SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ปัญหาคลอรีน คลอไรด์ ในน้ำประปาที่ใช้ในอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไข
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ปัญหาคลอรีน คลอไรด์ ในน้ำประปาที่ใช้ในอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไข

บทคัดย่อ:

การเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปา ทำให้เกิดสารประกอบคลอรีนและคลอไรด์ตกค้างในน้ำ เป็นผลให้ผู้ใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับผลจากการตกค้างของคลอรีนและคลอไรด์ โดยในส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ ผู้ประกอบการที่ต้องการน้ำที่ได้คุณภาพตามวัตถุประสงค์ของการผลิต ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากคลอรีนและคลอไรด์ในน้ำประปานั้นได้แก่ ปัญหาการกัดกร่อนโลหะ เนื่องจากคลอไรด์ ปัญหาการกัดกร่อนของเรซินและเยื่อเมมเบรนเนื่องจากคลอรีน ปัญหาการฟอกสีของสารเคมีที่ใช้ฟอกย้อมเนื่องจากคลอรีน ฯลฯ ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่ต้องหาแนวทางในการกำจัดคลอรีนและคลอไรด์ออกจากน้ำ ก่อนที่จะนำน้ำไปใช้ในกระบวนการผลิต โดยการกำจัดคลอรีนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตั้งทิ้งไว้ให้คลอรีนระเหยออก การใช้ถ่านกัมมันต์ดูดซัลคลอรีน การเติมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อเปลี่ยนรูปคลอรีน หรือการเติมสารเคมีอื่นเพื่อเปลี่ยนรูปคลอรีน ในส่วนการกำจัดคลอไรด์สามารถทำได้โดยใช้ เรซินแลกเปลี่ยนอิออน

ธีรวิทย์ ปูผ้า ยิ่งเจริญ คูสกุลรัตน์ และ วรพจน์ กนกกันฑพงษ์. (2548). ปัญหาคลอรีน คลอไรด์ ในน้ำประปาที่ใช้ในอุตสาหกรรม และแนวทางแก้ไข. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 97-105.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้

บทคัดย่อ:

สารประกอบปรอทที่ใช้ประโยชน์กันอยู่มีด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ โลหะปรอทบริสุทธ์ (metallic mercury) สารประกอบปรอทอนินทรีย์ (iorganic mercury compund) และสารประกอบอนินทรีย์ (organic mercury compound) สารประกอบเหล่านี้ นำมาใช้ทำเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น ปรอทวัดไข้ ปรอทวัดอุณหภูมิของบรรยากาศ เป็นต้น ใช้ทำสารอมัลกัม (amalgam) ซึ่งเป็นสารที่ทันตแพทย์ใช้อุดฟันให้คนไข้  นอกจากนี้ สารปรอทยังใช้ผลิตหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ทำแบตเตอรี่ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแก๊สคลอรีน สารประกอบปรอทบางชนิด เช่น HgO HgCl2 ถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น จากกิจกรรมการผลิตในระบบอุตสาหกรรมสามารถทำให้เกิดสารปนเปื้อนสารปรอทในสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งสารปรอทเหล่านี้จะแพร่กระจายไปสะสมในสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลา พืชผัก ผลไม้ เมื่อคนเราบริโภคอาหารที่มีสารปรอทปนเปื้อนก็จะเกิดการถ่ายเทสารปรอทมาสะสมในร่างกายของเราได้จนก่อให้เกิดพิษภัยอันตรายจากสารปรอท ซึ่งพิษภัยอันตรายจากสารปรอทสามารถจำแนกได้ 2 แบบ คือ พิษแบบแรกเป็นพิษแบบเรื้อรัง (chronic poisoning) ซึ่งพิษภัยแบบนี้สารปรอทจะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางทำให้ผู้ป้วยสูญเสียการทรงตัว เกิดการกระตุกและชาตามแขนขา พิษแบบที่สองเป็นพิษเฉียบพลัน (acute poisioning) พิษแบบนี้จะเกิดขึ้นทันที่ทีเราได้รับสารปรอทปริมาณมากเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร พิษแบบนี้มีความรุนแรงมากถึงขั้นอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์จากมลพิษของสารปรอทที่เรียกว่า โรคมินามาตะ (Minamate disease) ขึ้นที่หมู่บ้านชายทะเล บริเวณอ่าวมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1956 การเกิดโรคมินามาตะนี้เป็นผลมาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมทิ้งของเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนอยู่ลงในทะเล ความเสียหายครั้งนี้ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและพิการอย่างถาวรจำนวน 121 ราย

เกษม พลายแก้ว. (2548). ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 81-96.

อ่านบทความฉบับเต็ม

นาโนคอมพิวเตอร์
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

นาโนคอมพิวเตอร์

บทคัดย่อ:

นาโนเทคโนโลยีในธรรมชาติมีอยู่มากมายหลายศาสตร์ เช่น การเรียงตัวของโมเลกุลอย่างเป็นระเบียบของแคลเซียมคาร์บอเนตทำให้เกิดเป็นเปลือกหอย เป็นไข่มุก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หอยมีกรรมวิธีที่เรียกว่านาโนวิศวกรรม (nanoengineering) ตามธรรมชาติหรือการจัดเรียงอะตอมของคาร์บอนอย่างเป็นระเบียบที่ต่างกันทำให้เกิดเป็นถ่าน กราไฟต์และเพชร

ความก้าวหน้าทางนาโนเทคโนโลยีทำให้เกิดแนวโน้มการพัฒนาคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นหน่วยควบคุมหรือหน่วยประมวลผลซึ่งเป็นส่วนสมองของจักรกลนาโน หรือที่เรียกว่านาโนคอมพิวเตอร์ขึ้น (nanocomputer) นาโนมคอมพิวเตอร์ต่างจากคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่เราเข้าใจ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ทำงานโดยการปฏิสัมพันธ์กับประสาทสัมผัสของมนุษย์โดยตรง เช่น มีส่วนรับข้อมูลเข้า คือ คีย์บอร์ด มีส่วนแสดงผล คือ มอนิเตอร์ แต่นาโนคอมพิวเตอร์จะมีการรับข้อมูลเข้าทางเซนเซอร์ มีการแสดงผลออกเป็นสัญญาณหรือการทำงานกับจักรกลนาโน ทั้งนี้นาโนคอมพิวเตอร์จะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับอุปกรณ์ที่ทำงานมากกว่ากับมนุษย์

แนวทางการพัฒนานาโนคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. นาโนคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic nanocomputer)
2. นาโนคอมพิวเตอร์เชิงเคมี (chemical nanocomputer)
3. นาโนคอมพิวเตอร์เชิงกล (mechanical nanocomputer)
4. ควอนตัมนาโนคอมพิวเตอร์ (quantum nanocomputer)
การวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยียังคงดำเนินต่อไป นาโนเทคโนโลยีนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน โดยเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีอิทธิพลในทุกสาขา และจะเป็นเทคโนโลยีหลักที่จาดไม่ได้ในศตวรรษที่ 21

ธนาวุฒิ ประกอบผล. (2548). นาโนคอมพิวเตอร์. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 60-65.

อ่านบทความฉบับเต็ม

เวชศาสตร์สารสนเทศ (Medical Informatics)
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

เวชศาสตร์สารสนเทศ (Medical Informatics)

บทคัดย่อ:

เวชศาสตร์สารสนเทศ (medical informatics) เป็นการผสมผสานศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ การจัดการสารสนเทศ การแพทย์ ตลอดจนสหสาขาวิชาที่นำมาใช้ร่วมกันในการออกแบบและจัดการข้อมูลสารสนเทศ และองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเวชศาสตร์สารสนเทศนี้ประกอบไปด้วย สารสนเทศของผู้ป่วย การตรวจร่างกายก่อนการตรวจรักษา การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นสภาพ โดยได้รับมาจากห้องเวชระเบียน ห้องจ่ายยาผู้ป้วยนอก/หรือผู้ป่วยใน ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค และห้องรังสีวิทยา คุณสมบัติของเวชศาสตร์สารสนเทศที่ดีนั้น ควรมีลักษณะต่างๆ เช่น ทันเวลา เป็นปัจจุบัน มีระยะเวลา มีความถูกต้องเที่ยงตรง ความสัมพันธ์กับเรื่องหรืองานที่ปฏิบัติ ความครบถ้วนสมบูรณ์ ความน่าเชื่อถือ ความคงที่ไม่ขัดแย้ง ความชัดเจนเป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนายประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล และช่วยให้การสื่อสารสารสนเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์. (2548). เวชศาสตร์สารสนเทศ. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 54-59.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ไวรัสตัวร้าย… ไข้หวัดนก
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ไวรัสตัวร้าย… ไข้หวัดนก

บทคัดย่อ:

โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซา สายพันธุ์เอ สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย คือ H5N1 โดยมีสัตว์ปีกเป็นพาหะในการแพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดโรคทั้งในคนและในสัตว์ปีก โดยอาการในคนจะมีลักษณะคล้ายอาการของไข้หวัด คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ส่วนในสัตว์มีอาการซึม ผอม ไม่กินอาหาร ไข้ลด ไอ หายใจลำบากและมีอาการทางระบบประสาท มีอัตราการตายของสัตว์ปีกร้อยละ 100 การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยวิธี Rapid test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองอย่างรวดเร็วร่วมกับประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก และสัตว์ปีกมีอาการป่วยตายผิดปกติ ในปัจจุบันโรคไข้หวัดนกยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ในปัจจุบันยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคไข้หวัดนก คือ ทามิฟลู (tamiflu) ซึ่งตัวยานี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดนกแต่จะมีผลทำให้อายุของโรคสั้นลง และลดความรุนแรงของโรค การป้องกันทำได้โดยรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนอย่างเพียงพอ สถานที่อาศัยมีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ปีก แต่ถ้าสัมผัสควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และถ้ามีสมาชิกในบ้านป่วยและสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนกควรรีบไปพบแพทย์

วิไล ตาปะสี. (2548). ไวรัสตัวร้าย… ไข้หวัดนก. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 45-53.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ความดันโลหิตสูง : การป้องกัน และการดูแล
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ความดันโลหิตสูง : การป้องกัน และการดูแล

บทคัดย่อ:

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย การป้องกันโดยเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าเกิดโรคแล้วควรได้รับการดูแลรักษาโดยเร็วที่สุดโดยการปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงและการใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่อวัยวะที่สำคัญ คือ ตา ไต หัวใจและสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

วิไลวรรณ ตรีถิ่น. (2548). ความดันโลหิตสูง : การป้องกัน และการดูแล. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 38-44.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว (Proprioception)

บทคัดย่อ:

คุณลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษย์คือ การเคลื่อนไหว องค์ประกอบที่สำคัญต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายได้แก่ ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว ซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของข้อต่อและการเคลื่อนที่ส่วนของร่างกายในอากาศ กลับเข้าสู่ศูนย์ประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ยินยอมให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างมั่นคงและแม่นยำ การเปลี่ยนแปลงปริมาณสัญญาณป้อนกลับของความรู้สึกของการเคลื่อนไหว จะทำให้ความสามารถในการควบคุมระบบประสาทและกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงด้วย อายุ ความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ รวมทั้งการสวมใส่อุปกรณ์ประคองข้อต่อ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของความรู้สึกของการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายเป็นประจำทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการสวมใส่อุปกรณ์ประคองข้อต่อ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นหรือเนื้อเยื่อที่มีตัวรับความรู้สึกเชิงกลเกิดการบาดเจ็บนั้น สามารถช่วยแก้ไขความบกพร่องในการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อที่ทำให้เกิดความผิดปกติของความรู้สึกของการเคลื่อนไหว ข้อสั่นคลอน ไม่มั่นคง และทำงานได้ลดลงได้

ดวงพร เบญจนราสุทธิ์. (2548). ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 29-37.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ประสบการณ์การดูแลอย่างต่อเนื่องโดยครอบครัวเป็นศูนย์กลางในมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ประสบการณ์การดูแลอย่างต่อเนื่องโดยครอบครัวเป็นศูนย์กลางในมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว

บทคัดย่อ:

การดูแลที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง (Family-centered care) เป็นแนวคิดหนึ่งของการบริการสุขภาพที่ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทครอบครัวต่อสุขภาพของสมาชิก และเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้บริการอย่างต่อเนื่อง การศึกษาและการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบริการสุขภาพในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องตามมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว โดยศึกษาว่าครอบครัวมีบทบาทและมีปัญหาในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยอย่างไร ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการและคาดหวังการช่วยเหลือสนับสนุนหรือการบริการจากบุคลากรทางด้านสุขภาพอย่างไร วิธีการวิจัยที่ใช้ในการศึกษา คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน และต้องมาโรงพยาบาลตามแพทย์นับเป็นระยะๆ เพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 7 ราย และสมาชิกของครอบครัวที่มีบทบาทหลักในการดูแลผู้ป่วย ตลอดระยะของการเจ็บป่วย จำนวน 10 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพของบุคคล บทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลผู้ป่วย การประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วย การตัดสินใจจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย การดูแลให้ผู้ป่วยปลอดภัย การจัดการให้ผูป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ปัญหาของครอบครัวในการให้การดูแลผู้ป่วย ได้แก่ การได้รับข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรค การรักษา และการดูแลผู้ป่วยไม่เพียงพอ ขาดการมีส่วนร่วมในการักษาพยาบาล มีภาวะตึงเครียดจากการให้การดูแลผู้ป่วย และประสบปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งที่ครอบครัวคาดหวังจากบุคลากรสุขภาพ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาพยาบาล การสอนคำแนะนำ คำปรึกษาและการช่วยเหลือสนับสนุนในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ผลการวิจัยได้สนับสนุนแนวคิดการดูแลที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ได้สะท้อนกระบวนทัศน์ในการให้บริการสุขภาพของบุคลากรทางด้านสุขภาพ และได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการต่อการบริกาสุขภาพ การพัฒนาการบริการสุขภาพโดยใช้แนวคิดการดูแลที่เน้นครอบครัวเป็นศุนย์กลาง ควรมีการประเมินทัศนะของบุคลากรสุขภาพและผู้บริการต่อองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ ตลอดจนควรมีการทดสอบประสิทธิภาพของการบริการสุขภาพที่พัฒนาขึ้นต่อไป

รัชนี นามจันทรา นภาพร แก้วนิมิตชัย อรพินท์ สีขาว พรศิริ พันธสี ลลิตา ตรีวิทยาภูมิ สิรินดา ศรีจงใจ และ ศิริพจน์ มะโนดี.  (2548). ประสบการณ์การดูแลอย่างต่อเนื่องโดยครอบครัวเป็นศูนย์กลางในมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 14-28.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (Prevalence of Hemoglobinopathies Among Huachiew Chalermprakiet Universityþs Personnels)

บทคัดย่อ:

ได้ประเมินความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากรมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติจำนวน 485 ราย พบว่า จำนวน 233 ราย มีความคิดปกติเมื่อทดสอบด้วยวิธี osmotic fragility (OF test) และ dichlorophenol indophenol test (DCIP test) เมื่อนำเลือดที่มีความผิดปกติดังกล่าวไปทดสอบหาชนิดของฮีโมโกลบินด้วยวิธี cellulose acetate electrophoresis และตรวจหาปริมาณฮีโมโกลบิน A2 ด้วยวิธี elution technique พบว่าเป็น Hb EA, Hb EE,β-thalassemia carrier และ Hb A2 AH เท่ากับ 145 (29.8%), 25 (5.2%), 8 (1.6%) และ 3 (0.6%) ราย ตามลำดับ ในขณะที่จำนวน 52 ราย (10.7%) ไม่สามารถวิเคราะห์ได้แน่ชัดว่าเป็นความผิดปกติชนิดใด อาจเป็น α-thalassemia carrier หรือฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดอื่นๆ

Prevalence of hemoglobinopathies was investigated in 485 Huachiew Chalermprakiet
Universityþs personnels. It was found that 233 cases were abnormal as assessed by osmotic fragility test (OF test) and dichlorophenol indophenol test (DCIP test). All positive tests above were analyzed for hemoglobin typing by cellulose acetate electrophoresis and hemoglobin A2 was quantitatively analyzed by an elution technique. It was shown that Hb EA, Hb EE, β-thalassemia carrier and Hb A2 AH were detected to be 145 (29.8%), 25 (5.2%), 8 (1.6%) and 3 (0.6%) samples, respectively, whereas 52 (10.7%) samples would not be analyzed clearly, suggesting α-thalassemia carrier or other thalassemic cases.

ยุทธนา เพ็งแจ่ม ประไพ เหมหอม สุวรรณา เสมศรี ธนสาร ศิริรัตน์ เพ็ญนภา ชมะวิต และ นันทวดี เนียมนุ้ย. (2548). ความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 3-13.

อ่านบทความฉบับเต็ม

 

English as a Second Language
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

English as a Second Language

Suwit Piankijagum. (2547). English as a Second Language. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 109-110.

อ่านบทความฉบับเต็ม

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa