SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
มีนาคม 19th, 2016 by rungtiwa

การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell Donation and Transplantation)

บทคัดย่อ

การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต นับเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกทางหนึ่งที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับการบริจาคโลหิตที่เคยรู้จักกันมานาน ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด หรือแม้กระทั่งการฉายรังสีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากการบริจาคของผู้อื่น การปลูกถ่ายนั้นจะเป็นทางเลือกสุดท้ายและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาค เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่จะนำมาให้กับผู้ป่วยจึงจะต้องเป็นเซลล์ที่ได้มาจากผู้บริจาคที่มีชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อที่ตรงกันกับผู้ป่วย ซึ่งโอกาสที่จะได้มานั้นมีน้อยมากเพราะชนิดของแอนติเจนนี้จะมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้โอกาสที่พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันจะมีชนิดของแอนติเจนนี้ตรงกันมีเพียง 25% และจะลดต่ำลงในบุคคลที่มาจากต่างเชื้อสายกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดขึ้นมา เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้บริจาคและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อของผู้บริจาคแต่ละคนไว้สำหรับการคัดเลือกให้กับผู้ป่วย

วิธีการที่จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้นทำได้ถึง 3 วิธีคือ การบริจาคโดยการเจาะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากหลอดโลหิตดำ จากโพรงไขกระดูก และจากรกของทารกแรกคลอด ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เก็บได้ประมาณ 5 x 10 เซลล์ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวผู้ป่วยจะถูกนำไปให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและ/หรือฉายแสงรังสีรักษาทั่วร่างกายเพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกายและทำลายเซลล์เม็ดโลหิตเดิมที่ผิดปกติไว้แล้ว แต่ภายหลังการรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในระยะแรกผู้ป่วยจะมีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีปริมาณของเม็ดโลหิตชนิดต่าง ๆ ต่ำ ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่ายและเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาคที่เกิดจากความแตกต่างกันของแอนติเจนของเนื้อเยื่อชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการตรวจ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อไปก่อน ถึงแม้ว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคนั้นๆ ได้ แต่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนี้ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ จะต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด บทความนี้จึงมุ่งหวังที่จะช่วยในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษา รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย

ชลันดา กองมะเริง และ เบญจพร โอประเสริฐ. (2546). การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 79-90.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa