SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ในวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาพื้นฐาน : รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
มี.ค. 13th, 2016 by rungtiwa

กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ในวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาพื้นฐาน : รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

บทคัดย่อ:

วิชาภูมิคุ้มกันวิทยาพื้นฐานเป็นวิชาที่มีเนื้อหาซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน ต้องอาศัยความสามารถของผู้เรียนในการผนวกความรู้เข้าด้วยกันควบคู่ไปกับการใช้จินตนาการ โดยการบูรณาการความรู้เข้ากับการลงมือกระทำเพื่อให้เกิดทักษะและความเข้าใจเนื้อหาของวิชา การจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้เลือกจากเนื้อหาที่มีความสำคัญเป็นแกนหลักของวิชาคือเรื่อง แอนติเจน แอนติบอดี คอมพลีเมนต์ และเทคนิคพื้นฐานทางภูมิคุ้มกันวิทยามาเป็นแบบจำลองของการศึกษา โดยจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของเนื้อหาในแต่ละเรื่อง แต่เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้เนื้อหาด้วยตนเองแล้วออกแบบ กิจกรรมตามความถนัด นำเนื้อหาที่เป็นนามธรรมมาถ่ายทอดให้เป็นรูปธรรมหรือจัดกิจกรรมที่อาจารย์เป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของ edutainment เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาด้วยความสนุกสนาน กิจกรรมในรูปแบบดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาที่ 1/2545 ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อพิจารณาจากร้อยละของจำนวนนักศึกษาที่ได้คะแนนมากกว่า 50% และร้อยละของผู้ที่สอบผ่านในวิชานี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้สอนได้ร่วมกันคิดขึ้นเพื่อแสวงหาวิธีการที่ดีและเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ศราวุธ สุทธิรัตน์ และ ทวีพร พันธุ์พาณิชย์. (2547). กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ในวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาพื้นฐาน : รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 27-32.

อ่านบทความฉบับเต็ม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถกับความเป็นอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์
มี.ค. 13th, 2016 by rungtiwa

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถกับความเป็นอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อ:

เนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามิ่งมงคลเฉลิมพระชนมพรรษาหกรอบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระแม่เจ้าของชาวไทย ในปีพุทธศักราช 2547 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ล้นพ้น มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติจึได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายบทความเรื่อง “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถกับความเป็นอัจริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์” โดยมีวัตถุประงค์ประการแรกเพื่อเทิดพระเกียรติคุณที่มีอยู่เป็นอเนกอนันต์และหลายหลายแก่ปวงประชาในแผ่นดินไทย จนเป็นที่ยกย่องสดุดีในนานาประเทศทั่วโลก ประการที่สอง เพื่อสแดงให้ทวยราษฎร์ทั่วไทยได้ประจักษ์พระปรีชาสามารถในความเป็นอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ในการดำเนินโครงการพระราชดำริ ดังเช่น โครงการป่ารักน้ำ เป็นต้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการดำเนินโครงการได้อย่างเป็นระบบแบบแผน มีการกำหนดสมมติฐานได้อย่างถูกต้องชัดเจน ตรงตามความต้องการของประชาราษฎร์ มีการวางแผนเพื่อพิสูจน์คำอธิบายในสมมติฐานที่ตั้งไว้ มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลองเพื่อหาข้อสรุปและทำโครงการขยายผล จึงทำให้โครงการพระราชดำริมีความชัดเจน แม่นยำ สามารถดำเนินการสำเร็จได้ด้วยดีในทุกท้องที่ และยังมีลักษณะเฉพาะการทำงานแบบบูรณาการทางหลักวิชา

ลาวัลย์ ชัยวิรัตน์นุกูล และ อภิญญา สุวรรณภัณฑ์. (2547). สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถกับความเป็นอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 5-14.

อ่านบทความฉบับเต็ม

 

 

การพัฒนารูปแบบการดูแลตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สังกัดกรมสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร
มี.ค. 10th, 2016 by rungtiwa

การพัฒนารูปแบบการดูแลตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สังกัดกรมสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร

Development of a Self-Care Model for Matthayom Suksa 4 Students in the Department of General Education within Bangkok Metropolitan

บทคัดย่อ:

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลตนเองของนักเรียน ศึกษาความรู้ ความสามารถ และพฤติกรรมสุขภาพในการดูแลตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สังกัดกรมสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรง จำนวน 24 คน และโรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรง จำนวน 27 คน โดยรูปแบบการดูแลตนเองประกอบด้วยเรื่อง การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับ การขับถ่าย การทำความสะอาดร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางด้านกายวิภาคและสรีรวิทยาในวัยรุ่น การมีเพศสัมพันธ์และความรู้เรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิด การเสพสิ่งเสพติดและความรู้เรื่องสิ่งเสพติด การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วย การดูแลสุขภาพจิตของตนเอง การป้องกันโรคและอุบัติเหตุต่าง ๆ Read the rest of this entry »

การศึกษารูปแบบการปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชนที่พึงประสงค์ในกลุ่มผู้บริโภค : กรณีศึกษา ณ ศูนย์ยา มฉก.
มี.ค. 10th, 2016 by rungtiwa

การศึกษารูปแบบการปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชนที่พึงประสงค์ในกลุ่มผู้บริโภค : กรณีศึกษา ณ ศูนย์ยา มฉก.
The Study of the Consumer’s Needs in the Community Pharmacy Practice : Case Study of HCU Drug Center

บทคัดย่อ:

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานบริการเภสัชกรรมชุมชนให้สอดคล้องกับความประสงค์ของผู้บริโภค โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคของศูนย์ยา มฉก. จำนวน 403 ราย จำแนกเป็นประชาชนทั่วไป 158 ราย (ร้อยละ 39.2) บุคลากรมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 94 ราย (ร้อยละ 23.3) และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย 151 ราย (ร้อยละ 37.5) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติที่ไม่ใช้ พาราเมตริก ครูสคาลวอลลิสและไค-สแควร์  Read the rest of this entry »

การเพิ่มเชาว์อารมณ์ (Emotional Quotient) ด้วยการฝึกสมาธิ : บทพิสูจน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

การเพิ่มเชาว์อารมณ์  (Emotional Quotient) ด้วยการฝึกสมาธิ : บทพิสูจน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

บทคัดย่อ:

เชาว์อารมณ์ (Emotional Quotient) ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเชาว์อารมณ์เป็นเรื่องของการบริหารจัดการความรู้สึกและอารมณ์ภายในตนและการบริหารจัดการอารมณ์ของตนในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนอื่น การฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาก็เป็นวิธีหนึ่งของการพัฒนาเชาว์อารมณ์ที่ทำให้ผู้ฝึกสามารถควบคุมภาวะทางอารมณ์เพื่อสามารถบริหารจัดการความรู้สึกของตนและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่นได้ เพราะการฝึกสมาธิ คือ การสะสมพลังจิตและเราก็สามารถนำพลังจิตไปใช้ในการทำงานได้ ยิ่งมีพลังจิตมากเท่าใด งานก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น ผู้ไม่มีพลังจิตจึงเป็นผู้ที่มีอารมณ์หงุดหงิด ขาดการไตร่ตรองที่ทำให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการพัฒนาเชาว์อารมณ์ด้วยการฝึกสมาธิจะทำให้ผู้ฝึกได้คุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

อรรถสิทธิ์ สุนาโท. (2548). การเพิ่มเชาว์อารมณ์  (Emotional Quotient) ด้วยการฝึกสมาธิ : บทพิสูจน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 100-112.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ประเพณีรับบัวที่วัดบางพลีใหญ่ใน : สารัตถะที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ประเพณีรับบัวที่วัดบางพลีใหญ่ใน : สารัตถะที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้

บทคัดย่อ:

ประเพณีรับบัวหรือโยนบัวเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านานและมีสาระน่ารู้หลายเรื่อง เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิทัศน์เกี่ยวกับท้องที่ คติชนวิทยา เรื่องเล่าที่ทรงคุณค่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาสร้างสรรค์ก่อให้เกิดประเพณีที่งดงาม วิถีชีวิตทางจริยธรรมที่เอื้ออาทรต่อกันของคนในอดีต โดยเฉพาะปรัชญาธรรมจากดอกบัว ดอกไม้ประจำพระพุทธศาสนาที่เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสาระที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา หมายถึง ศาสนาที่มุ่งให้ศาสนิกใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา มิใช่ใช้แต่ศรัทธาเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้คนไม่เข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย วิธีการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่แท้จริงของเรื่องนั้นๆ จะกลายเป็นการปฏิบัติตามๆ กัน โดยปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง กลายเป็นการสืบสานกันแบบมือบอดที่นับวันจะทำให้สาระสำคัญหรือเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาเลือนหายไป

ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2548). ประเพณีรับบัวที่วัดบางพลีใหญ่ใน : สารัตถะที่ชาวพุทธต้องเรียนรู้. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 84-99.

อ่านบทความฉบับเต็ม

ทำอย่างไรให้ห้องสมุดมีชีวิต
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

ทำอย่างไรให้ห้องสมุดมีชีวิต

บทคัดย่อ:

กล่าวถึงความหมายของห้องสมุดชีวิต วิธีทำให้ห้องสมุดมีชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ด้านการบริหาร ด้านการบริการ ด้านบุคลากร ด้านทรัพยากรสารสนเทศ ด้านระเบียบการใช้บริการ ด้านอาคาสถานที่ ด้านครุภัณฑ์และฐานข้อมูล ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านผู้ใช้บริการ เป็นต้น และการสนองตอบนโยบาย

ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์. (2548). ทำอย่างไรให้ห้องสมุดมีชีวิต. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 58-71.

อ่านบทความฉบับเต็ม

การค้าระหว่างประเทศบนอินเทอร์เน็ต
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

การค้าระหว่างประเทศบนอินเทอร์เน็ต

บทคัดย่อ:

อินเทอร็เน็ต (internet) เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายขนาดเล็กจำนวนมากเข้าด้วยกัน โดยผ่านโครงข่ายทางคมนาคม อินเทอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาลที่อำนวยประโยชน์ให้ทุกคน ทุกอาชีพ ได้เข้ามาใช้ข้อมูลได้ในราคาถูก พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เป็นการทำธุรกิจโดยผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดการสินค้าคงคลัง การให้บริการลูกค้า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ต (internet) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มีบทบาทและความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างาก เพราะมีความสะดวกรวดเร็วในการติตต่อสื่อสาร มีผู้ซื้อจำนวนมาก มีแหล่งขายสินค้าขนาดใหญ่ ทั้งประหยัดเงินทุนและยังสามารถทำการค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง พ่อค้าระหว่างประเทศสามารถใช้อินเทอร์เน็ต (internet) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ในการค้นหาลูกค้าและประชาสัมพันธ์สินค้าได้หลายวิธีการไม่ว่าจะเป็นการใช้ search engine, E-mail, catalog online, newsgroups, newsletter การเปิดร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต หรือการวางแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆ

เพ็ญศิริ สุธรรมโน. (2548). การค้าระหว่างประเทศบนอินเทอร์เน็ต. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 47-57.

อ่านบทความฉบับเต็ม

กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร

บทคัดย่อ:

การบริหารองค์การให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักบริการว่าจะมีทัศนคติและวิสัยทัศน์ต่อทรัพยากรทางการบริหารในมุมมองอย่างไร นักบริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ขององค์การในระยะยาว และให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีบทบาทสำคัญในการที่จะใช้กุญแจ 10 ดอก ซึ่งเป็นทัศนคติและวิสัยทัศน์อันจะเป็นมุมมองในการบริหารทรัพยากรขององค์การ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ขององค์การ อนึ่งกุญแจสำคัญทั้ง 10 ดอกนี้ล้วนแต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จทางการบริการ ทั้งนี้เพราะผู้บริหารจะต้องรู้จักประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เปรียบเสมือนการเลือกใช้ลูกกุญแจไขให้ถูกคู่กับแม่กุญแจจึงจะประสบความสำเร็จในการไขกุญแจได้ อย่างไรก็ตาม กุญแจ 10 ดอกนี้จะเป็นแสงไฟที่ช่วยส่องนำทางเพื่อทำให้การบริหารดำเนินไปอย่างมีทิศทาง มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล

สถาพร ปิ่นเจริญ. (2548). กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 21-34.

อ่านบทความฉบับเต็ม

การรับรู้ความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและการจัดการกับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วย
มี.ค. 5th, 2016 by rungtiwa

การรับรู้ความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและการจัดการกับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วย

บทคัดย่อ:

ความเครียดเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ดังนั้น การแสวงหาความรู้ในเรื่องของความเครียดเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเครียดในครั้งนี้เป็นการศึกษาการวิจัยชนิดพรรณนาโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้ความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด และการจัดการกับความเครียดของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในการฝึกปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลจากเนื้อหาข้อมูล (content analysis) ผลการวิจัยสรุปออกมาได้ 4 ประเด็น คือ ความหมายของความเครียด ผลของความเครียด ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด และการจัดการกับความเครียดในเรื่องของความหมายของความเครียด ผู้ให้ข้อมูลอธิบายว่าความเครียด คือ ความไม่สบายใจ และการไม่มีความสุข ซึ่งกดดันทำให้ขาดสติในการทำงาน และก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง และเบื่อที่จะทำงานส่วนผลของความเครียดนั้น ผู้ให้ข้อมูลอธิบายผลของความเครียดออกเป็น 4 ด้าน ด้วยกัน คือ บุคคลกิจกรรม และงานที่ได้รับมอบหมาย การเรียนการสอน และความพร้อม ส่วนประเด็นสุดท้ายนั้นนักศึกษาพยาบาลผู้ให้ข้อมูลมีการจัดการความเครียด 2 ลักษณะ คือ การจัดการกับความเครียดโดยพึ่งตนเอง และการจัดการความเครียดโดยพึ่งพาผู้อื่น การวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอนและการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพแก่นักศึกษาพยาบาลต่อไป Read the rest of this entry »

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa