SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
หลักวิธีการสอนภาษาจีน
มี.ค. 8th, 2016 by supaporn

หลักวิธีการสอนภาษาจีน เขียนโดย อาจารย์เบญจวรรณ ศิริคันธรส คณะภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้เขียนบทความโดยคัดเลือกเนื้อหาบางส่วนและจากการแปลตำรา เรื่อง เทคนิคจัดการเรียนรู้ภาษาจีนในชั้น 325 ตัวอย่าง  และ การออกแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาจีนสากล บทความนี้ ประกอบด้วยวิธีการสอนแบบสมัยเก่าและสมัยใหม่ทั้งหมด 5 วิธีคือ วิธีสอนภาษาแบบเน้นโครงสร้างไวยากรณ์และแปล วิธีสอนภาษาแบบเน้นทักษะพูดและฟัง วิธีสอนภาษาแบบเน้นเพื่อการสื่อสาร วิธีสอนภาษาแบบเน้นภาระงาน และ วิธีสอนภาษาเน้นการตอบสนองด้วยท่าทาง ติดตามอ่านแต่ละวิธีสอนได้ที่นี่

รายการอ้างอิง

เบญจวรรณ ศิริคันธรส.  หลักวิธีการสอนภาษาจีน. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 จาก http://clc.hcu.ac.th/page_academic/9/หลักและวิธีการสอน%20:%20%汉语教学法

การเพิ่มเชาว์อารมณ์ (Emotional Quotient) ด้วยการฝึกสมาธิ : บทพิสูจน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

การเพิ่มเชาว์อารมณ์  (Emotional Quotient) ด้วยการฝึกสมาธิ : บทพิสูจน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

บทคัดย่อ:

เชาว์อารมณ์ (Emotional Quotient) ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเชาว์อารมณ์เป็นเรื่องของการบริหารจัดการความรู้สึกและอารมณ์ภายในตนและการบริหารจัดการอารมณ์ของตนในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนอื่น การฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาก็เป็นวิธีหนึ่งของการพัฒนาเชาว์อารมณ์ที่ทำให้ผู้ฝึกสามารถควบคุมภาวะทางอารมณ์เพื่อสามารถบริหารจัดการความรู้สึกของตนและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่นได้ เพราะการฝึกสมาธิ คือ การสะสมพลังจิตและเราก็สามารถนำพลังจิตไปใช้ในการทำงานได้ ยิ่งมีพลังจิตมากเท่าใด งานก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น ผู้ไม่มีพลังจิตจึงเป็นผู้ที่มีอารมณ์หงุดหงิด ขาดการไตร่ตรองที่ทำให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการพัฒนาเชาว์อารมณ์ด้วยการฝึกสมาธิจะทำให้ผู้ฝึกได้คุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

อรรถสิทธิ์ สุนาโท. (2548). การเพิ่มเชาว์อารมณ์  (Emotional Quotient) ด้วยการฝึกสมาธิ : บทพิสูจน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 100-112.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ประเพณีรับบัวที่วัดบางพลีใหญ่ใน : สารัตถะที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ประเพณีรับบัวที่วัดบางพลีใหญ่ใน : สารัตถะที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้

บทคัดย่อ:

ประเพณีรับบัวหรือโยนบัวเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านานและมีสาระน่ารู้หลายเรื่อง เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิทัศน์เกี่ยวกับท้องที่ คติชนวิทยา เรื่องเล่าที่ทรงคุณค่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาสร้างสรรค์ก่อให้เกิดประเพณีที่งดงาม วิถีชีวิตทางจริยธรรมที่เอื้ออาทรต่อกันของคนในอดีต โดยเฉพาะปรัชญาธรรมจากดอกบัว ดอกไม้ประจำพระพุทธศาสนาที่เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสาระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา หมายถึง ศาสนาที่มุ่งให้ศาสนิกใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา มิใช่ใช้แต่ศรัทธาเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้คนไม่เข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย วิธีการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่แท้จริงของเรื่องนั้นๆ จะกลายเป็นการปฏิบัติตามๆ กัน โดยปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง กลายเป็นการสืบสานกันแบบมือบอดที่นับวันจะทำให้สาระสำคัญหรือเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาเลือนหายไป

ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2548). ประเพณีรับบัวที่วัดบางพลีใหญ่ใน : สารัตถะที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 84-99.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ทำอย่างไรให้ห้องสมุดมีชีวิต
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ทำอย่างไรให้ห้องสมุดมีชีวิต

บทคัดย่อ:

กล่าวถึงความหมายของห้องสมุดชีวิต วิธีทำให้ห้องสมุดมีชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ด้านการบริหาร ด้านการบริการ ด้านบุคลากร ด้านทรัพยากรสารสนเทศ ด้านระเบียบการใช้บริการ ด้านอาคาสถานที่ ด้านครุภัณฑ์และฐานข้อมูล ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านผู้ใช้บริการ เป็นต้น และการสนองตอบนโยบาย

ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์. (2548). ทำอย่างไรให้ห้องสมุดมีชีวิต. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 58-71.

อ่านบทความฉบับเต็ม

การค้าระหว่างประเทศบนอินเทอร์เน็ต
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

การค้าระหว่างประเทศบนอินเทอร์เน็ต

บทคัดย่อ:

อินเทอร็เน็ต (internet) เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายขนาดเล็กจำนวนมากเข้าด้วยกัน โดยผ่านโครงข่ายทางคมนาคม อินเทอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาลที่อำนวยประโยชน์ให้ทุกคน ทุกอาชีพ ได้เข้ามาใช้ข้อมูลได้ในราคาถูก พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เป็นการทำธุรกิจโดยผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดการสินค้าคงคลัง การให้บริการลูกค้า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ต (internet) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มีบทบาทและความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างาก เพราะมีความสะดวกรวดเร็วในการติตต่อสื่อสาร มีผู้ซื้อจำนวนมาก มีแหล่งขายสินค้าขนาดใหญ่ ทั้งประหยัดเงินทุนและยังสามารถทำการค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง พ่อค้าระหว่างประเทศสามารถใช้อินเทอร์เน็ต (internet) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ในการค้นหาลูกค้าและประชาสัมพันธ์สินค้าได้หลายวิธีการไม่ว่าจะเป็นการใช้ search engine, E-mail, catalog online, newsgroups, newsletter การเปิดร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต หรือการวางแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆ

เพ็ญศิริ สุธรรมโน. (2548). การค้าระหว่างประเทศบนอินเทอร์เน็ต. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 47-57.

อ่านบทความฉบับเต็ม

กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร

บทคัดย่อ:

การบริหารองค์การให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักบริการว่าจะมีทัศนคติและวิสัยทัศน์ต่อทรัพยากรทางการบริหารในมุมมองอย่างไร นักบริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ขององค์การในระยะยาว และให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีบทบาทสำคัญในการที่จะใช้กุญแจ 10 ดอก ซึ่งเป็นทัศนคติและวิสัยทัศน์อันจะเป็นมุมมองในการบริหารทรัพยากรขององค์การ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ขององค์การ อนึ่งกุญแจสำคัญทั้ง 10 ดอกนี้ล้วนแต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จทางการบริการ ทั้งนี้เพราะผู้บริหารจะต้องรู้จักประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เปรียบเสมือนการเลือกใช้ลูกกุญแจไขให้ถูกคู่กับแม่กุญแจจึงจะประสบความสำเร็จในการไขกุญแจได้ อย่างไรก็ตาม กุญแจ 10 ดอกนี้จะเป็นแสงไฟที่ช่วยส่องนำทางเพื่อทำให้การบริหารดำเนินไปอย่างมีทิศทาง มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล

สถาพร ปิ่นเจริญ. (2548). กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 21-34.

อ่านบทความฉบับเต็ม

การรับรู้ความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและการจัดการกับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วย
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

การรับรู้ความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและการจัดการกับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วย

บทคัดย่อ:

ความเครียดเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ดังนั้น การแสวงหาความรู้ในเรื่องของความเครียดเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเครียดในครั้งนี้เป็นการศึกษาการวิจัยชนิดพรรณนาโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้ความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด และการจัดการกับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลจากเนื้อหาข้อมูล (content analysis) ผลการวิจัยสรุปออกมาได้ 4 ประเด็น คือ ความหมายของความเครียด ผลของความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด และการจัดการกับความเครียดในเรื่องของความหมายของความเครียด ผู้ให้ข้อมูลอธิบายว่าความเครียด คือ ความไม่สบายใจ และการไม่มีความสุข ซึ่งกดดันทำให้ขาดสติในการทำงาน และก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง และเบื่อที่จะทำงานส่วนผลของความเครียดนั้น ผู้ให้ข้อมูลอธิบายผลของความเครียดออกเป็น 4 ด้าน ด้วยกัน คือ บุคคลกิจกรรม และงานที่ได้รับมอบหมาย การเรียนการสอน และความพร้อม ส่วนประเด็นสุดท้ายนั้นนักศึกษาพยาบาลผู้ให้ข้อมูลมีการจัดการความเครียด 2 ลักษณะ คือ การจัดการกับความเครียดโดยพึ่งตนเอง และการจัดการความเครียดโดยพึ่งพาผู้อื่น การวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอนและการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพแก่นักศึกษาพยาบาลต่อไป Read the rest of this entry »

ปัญหาคลอรีน คลอไรด์ ในน้ำประปาที่ใช้ในอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไข
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ปัญหาคลอรีน คลอไรด์ ในน้ำประปาที่ใช้ในอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไข

บทคัดย่อ:

การเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา ทำให้เกิดสารประกอบคลอรีนและคลอไรด์ตกค้างในน้ำ เป็นผลให้ผู้ใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับผลจากการตกค้างของคลอรีนและคลอไรด์ โดยในส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ ผู้ประกอบการที่ต้องการน้ำที่ได้คุณภาพตามวัตถุประสงค์ของการผลิต ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากคลอรีนและคลอไรด์ในน้ำประปานั้นได้แก่ ปัญหาการกัดกร่อนโลหะ เนื่องจากคลอไรด์ ปัญหาการกัดกร่อนของเรซินและเยื่อเมมเบรนเนื่องจากคลอรีน ปัญหาการฟอกสีของสารเคมีที่ใช้ฟอกย้อมเนื่องจากคลอรีน ฯลฯ ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่ต้องหาแนวทางในการกำจัดคลอรีนและคลอไรด์ออกจากน้ำ ก่อนที่จะนำน้ำไปใช้ในกระบวนการผลิต โดยการกำจัดคลอรีนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตั้งทิ้งไว้ให้คลอรีนระเหยออก การใช้ถ่านกัมมันต์ดูดซัลคลอรีน การเติมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อเปลี่ยนรูปคลอรีน หรือการเติมสารเคมีอื่นเพื่อเปลี่ยนรูปคลอรีน ในส่วนการกำจัดคลอไรด์สามารถทำได้โดยใช้ เรซินแลกเปลี่ยนอิออน

ธีรวิทย์ ปูผ้า ยิ่งเจริญ คูสกุลรัตน์ และ วรพจน์ กนกกันฑพงษ์. (2548). ปัญหาคลอรีน คลอไรด์ ในน้ำประปาที่ใช้ในอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไข. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 97-105.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้

บทคัดย่อ:

สารประกอบปรอทที่ใช้ประโยชน์กันอยู่มีด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ โลหะปรอทบริสุทธ์ (metallic mercury) สารประกอบปรอทอนินทรีย์ (iorganic mercury compund) และสารประกอบอนินทรีย์ (organic mercury compound) สารประกอบเหล่านี้ นำมาใช้ทำเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น ปรอทวัดไข้ ปรอทวัดอุณหภูมิของบรรยากาศ เป็นต้น ใช้ทำสารอมัลกัม (amalgam) ซึ่งเป็นสารที่ทันตแพทย์ใช้อุดฟันให้คนไข้  นอกจากนี้ สารปรอทยังใช้ผลิตหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ทำแบตเตอรี่ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแก๊สคลอรีน สารประกอบปรอทบางชนิด เช่น HgO HgCl2 ถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น จากกิจกรรมการผลิตในระบบอุตสาหกรรมสามารถทำให้เกิดสารปนเปื้อนสารปรอทในสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งสารปรอทเหล่านี้จะแพร่กระจายไปสะสมในสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลา พืชผัก ผลไม้ เมื่อคนเราบริโภคอาหารที่มีสารปรอทปนเปื้อนก็จะเกิดการถ่ายเทสารปรอทมาสะสมในร่างกายของเราได้จนก่อให้เกิดพิษภัยอันตรายจากสารปรอท ซึ่งพิษภัยอันตรายจากสารปรอทสามารถจำแนกได้ 2 แบบ คือ พิษแบบแรกเป็นพิษแบบเรื้อรัง (chronic poisoning) ซึ่งพิษภัยแบบนี้สารปรอทจะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางทำให้ผู้ป้วยสูญเสียการทรงตัว เกิดการกระตุกและชาตามแขนขา พิษแบบที่สองเป็นพิษเฉียบพลัน (acute poisioning) พิษแบบนี้จะเกิดขึ้นทันที่ทีเราได้รับสารปรอทปริมาณมากเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร พิษแบบนี้มีความรุนแรงมากถึงขั้นอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์จากมลพิษของสารปรอทที่เรียกว่า โรคมินามาตะ (Minamate disease) ขึ้นที่หมู่บ้านชายทะเล บริเวณอ่าวมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1956 การเกิดโรคมินามาตะนี้เป็นผลมาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมทิ้งของเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนอยู่ลงในทะเล ความเสียหายครั้งนี้ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและพิการอย่างถาวรจำนวน 121 ราย

เกษม พลายแก้ว. (2548). ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 81-96.

อ่านบทความฉบับเต็ม

นาโนคอมพิวเตอร์
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

นาโนคอมพิวเตอร์

บทคัดย่อ:

นาโนเทคโนโลยีในธรรมชาติมีอยู่มากมายหลายศาสตร์ เช่น การเรียงตัวของโมเลกุลอย่างเป็นระเบียบของแคลเซียมคาร์บอเนตทำให้เกิดเป็นเปลือกหอย เป็นไข่มุก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หอยมีกรรมวิธีที่เรียกว่านาโนวิศวกรรม (nanoengineering) ตามธรรมชาติหรือการจัดเรียงอะตอมของคาร์บอนอย่างเป็นระเบียบที่ต่างกันทำให้เกิดเป็นถ่าน กราไฟต์และเพชร

ความก้าวหน้าทางนาโนเทคโนโลยีทำให้เกิดแนวโน้มการพัฒนาคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นหน่วยควบคุมหรือหน่วยประมวลผลซึ่งเป็นส่วนสมองของจักรกลนาโน หรือที่เรียกว่านาโนคอมพิวเตอร์ขึ้น (nanocomputer) นาโนมคอมพิวเตอร์ต่างจากคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่เราเข้าใจ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ทำงานโดยการปฏิสัมพันธ์กับประสาทสัมผัสของมนุษย์โดยตรง เช่น มีส่วนรับข้อมูลเข้า คือ คีย์บอร์ด มีส่วนแสดงผล คือ มอนิเตอร์ แต่นาโนคอมพิวเตอร์จะมีการรับข้อมูลเข้าทางเซนเซอร์ มีการแสดงผลออกเป็นสัญญาณหรือการทำงานกับจักรกลนาโน ทั้งนี้นาโนคอมพิวเตอร์จะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับอุปกรณ์ที่ทำงานมากกว่ากับมนุษย์

แนวทางการพัฒนานาโนคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. นาโนคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic nanocomputer)
2. นาโนคอมพิวเตอร์เชิงเคมี (chemical nanocomputer)
3. นาโนคอมพิวเตอร์เชิงกล (mechanical nanocomputer)
4. ควอนตัมนาโนคอมพิวเตอร์ (quantum nanocomputer)
การวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยียังคงดำเนินต่อไป นาโนเทคโนโลยีนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีอิทธิพลในทุกสาขา และจะเป็นเทคโนโลยีหลักที่จาดไม่ได้ในศตวรรษที่ 21

ธนาวุฒิ ประกอบผล. (2548). นาโนคอมพิวเตอร์. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 60-65.

อ่านบทความฉบับเต็ม

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa