เวชศาสตร์สารสนเทศ (Medical Informatics)
บทคัดย่อ:
เวชศาสตร์สารสนเทศ (medical informatics) เป็นการผสมผสานศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ การจัดการสารสนเทศ การแพทย์ ตลอดจนสหสาขาวิชาที่นำมาใช้ร่วมกันในการออกแบบและจัดการข้อมูลสารสนเทศ และองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเวชศาสตร์สารสนเทศนี้ประกอบไปด้วย สารสนเทศของผู้ป่วย การตรวจร่างกายก่อนการตรวจรักษา การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นสภาพ โดยได้รับมาจากห้องเวชระเบียน ห้องจ่ายยาผู้ป้วยนอก/หรือผู้ป่วยใน ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค และห้องรังสีวิทยา คุณสมบัติของเวชศาสตร์สารสนเทศที่ดีนั้น ควรมีลักษณะต่างๆ เช่น ทันเวลา เป็นปัจจุบัน มีระยะเวลา มีความถูกต้องเที่ยงตรง ความสัมพันธ์กับเรื่องหรืองานที่ปฏิบัติ ความครบถ้วนสมบูรณ์ ความน่าเชื่อถือ ความคงที่ไม่ขัดแย้ง ความชัดเจนเป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนายประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล และช่วยให้การสื่อสารสารสนเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์. (2548). เวชศาสตร์สารสนเทศ. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 54-59.
อ่านบทความฉบับเต็ม
ไวรัสตัวร้าย… ไข้หวัดนก
โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซา สายพันธุ์เอ สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย คือ H5N1 โดยมีสัตว์ปีกเป็นพาหะในการแพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดโรคทั้งในคนและในสัตว์ปีก โดยอาการในคนจะมีลักษณะคล้ายอาการของไข้หวัด คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ส่วนในสัตว์มีอาการซึม ผอม ไม่กินอาหาร ไข้ลด ไอ หายใจลำบากและมีอาการทางระบบประสาท มีอัตราการตายของสัตว์ปีกร้อยละ 100 การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยวิธี Rapid test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองอย่างรวดเร็วร่วมกับประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก และสัตว์ปีกมีอาการป่วยตายผิดปกติ ในปัจจุบันโรคไข้หวัดนกยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ในปัจจุบันยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคไข้หวัดนก คือ ทามิฟลู (tamiflu) ซึ่งตัวยานี้ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดนกแต่จะมีผลทำให้อายุของโรคสั้นลง และลดความรุนแรงของโรค การป้องกันทำได้โดยรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนอย่างเพียงพอ สถานที่อาศัยมีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ปีก แต่ถ้าสัมผัสควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และถ้ามีสมาชิกในบ้านป่วยและสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนกควรรีบไปพบแพทย์
วิไล ตาปะสี. (2548). ไวรัสตัวร้าย… ไข้หวัดนก. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 45-53.
ความดันโลหิตสูง : การป้องกัน และการดูแล
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย การป้องกันโดยเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าเกิดโรคแล้วควรได้รับการดูแลรักษาโดยเร็วที่สุดโดยการปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงและการใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่อวัยวะที่สำคัญ คือ ตา ไต หัวใจและสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิไลวรรณ ตรีถิ่น. (2548). ความดันโลหิตสูง : การป้องกัน และการดูแล. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 38-44.
ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว (Proprioception)
คุณลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษย์คือ การเคลื่อนไหว องค์ประกอบที่สำคัญต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายได้แก่ ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว ซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของข้อต่อและการเคลื่อนที่ส่วนของร่างกายในอากาศ กลับเข้าสู่ศูนย์ประสาทส่วนกลางเพื่อควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ยินยอมให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างมั่นคงและแม่นยำ การเปลี่ยนแปลงปริมาณสัญญาณป้อนกลับของความรู้สึกของการเคลื่อนไหว จะทำให้ความสามารถในการควบคุมระบบประสาทและกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงด้วย อายุ ความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ รวมทั้งการสวมใส่อุปกรณ์ประคองข้อต่อ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของความรู้สึกของการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายเป็นประจำทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการสวมใส่อุปกรณ์ประคองข้อต่อ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นหรือเนื้อเยื่อที่มีตัวรับความรู้สึกเชิงกลเกิดการบาดเจ็บนั้น สามารถช่วยแก้ไขความบกพร่องในการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อที่ทำให้เกิดความผิดปกติของความรู้สึกของการเคลื่อนไหว ข้อสั่นคลอน ไม่มั่นคง และทำงานได้ลดลงได้
ดวงพร เบญจนราสุทธิ์. (2548). ความรู้สึกของการเคลื่อนไหว. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 29-37.
ประสบการณ์การดูแลอย่างต่อเนื่องโดยครอบครัวเป็นศูนย์กลางในมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว
การดูแลที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง (Family-centered care) เป็นแนวคิดหนึ่งของการบริการสุขภาพที่ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทครอบครัวต่อสุขภาพของสมาชิก และเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้บริการอย่างต่อเนื่อง การศึกษาและการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบริการสุขภาพในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องตามมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว โดยศึกษาว่าครอบครัวมีบทบาทและมีปัญหาในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยอย่างไร ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการและคาดหวังการช่วยเหลือสนับสนุนหรือการบริการจากบุคลากรทางด้านสุขภาพอย่างไร วิธีการวิจัยที่ใช้ในการศึกษา คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน และต้องมาโรงพยาบาลตามแพทย์นับเป็นระยะๆ เพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 7 ราย และสมาชิกของครอบครัวที่มีบทบาทหลักในการดูแลผู้ป่วย ตลอดระยะของการเจ็บป่วย จำนวน 10 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าครอบครัวเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพของบุคคล บทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลผู้ป่วย การประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วย การตัดสินใจจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย การดูแลให้ผู้ป่วยปลอดภัย การจัดการให้ผูป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ปัญหาของครอบครัวในการให้การดูแลผู้ป่วย ได้แก่ การได้รับข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรค การรักษา และการดูแลผู้ป่วยไม่เพียงพอ ขาดการมีส่วนร่วมในการักษาพยาบาล มีภาวะตึงเครียดจากการให้การดูแลผู้ป่วย และประสบปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งที่ครอบครัวคาดหวังจากบุคลากรสุขภาพ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาพยาบาล การสอนคำแนะนำ คำปรึกษาและการช่วยเหลือสนับสนุนในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ผลการวิจัยได้สนับสนุนแนวคิดการดูแลที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ได้สะท้อนกระบวนทัศน์ในการให้บริการสุขภาพของบุคลากรทางด้านสุขภาพ และได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการต่อการบริกาสุขภาพ การพัฒนาการบริการสุขภาพโดยใช้แนวคิดการดูแลที่เน้นครอบครัวเป็นศุนย์กลาง ควรมีการประเมินทัศนะของบุคลากรสุขภาพและผู้บริการต่อองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ ตลอดจนควรมีการทดสอบประสิทธิภาพของการบริการสุขภาพที่พัฒนาขึ้นต่อไป
รัชนี นามจันทรา นภาพร แก้วนิมิตชัย อรพินท์ สีขาว พรศิริ พันธสี ลลิตา ตรีวิทยาภูมิ สิรินดา ศรีจงใจ และ ศิริพจน์ มะโนดี. (2548). ประสบการณ์การดูแลอย่างต่อเนื่องโดยครอบครัวเป็นศูนย์กลางในมุมมองของผู้ป่วยและครอบครัว. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 14-28.
ความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (Prevalence of Hemoglobinopathies Among Huachiew Chalermprakiet Universityþs Personnels)
ได้ประเมินความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากรมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติจำนวน 485 ราย พบว่า จำนวน 233 ราย มีความคิดปกติเมื่อทดสอบด้วยวิธี osmotic fragility (OF test) และ dichlorophenol indophenol test (DCIP test) เมื่อนำเลือดที่มีความผิดปกติดังกล่าวไปทดสอบหาชนิดของฮีโมโกลบินด้วยวิธี cellulose acetate electrophoresis และตรวจหาปริมาณฮีโมโกลบิน A2 ด้วยวิธี elution technique พบว่าเป็น Hb EA, Hb EE,β-thalassemia carrier และ Hb A2 AH เท่ากับ 145 (29.8%), 25 (5.2%), 8 (1.6%) และ 3 (0.6%) ราย ตามลำดับ ในขณะที่จำนวน 52 ราย (10.7%) ไม่สามารถวิเคราะห์ได้แน่ชัดว่าเป็นความผิดปกติชนิดใด อาจเป็น α-thalassemia carrier หรือฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดอื่นๆ
Prevalence of hemoglobinopathies was investigated in 485 Huachiew Chalermprakiet Universityþs personnels. It was found that 233 cases were abnormal as assessed by osmotic fragility test (OF test) and dichlorophenol indophenol test (DCIP test). All positive tests above were analyzed for hemoglobin typing by cellulose acetate electrophoresis and hemoglobin A2 was quantitatively analyzed by an elution technique. It was shown that Hb EA, Hb EE, β-thalassemia carrier and Hb A2 AH were detected to be 145 (29.8%), 25 (5.2%), 8 (1.6%) and 3 (0.6%) samples, respectively, whereas 52 (10.7%) samples would not be analyzed clearly, suggesting α-thalassemia carrier or other thalassemic cases.
ยุทธนา เพ็งแจ่ม ประไพ เหมหอม สุวรรณา เสมศรี ธนสาร ศิริรัตน์ เพ็ญนภา ชมะวิต และ นันทวดี เนียมนุ้ย. (2548). ความชุกของฮีโมโกลบินผิดปกติในบุคลากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 3-13.
English as a Second Language
Suwit Piankijagum. (2547). English as a Second Language. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 109-110.
อาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส : ทางออกของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในชุมชนเมือง
บทความนี้มุ่งให้ทราบและตระหนักถึงบทบาทของอาสาสมัครในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่องค์กรภาครัฐ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มเล็งเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่องใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น มีการแข่งขันสูง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และทวีความรุนแรง โดยเฉพาะครอบครัวที่เป็นรากเหง้าของปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชน เช่น ปัญหาการกระทำทารุณกรรม ทั้งต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ตลอดจนการปล่อยปละละเลยทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ปัญหาเล่านี้หากไม่มีผู้คอยประสาน ช่วยเหลือ ดูแล อาจจะทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อต้องทนทุกข์ทรมาน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และสังคม ทั้งนี้เนื่องจากการให้บริการจากภาครัฐยังไม่สามารถกระทำได้อย่างทั่วถึง และตรงกับความต้องการ ดังนั้น การมีอาสาสมัครในชุมชนจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงรุก ด้วยการส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้าร่วมกันแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนอย่างยั่งยืน
นุชนาฎ ยูฮันเงาะ. (2547). อาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส : ทางออกของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในชุมชนเมือง. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 101-108.
ความตั้งใจย้ายที่อยู่อาศัยภายในเขตกรุงเทพมหานคร (Intention to Move Residence within Bangkok Municipality)
การย้ายที่อยู่อาศัยของประชากรจำนวนมากหรือย้ายบ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวผู้ย้ายประชากรในชุมชนต้นทางและชุมชนปลายทางของการย้ายที่อยู่อาศัย และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ในด้านการจัดการงบประมาณ ระบบสาธารณูปโภค การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ความรุนแรงของปัญหาขึ้นอยู่กับระดับและแบบแผนของการย้ายที่อยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับของความตั้งใจและสาเหตุของการย้ายที่อยู่อาศัยของชาวกรุงเทพมหานคร โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการวิจัย เรื่อง ความเป็นเมืองและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในกรุงเทพณปี 1993 ซึ่งเป็นงานวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Australian National University ใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,201 คน ผลการศึกษาปรากฏว่า ผู้ชายย้ายที่อยู่มากกว่าผู้หญิง ผู้ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาจะย้ายถิ่นมาก ผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดจะย้ายถิ่นมากกว่าผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ผู้ที่ได้รับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์จะย้ายถิ่นน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับข่าวสาร และผู้ที่ทำงานในกรุงเทพฯ ระหว่าง 8-12 ปี จะตั้งใจย้ายที่อยู่อาศัยน้อยกว่าผู้ที่ทำงานระยะสั้นกว่า นอกจากนี้ หากชาวกรุงเทพฯ รู้สึกว่าบริเวณที่อยู่อาศัยมีมลพิษสูงขึ้นจะตั้งใจย้ายที่อาศัยมาก แต่หากรู้สึกว่าในชุมชนมีประชากรหนาแน่นขึ้นจะตั้งใจย้ายที่อยู่อาศัยน้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะประชากรมีความคาดหวังมากขึ้นที่จะประกอบอาชีพต่างๆ อยู่ในชุมชน
เสาวนิจ รัตนวิจิตร นิจอนันต์ชัย. (2547). ความตั้งใจย้ายที่อยู่อาศัยภายในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 93-100.
สัปปายะ 7 : หลักการจัดระเบียบเพื่อความสมดุลของครอบครัว/สังคม
สัปปายะเป็นหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมแสวงหา เพราะเป็นเรื่องที่เอื้อให้การปฏิบัติธรรมบรรลุผลได้ง่ายขึ้น หลักการนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดระเบียบครอบครัว สถาบัน องค์กร และส้งคมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหลักที่พูดถึงความเหมาะสมหรือความสมดุลของที่อยู่อาศัย ทำเลที่ประกอบอาชีพ การพูดจา บุคคลที่ควรคบหา การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ สภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และการบริหารร่างกายอย่างถูกต้องเหมาะสมอันเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะส่งผลดีต่อบุคคลและครอบครัวแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศชาติและธรรมชาติอื่นๆ ด้วย
ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2547). สัปปายะ 7 : หลักการจัดระเบียบเพื่อความสมดุลของครอบครัว/สังคม. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 80-92.