SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรไทย 10 ชนิด ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC 25923, Bacillus cereus และ Escherichia coli ATCC 25922
ก.ย. 12th, 2016 by rungtiwa

ฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรไทย 10 ชนิด ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC 25923, Bacillus cereus และ Escherichia coli ATCC 25922

Antibacterial Activities of Ten Thai Herbal Extracts against Staphylococcus aureus ATCC 25923, Bacillus cereus and Escherichia coli ATCC 25922

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรไทย 10 ชนิด โดยใช้ 95% เอทานอลเป็นตัวสกัด (ขมิ้นชัน ชุมเห็ดเทศ จันทน์แดง จันทน์แปดกลีบ ฝาง พริกไทยดำ ฟ้าทะลายโจร ยี่หร่า สมอไทย และอบเชย) ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC 25923, Bacillus cereus และ Escherichia coli ATCC 25922 โดยวิธี agar well diffusion พบว่า สารสกัดสมุนไพรไทยทุกชนิดยับยั้ง S. aureus ATCC 25923 ได้ สารสกัดสมุนไพรไทย 7 ชนิด ยับยั้ง B. cereus ได้ สารสกัดสมุนไพรไทย 5 ชนิดยับยั้งเชื้อได้ทุกชนิด โดยสารสกัดจากฝางแสดงฤทธิ์การยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดได้ดีที่สุด เมื่อทดสอบหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโต (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) โดยวิธี broth dilution พบว่าฝางมีค่า MIC เท่ากับ MBC ต่อเชื้อ S. aureus ATCC 25923, B. cereus และ E. coli ATCC 25922 คือ 8, 2 และ 1 มิลลิกรัม ต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพและประเมินทางเภสัชวิทยาของฝางต่อไป Read the rest of this entry »

ผลการออกกำลังกายด้วยท่าฤๅษีดัดตนต่อความโค้ง และช่วงการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว ในนักศึกษาหญิงระดับมหาวิทยาลัย
ก.ย. 12th, 2016 by rungtiwa

ผลการออกกำลังกายด้วยท่าฤๅษีดัดตนต่อความโค้ง และช่วงการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว ในนักศึกษาหญิงระดับมหาวิทยาลัย

Effects of Ruesi-Dudton Exercise on Thoracolumbar Curvature and Range of Motion in Female University Students

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลระยะสั้นและระยะยาวของการออกกำลังกายด้วยฤๅษีดัดตนต่อการเคลื่อนไหวของลำตัวและมุมโค้งของกระดูกสันหลังส่วนอกและเอวในนักศึกษามหาวิทยาลัย เพศหญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ อายุ 18 – 25 ปี จำนวน 40 ราย อาสาสมัครได้รับการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออกกำลังกายและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 ราย โดยการสุ่ม อาสาสมัครกลุ่มออกกำลังกายได้รับการฝึกออกกำลังกายด้วยฤๅษีดัดตนเป็นเวลา 30 นาที/วัน จำนวน 3 วัน/สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการฝึกออกกำลังกายด้วยฤๅษีดัดตนระหว่างการเข้าร่วมการวิจัย อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มได้รับการวัดมุมโค้งของกระดูกสันหลังส่วนอกและเอวและการเคลื่อนไหวของลำตัว 3 ครั้ง คือ ก่อนการวิจัย และหลังการเข้าร่วมการวิจัยในสัปดาห์ที่ 1 และ 6 ผลการศึกษา พบว่า ในสัปดาห์ที่ 1 อาสาสมัครกลุ่มทดลองสามารถแอ่นลำตัวได้มากกว่า และในสัปดาห์ที่ 6 อาสาสมัครมีมุมความโค้งของกระดูกสันหลังส่วนอกน้อยกว่า และสามารถแอ่น ก้ม และเอียงลำตัวได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นประโยชน์ของการออกกำลังกายด้วยฤๅษีดัดตนต่อมุมโค้งของกระดูกสันหลังและการเคลื่อนไหวของลำตัวในนักศึกษามหาวิทยาลัยเพศหญิงซึ่งเป็นกลุ่มที่มักมีการเคลื่อนไหวน้อยและกิจกรรมส่วนใหญ่ในท่านั่งงอตัวเป็นเวลานาน Read the rest of this entry »

ความสัมพันธ์ระหว่างอาการปวด ข้อฝืด ความสามารถในการใช้งาน ข้อกับการทรงตัวของผู้สูงอายุ ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในชุมชน เทศบาลตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
ก.ย. 12th, 2016 by rungtiwa

ความสัมพันธ์ระหว่างอาการปวด ข้อฝืด ความสามารถในการใช้งานข้อกับการทรงตัวของผู้สูงอายุ ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในชุมชน เทศบาลตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

Relationship among pain, stiffness, function of knee joint and balance in community-dwelling elderly people with knee osteoarthritis at Bangsaothong Municipal District, Bangsaothong District Samutprakarn Province

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอาการปวด ข้อฝืด ความสามารถในการใช้งานข้อ การทรงตัวและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาการปวด ข้อฝืด ความสามารถในการใช้งานข้อกับการทรงตัวของผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในชุมชนเทศบาลตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมใน จำนวน 128 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามความสามารถในการทรงตัว (Berg balance test) และแบบประเมิน Thai modified WOMAC (Western Ontario and McMaster University) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson correlation) Read the rest of this entry »

กลบท : ภูมิปัญญาไทยในโลกแห่งกวีนิพนธ์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

กลบท : ภูมิปัญญาไทยในโลกแห่งกวีนิพนธ์

บทคัดย่อ

กลบทและกลอักษรเป็นรูปแบบหนึ่งของงานกวีนิพนธ์ที่มีหลักฐานทางวรรณคดีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รูปแบบของกลบทแสดงถึงปรีชาชาญอันล้ำเลิศของบรรพชนไทยในการสร้างสรรค์ตัวอักษรเป็นแม่บทอันมีลีลา ความไพเราะและความหมายที่หลากหลายและงดงามเป็นรากฐานอันวิเศษแสดงถึงความอลังการในงานกวีนิพนธ์ที่มีอิทธิพลต่อการรังสรรค์งานของกวีไทยในยุคปัจจุบัน

ศราวุธ สุทธิรัตน์. (2546). กลบท : ภูมิปัญญาไทยในโลกแห่งกวีนิพนธ์.วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 90-99.

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี

บทคัดย่อ

บทความทางวิชาการเรื่อง “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลการศึกษาค้นคว้าเหตุการณ์ในอดีตจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโบราณวัตถุ คือ อิฐดินเผาที่ค้นพบ ณ วัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดตาก โดยสันนิษฐานว่า อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี อาจเป็นหลักฐานโบราณวัตถุสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวัตถุชิ้นนี้ได้มาจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่อาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอิฐดินเผา คือ เหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่ท้ายสระ ตามหลักฐานที่ปรากฏจารึกบนอิฐดินเผาว่า “รัชสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ ๕๔” และ บทบาทของชาวจีนในเมืองตากสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจารึกไว้ว่า “คนแซ่เจิงเป็นผู้สร้างถวาย” น่าจะมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้สามารถตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในเมืองตากได้อย่างราบรื่น

สำหรับแนวทางการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในแนวกว้าง เพื่อเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ให้ นักวิชาการหรือนักวิจัยที่สนใจนำไปศึกษาค้นคว้ารายละเอียดระดับลึกยิ่งขึ้น โดยพบว่า หลักฐานโบราณวัตถุอิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี และหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่ค้นพบ ยังไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ในเรื่องความเป็นมาของวัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือแม้แต่ที่มาของอิฐดินเผาว่าเป็นชิ้นส่วนใดของสิ่งก่อสร้างภายในวัดร้างแห่งนี้ แต่หลักฐานที่พบทำให้เชื่อได้ว่า มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองตากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีบทบาททางสังคมอย่างชัดเจนในฐานะผู้อุทิศกุศลในการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแก่วัด ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประเด็นเส้นทางการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตากของชาวจีนในเมืองตาก อาจจะเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางเดินทัพของทหาร หรือเส้นทางที่พ่อค้าเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมืองอยุธยากับเมืองตากที่เรียกว่า ตาก-ระแหงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป

รายการอ้างอิง

 

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสุวนัน ขวัญทอง. (2546). หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 83-89.

จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์

บทคัดย่อ

กีฬาจัดเป็นสันทนาการประการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตและสังคม โดยมีปรัชญาพื้นฐานสำคัญคือการทำคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา บุคลิกภาพและสังคม แต่ปัจจุบันได้เกิดปัญหาขึ้นกับวงการกีฬามากมาย ปัญหาที่ว่านี้คือปัญหาที่เกิดจากตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งหมด เช่น ผู้แข่งขัน ผู้ตัดสิน ผู้ชมการแข่งขัน ผู้สนับสนุน และปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการพนันที่เข้าไปทำลายสารัตถะของการกีฬาและก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เมื่อวิเคราะห์ตามหลักพุทธจริยศาสตร์จะได้คำตอบที่ว่า ปัญหานี้เกิดจากความบกพร่องทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น กระบวนการแก้ไขปัญหานี้จึงอยู่ที่การหาวิธีการปลูกจิตสำนึกเชิงจริยธรรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งหมดให้เป็นไปตามปรัชญาของการกีฬาที่ว่า “แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน”

ธีรโชติ เกิดแก้ว.  (2546). จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 72-82.

ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการ เปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการเปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก

บทคัดย่อ

พระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตกมีแนวความคิดว่าด้วยเรื่องความต้องการที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทั้งสองยอมรับว่าความต้องการเป็นกิเลสอย่างหนึ่งของมนุษย์ต่างกันก็ตรงที่ว่าพระพุทธศาสนามองว่าความต้องการเป็นสิ่งที่สามารถลดลงได้จากการฝึกฝนและพัฒนาตนของมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา แต่ปรัชญาตะวันตกมองว่าความต้องการไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ เพราะถือว่าความต้องการให้ความสุขแก่มนุษย์และก่อให้เกิดการแสวงหาสิ่งใหม่ แนวคำสอนของนักปรัชญาตะวันตกหลายคนไม่ว่าจะเป็น ฟรานซิส เบคอน เรอเน่ เดการ์ต เป็นต้น ต่างก็ส่งเสริมและกระตุ้นความต้องการของมนุษย์ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวตะวันตกจึงเป็นไปในลักษณะที่ส่งเสริมความต้องการ ในขณะที่พระพุทธศาสนาสอนให้ดำเนินชีวิตเพื่อลดความต้องการ ลดการแย่งชิงผลประโยชน์ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติแบบเกื้อกูลต่อธรรมชาติ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการเปรียบเทียบแนวความคิดที่แตกต่างว่าด้วยเรื่องความต้องการระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก

วิชัย สุนาโท. (2546). ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการเปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 61-71.

การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการศึกษาภาษาจีนนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับประเทศจีน ไม่ว่าด้านธุรกิจหรือศิลปะวิทยาการด้านอื่นๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ ด้วยเหตุนี้ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษาภาษาจีนเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน แต่เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่งทำให้การศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยต้องชะลอหรือชะงักการพัฒนา ปัจจุบันผู้ที่มีวิสัยทัศน์จึงต้องมองปัญหาการศึกษาภาษาจีนของไทยให้กระจ่างเพื่อจะได้พัฒนาให้เป็นระบบและก้าวไกลทันกับการศึกษาภาษาจีนทั่วโลก การจัดการศึกษาภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาของไทยแม้ว่าจะดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและปัจจุบันนับวันจะเพิ่มมากขึ้น

บทความบทนี้ได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยในภาพรวมโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาภาษาจีนให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

นริศ วศินานนท์. (2546). การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 51-60.

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย

บทคัดย่อ

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทยเป็นบทความที่นำเสนอถึงปรากฏการณ์การกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ซึ่งในสังคมไทยยังมีการกล่าวถึงกันน้อย ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจถึงความหมายและรูปแบบการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ การกระทำทารุณกรรมด้านร่างกาย ด้านจิตใจหรืออารมณ์ ด้านวัตถุ การทอดทิ้งทางร่างกาย และการทอดทิ้งทางด้านจิตใจ พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพการกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้นำเสนอถึงการวิเคราะห์ปัจจัยของการเกิดการกระทำรุณกรรมผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันครอบครัว การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของคนในครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ตลอดจนการนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้ในช่วงสุดท้าย ซึ่งจะต้องพิจารณาตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ ระดับชุมชน และระดับครอบครัว

นุชนาฎ ยูฮันเงาะ. (2546). การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 43 – 50.

 

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจัดการปัญหาขยะ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจัดการปัญหาขยะ

บทคัดย่อ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเก็บได้เพียง ร้อยละ 60-80 เท่านั้น

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมามีทั้ง วิธีการกำจัดขยะแบบการฝังกลบ การเผา การจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย และการนำมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมมาบังคับใช้ยังมีข้อจำกัดมากมายส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ จึงมีการเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องขยะเสียใหม่ เพราะโครงสร้างขยะเปลี่ยนไปแล้ว ขยะไม่ใช่แค่เศษอาหาร เศษวัชพืช อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยังทำให้เกิดคุณภาพของสินค้าตัวใหม่ที่ปลายทางดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำปุ๋ยหมัก หรือ หมักสารจุลินทรีย์ หรือสารสกัดชีวภาพ การหลอม หรือผลิตสินค้ารีไซเคิลตัวใหม่ ๆ

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ได้มีองค์กรชุมชนหลาย ๆ แห่งได้รวมตัวกันจัดการขยะในลักษณะของธุรกิจชุมชนทำให้สมาชิกมีรายได้จากการขายขยะและยังสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้มีการนำไปปฏิบัติแพร่หลาย โดยมีแนวทางการจัดการขยะของชุมชนเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ได้แก่ ประเภทซาเล้งอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมชุมชน ธนาคารขยะ และธุรกิจชุมชน และได้ขยายเป็นเครือข่ายองค์กรด้านการจัดการปัญหาขยะ มีลูกข่ายเกือบทั่วประเทศ ภายใต้กลไกที่ทำให้เกิดความสำเร็จเช่น กลไกทางการศึกษา ผู้นำ การเรียนรู้จากการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติจริงของชุมชน การประสานงานกับองค์กรท้องถิ่น การใช้เครือข่ายองค์กร และผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจที่ชุมชนได้รับ เป็นต้น

การมีส่วนร่วมของภาคชุมชนจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืน

รายการอ้างอิง

กรรณิกา ขวัญอารีย์. (2546). ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเก็บได้เพียง ร้อยละ 60-80 เท่านั้น. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 33 – 42.

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa