SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ปัญหาน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วกับแนวทางการจัดการในประเทศไทย
มี.ค. 4th, 2016 by rungtiwa

ปัญหาน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วกับแนวทางการจัดการในประเทศไทย

บทคัดย่อ:

น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วถือเป็นของเสียอันตราย ที่ต้องดำเนินการบำบัดและจัดการให้ถูกต้องเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดเก็บรวบรวมน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือกำจัดทิ้งอย่างผิดกฎหมาย บทความนี้ได้อธิบายผลกระทบของน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ส่วนประกอบของน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วมีสารโพลิไซคลิกอะโรมาติกซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และเมื่อน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศน์ในน้ำ รวมทั้งยังถูกสะสมและถ่ายทอดในระบบห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งเสนอแนวทางการนำน้ำหล่อลื่นที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การกลั่นใหม่ และการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งการกลั่นใหม่เป็นวิธีที่ให้ประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการกลั่นแต่ละกระบวนการจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดการน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วในประเทศไทย

พงษ์สิทธิ์ บุญรักษา. (2547). ปัญหาน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วกับแนวทางการจัดการในประเทศไทย.  วารสาร มฉก.วิชาการ 8  (15), 59-69.

อ่านบทความฉบับเต็ม

รองเท้าส้นสูงกับท่าทางในชีวิตประจำวัน
มี.ค. 4th, 2016 by rungtiwa

รองเท้าส้นสูงกับท่าทางในชีวิตประจำวัน

บทคัดย่อ:

ท่าทางของแต่ละบุคคลจะดูดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของร่างการที่ปกติ และส่วนต่างๆ  ของร่างกายมีความสัมพันธ์กัน รองเท้าที่สวมใส่ทุกวันอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดท่าทางที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารองเท้าที่สวมนั้น ไม่พอเหมาะกับเท้า หรือรองเท้าส้นสูงมากเกินไป เนื่องจากการสวมรองเท้าส้นสูงมากๆ ทำให้สมดุลของร่างกายเปลี่ยนแปลง ร่างกายต้องปรับแนวต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้ร่างกายทรงท่าอยู่ได้ ท่าทางที่มักปรากฏในผู้ที่สวมรองเท้าส้นสูงมากเกินไป คือ ขณะยืนข้อเท้าอยู่ในท่าเหยียดปลายเท้าลง ข้อเข่าและข้อตะโพกงอ กระดูกสันหลังส่วนเอวแอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งท่าทางเหล่านี้ทำให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ และอื่นๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดกับโครงสร้างและท่าทางของร่างกาย ความสูงของรองเท้าที่สวมเป็นประจำต้องพอเหมาะ สวมแล้วกระชับและพอดีกับเท้า

ลลิดา โรจนธรรมณี. (2547). รองเท้าส้นสูงกับท่าทางในชีวิตประจำวัน.  วารสาร มฉก.วิชาการ 8  (15), 51-58.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับผลการสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งของบัณฑิตพยาบาล มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
มี.ค. 4th, 2016 by rungtiwa

ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับผลการสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งของบัณฑิตพยาบาล  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (The Selected Factors Related to a Professional Nursing License Examination Result of the Huachiew Chalermprakiet University Graduated Nurses)

บทคัดย่อ:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเขิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยคัดสรรที่มีความสัมพันธ์กับผลการสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งของบัณฑิตพยาบาลมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยใช้แบบสอบถามและแบบบันทึกข้อมูลรวม 10 ชุด ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว 2) แบบสอบถามแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 3) แบบสอบถามความวิตกกังวลในสัปดาห์สอบ 4) แบบสอบถามภาวะสุขภาพร่างกายในสัปดาห์สอบ 5) แบบประเมินโครงการพยาบาลฝึกหัด 6) แบบสอบถามความพึงพอใจในบริการห้องสมุดและหอพัก 7) แบบสอบถามความพึงพอใจในการจัดทบทวนความรู้ 8) แบบบันทึกผลการสอบโดยรวมและรายวิชาตลอดหลักสูตร 9) แบบบันทึกผลการสอบรวบยอด และ 10) แบบบันทึกผลการสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ เก็บรวบรวมข้อมูลจากบัณฑิตพยาบาล มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2542 ที่เข้าสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ครั้งที่ 1/2543 จำนวน 42 คน นำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติบรรยาย (descriptive statistics) สถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s product moment correlation) ผลการวิจัยพบว่า ป้จจัยคัดสรรด้านการควบคุมที่มีการความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 คือ เกรดรายวิชาการพยาบาลแม่และเด็ก 1 และ 2 เกรดรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลแม่และเด็ก 2 ผลการสอบรวบยอดการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น สำหรับผลการสอบรวบยอดโดยรวมและเกรดรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลแม่และเด็ก 1 มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และปัจจัยคัดสรรด้านตัวป้อน ด้านกระบวนการดำเนินการมีความสัมพันธ์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับผลการสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาตฯ โดยรวม ผลการวิจัยครั้งนี้สน้บสนุนกรอบแนวคิดระบบการเรียนการสอนบางส่วน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการควบคุมกับผลผลิต พร้อมกันนี้คณะผู้วิจัยได้เสนอข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ และการทำวิจัยครั้งต่อไป Read the rest of this entry »

ระบบสุขภาพองค์รวม
มี.ค. 4th, 2016 by rungtiwa

ระบบสุขภาพองค์รวม

การจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในประเทศไทยได้เริ่มมานาน ระยะแรกมีการสอนทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันตก ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจนกระทั่งมูลนิธิร็อกกี้ เฟอร์เรย์เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมคนไทยเรียนวิชาแพทยศาสตร์ในประเทศแถบตะวันตก โดยเห็นว่าควรส่งเสริมเน้นการแพทย์แผนตะวันตกให้กับนักศึกษาไทย จึงทำให้มีการสอนการแพทย์แผนไทยได้เพียงประมาณ 12 ปีเท่านั้น
ระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการแพทย์อยู่หลายแผนหลายรูปแบบ ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนตะวันตก การแพทย์แผนทิเบต ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าจากการผสมผสานการแพทย์หลายแผนทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้น

เกษม วัฒนชัย. (2547). ระบบสุขภาพองค์รวม. วารสาร มฉก.วิชาการ 8  (15), 5-13.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ความรัก : บำเหน็จทางสังคมกับคุณค่าที่แท้จริง
มี.ค. 4th, 2016 by rungtiwa

ความรัก : บำเหน็จทางสังคมกับคุณค่าที่แท้จริง

บทคัดย่อ:

ความรักจัดเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของจิตวิญญาณประการหนึ่งที่่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เนื่องจากความรักมีทั้งคุณและโทษที่สามารถสร้างปัญหาให้แก่มนุษย์และสังคมได้ ถ้าหากเราขาดสติปัญญา บทความนี้ ได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับความรักที่ได้รับอิทธิพลจากบำเหน็จทางสังคม หมายถึง ปัจจัยทางสังคมทั้งตัวบุคคล สื่อ และค่านิยมที่คนในสังคมหยิบยื่นให้แก่กัน ถ่ายทอดหรือร้บช่วงต่อกันมาอย่างผิดๆ โดยใช้แนวคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นกรอบของการอธิบาย ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงประเภทและความหมายของความรักที่ควรปลูกฝังและควบคุม ค่านิยมทางสังคมเกี่ยวกับความรักที่อาจนำไปสู่หายนภัยที่ต้องเฝ้าระวังและทางออกของปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยการสร้างความรักบนพื้นฐานของปัญญาที่มองเห็นค่า ความหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเรียกว่า สัมมาทิฐิ ตลอดจนแนวทางการป้องกันและปรับความรักที่เป็นอกุศลให้เป็นกุศลด้วยปัญญาและจาคะ คือ การเสียสละ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรักสวยสด งดงาม และอำนวยประโยชน์ให้แก่ชีวิตและสังคม

ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2549). ความรัก : บำเหน็จทางสังคมกับคุณค่าที่แท้จริง. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 107-121.

อ่านบทความฉบับเต็ม

การพยาบาลที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง : แนวโน้มและบทบาทที่ท้าทายของพยาบาลในการดูแลสุขภาพครอบครัว
มี.ค. 3rd, 2016 by rungtiwa

การพยาบาลที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง : แนวโน้มและบทบาทที่ท้าทายของพยาบาลในการดูแลสุขภาพครอบครัว

บทคัดย่อ:

ครอบครัวเป็นแหล่งรวมสุขภาพและความเจ็บป่วยของสมาชิกทุกคน เป็นศูนย์กลางของการดูแลช่วยเหลือ บรรเทาให้สมาชิกแต่ละคนสามารถคงบทบาทหน้าที่ของตนเองไว้ได้อย่างต่อเนื่องภายใต้วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติตนและสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่แวดล้อมครอบครัวนั้นไว้ ซึ่งปัญหาและความต้องการทางสุขภาพของแต่ละครอบครัว จะมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามพลวัตของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ในสภาวการณ์ปัจจุบันสุขภาพของครอบครัวนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพที่มีผลให้ครอบครัวต้องสนใจดูแลสุขภาพของสมาชิกมากขึ้น รวมทั้งพยาบาลเองต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของครอบครัวในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน กระบวนการพยาบาลเป็นแนวปฏิบัติที่พยาบาลใช้ในการดูแลสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถือว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเอกภาพของวิชาชีพ การดูแลสุขภาพที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางโดยใช้กระบวนการพยาบาลเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่ต้องการ ซึ่งจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถในการแสดงบทบาทของพยาบาลที่จะทำให้เห็นว่าการปฏิบัตินั้นสอดคล้องและถูกต้องต่อการพัฒนาสุขภาพที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้บรรลุได้นั้น พยาบาลจะต้องดูแลสุขภาพร่วมกันกับครอบครัวในทุกขั้นตอนตั้งแต่การประเมินภาวะสุขภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดเป้าหมายของการดูแลสุขภาพ การดำเนินวิธีการปฏิบัติพยาบาลที่เป็นไปได้ การกำหนดลำดับความสำคัญในความต้องการของครอบครัว การวางแผนดูแลสุขภาพ การปฏิบัติตามแผนที่วางไว้และการประเมินผล โดยจะต้องขยายมุมมองต่อครอบครัวให้กว้างและลึกมากขึ้นกว่าเดิมในทุกขั้นตอนของการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ตามปกติ กล่าวคือ จะต้องมองครอบครัวในฐานะที่เป็นบริบทของการดูแลสุขภาพสมาชิกร่วมกันมองครอบครัวว่าเป็นหน่วยรวมในฐานะที่เป็นผู้รับบริการ ทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพครอบครัวประสบความสำเร็จ คือ การใช้ทักษะของการทำความเข้าใจ ทักษะการใช้ความคิดเพื่อจับประเด็นและทักษะการจัดการสุขภาพภายใต้บรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพยาบาลกับครอบครัวอย่างเป็นระบบ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้กระบวนการพยาบาลเพื่อการดูแลสุขภาพครอบครัวสำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย. (2549). การพยาบาลที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลาง : แนวโน้มและบทบาทที่ท้าทายของพยาบาลในการดูแลสุขภาพครอบครัว
. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 90-106.

อ่านบทความฉบับเต็ม

 

แรงงานเด็ก : ปัญหาสุขภาพอนามัยกับสิ่งคุกคามความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน
มี.ค. 3rd, 2016 by rungtiwa

แรงงานเด็ก : ปัญหาสุขภาพอนามัยกับสิ่งคุกคามความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

บทคัดย่อ:

การนำเด็กมาใช้แรงงานทั้งในงานภาคอุตสาหกรรม งานภาคบริการ และงานภาคเกษตรกรรมนั้น ก่อให้เกิดปัญหากับเด็กหลายประการ เช่น ปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาอาชีพ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขและคุ้มครองแรงงานเด็กจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งบทความนี้จะเน้นเรื่องปัญหาสุขภาพอนามัยของแรงงานเด็กและความปลอดภัยในการทำาน ที่เกิดจากสิ่งคุกคามจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยอธิบายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสุขภาพของแรงงานเด็ก ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับแรงเด็ก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก การเคลื่อนไหว ระบบกล้ามเนื้อ และด้านจิตใจ และปัญหาสุขภาพอนามัยของแรงงานเด็กที่เกิดจากสิ่งคุกคามและจากสภาพแวดล้อมในการทำาน ซึ่งมีหลายปัจจัยทั้งทางด้านเคมี กายภาพ ชีวภาพ และจิตวิทยาสังคม ส่งผลให้เด็กเกิดการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน หรือเกิดโรคจากการทำงาาน รวมทั้งได้เสนอแนวทางสำหรับควบคุมอันตรายจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำงาน

พงษ์สิทธิ์ บุญรักษา. (2549). แรงงานเด็ก : ปัญหาสุขภาพอนามัยกับสิ่งคุกคามความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 79-89.

อ่านบทความฉบับเต็ม

 

การบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ
มี.ค. 3rd, 2016 by rungtiwa

การบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ (Management of Rabies Control Program in Samutprakarn Province)

บทคัดย่อ:

การวิจัยเชิงพรรณนาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างเดือนกันยายน 2547-กรกฎาคม 2548 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและของสำนังานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 4 คน ผู้เลี้ยงสุนัขที่เป็นเจ้าของสุนัข 44 คน และผู้เลี้ยงสุนัขที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสุนัขจำนวน 16 คนที่ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ทำการเก็บข้อมูลด้วยการศึกษาเอกสาร  และการสัมภาษณ์ด้วยแบบบันทึกและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ความถี่และร้อยละ ผลการิจัยพบว่าการบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลางโดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดยาคุมกำเนิด ทำหมันสุนัขเพศผู้เพศเมีย และฉีดวัคซีน/อิมมูโนโกลบูลิน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในผู้สัมผัสโรค แต่กิจกรรมดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีระบบการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า การประชาสัมพันธ์และประสานงานการควบคุมโรคกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้ากับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด แต่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานส่วนกลาง มีการอบรมอาสาสมัครปศุสัตว์จำนวน 510 ราย (เกินเป้าหมาย) ปัญหาการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า คือ การฉีดวัคซีน การฉีดยาคุมกำเนิด และการทำหมันสุนัขเพศผู้เพศเมีย ในกลุ่มสุนัขที่ไม่มีเจ้าของต่ำกว่าเป้าหมาย กลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขที่เป็นเจ้าของมีความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและการควบคุมโรค การปฏิบัติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ยาคุมกำเนิดและทำหมันสุนัขเพศผู้เพศเมีย สูงกว่ากลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ

กิตติภณ คล้ายเจ๊ก เสาวลักษณ์ ลักษมีจรัลกุล และ วาชรัตน์ นันทเสน. (2549). การบริหารจัดการเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดสมุทรปราการ. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (18), 52-65.

อ่านบทความฉบับเต็ม

มองต่างมุมกับเทคโนโลยี EM
มี.ค. 3rd, 2016 by rungtiwa

มองต่างมุมกับเทคโนโลยี EM

บทคัดย่อ:

ท่ามกลางกระแสของการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorganisms หรือ EM) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แพร่หลายทั้งในด้านการเกษตร การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะ รวมทั้งการนำมาบริโภค รวมทั้งการนำมาบริโภค เป็นต้น เทคโนโลยี EM นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย แต่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กับทุกงานจริงหรือไม่ เพราะในบางกรณีผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยี EM ยังไม่สามารถอธิบาย ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และหลักการทางวิชาการได้อย่างชัดเจน บทความนี้ จึงนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายของเทคโนโลยี EM ทั้งด้านที่มีเหตุผลมารองรับและด้านที่ยังเป็นข้อสงสัย รวมทั้งการตรวจสอบทางวิชาการเพื่อวิเคราะห์ว่าจะสามารถนำเทคโนโลยี EM ไปแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่

วรพจน์ กนกกันฑพงษ์. (2548). มองต่างมุมกับเทคโนโลยี EM. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 90-98.

อ่านบทความฉบับเต็ม

พิบัติภัย : เรื่องที่ควรเรียนรู้และเตรียมตัวรับอย่างมีสติ
มี.ค. 3rd, 2016 by rungtiwa

พิบัติภัย : เรื่องที่ควรเรียนรู้และเตรียมตัวรับอย่างมีสติ

บทคัดย่อ:

พิบัติภัยในบทความนี้ หมายถึง ภัยที่นำความหายนะมาให้แก่มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ พิบัติภัยจากธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราไม่อาจห้ามได้ เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขของธรรมชาติ แต่เราสามารถ เรียนรู้ ป้องกัน และหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่ยกพิบัติภัยจากคลื่นยักษ์สึมานิ เป็นกรณีศึกาษา และพิบัติภัยจากมนุษย์ กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น การประทุษร้ายร่างกาย การทารุณกรรม การฆาตกรรม จนถึงสงครามที่สร้างหายนะให้แก่ชีวิตและสังคมที่มิอาจประเมินค่าได้ ซึ่งในบทความนี้ มุ่งอธิบายพิบัติภัยจากธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยใช้กรอบแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการอธิบาย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ ความหมาย ประเภท มูลเหตุ และผลกระทบของพิบัติภัย ตลอดจนกระทั่งยุทธศาสตร์ในการเตรียมรับอย่างมีสติ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การตั้งรับอย่างมีสติ และการก้าวต่อไป ไม่ยอมแพ้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้อ่านได้หลักการในการเตรียมรับกับพิบัติทั้ง 2 ประเภท อย่างมีสติซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียลงหรืออาจไม่ต้องสูญเสียอะไรเลยก็เป็นได้

ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2548). พิบัติภัย : เรื่องที่ควรเรียนรู้และเตรียมตัวรับอย่างมีสติ. วารสาร มฉก.วิชาการ 9 (17), 64-78.

อ่านบทความฉบับเต็ม

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa