถูกสุขสง่า. กรุงเทพฯ : พีเพิลมีเดีย.

ชีวิตดีดี มีได้ทุกวัน
มี.ค. 15th, 2016 by sirinun

ชีวิตดีดีมีได้ทุกวัน

ชีวิตดีดีมีได้ทุกวัน

สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยทางเลือกง่าย ๆ โดยการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง โยคะ และการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ (60 พรรษา) ในปี พ.ศ. 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขอจัดพิมพ์ซ้ำบทพระราชนิพนธ์ “กีฬาเป็นยาวิเศษ” บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่ง สสส. ให้ความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ให้คนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคภัย โดยเชิญบทพระราชนิพนธ์ “กีฬาเป็นยาวิเศษ” มานำเสนอเนื้อหาการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านให้เข้าถึงกิจกรรมการออกกำลังกาย ไว้ในหนังสือ “ชีวิตดีดี มีได้ทุกวัน” เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจของประชาชนให้แข็งแรงมีสุขภาพที่ดี  หมวดหมู่QT255 ก397ช 2558

รายการอ้างอิง

กัลย์จีรา ชาตินันทฤกษ์. (2558). ชีวิตดีดี มีได้ทุกวัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

Read the rest of this entry »

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa