ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล
บทคัดย่อ
ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เป็นอาการผิดปกติ ชั่วคราวของการนึกคิดความสนใจและความตั้งใจเป็นภาวะที่นำผู้ป่วยไปสู่ความตายหรือมีพยากรณ์โรคที่เลว โดยมักจะพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคต้องรับประทานยาหลายชนิด หรืออยู่ในภาวะวิกฤติ
สาเหตุของภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) สาเหตุที่กระทำต่อสมองโดยตรง หรือมีการรบกวนระบบทางสรีรวิทยา 2) การรบกวนทางภาวะจิตใจ 3) การรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก 4) การรบกวนทางเภสัชวิทยาจากการใช้ยาหลายชนิด ผู้ป่วยจะแสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ เช่นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือลดลงหรือทั้งสองแบบผสมกัน มีการเปลี่ยนแปลงด้านการนึกคิด สมาธิ อารมณ์ การรับรู้เวลา สถานที่ ความจำ
ในการประเมินผู้ป่วย พยาบาลควรใช้ทักษะการสังเกต การสัมภาษณ์ และการทดสอบความนึกคิด เชาว์ปัญญา การรับรู้ การแปลความหมาย และการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วย โดยมองผู้ป่วยอย่างเป็นระบบเปิดและประเมินผู้ป่วยตามบริบทและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย พยายามหาสาเหตุที่เฉพาะเจาะจง จากนั้นจึงวางแผนการพยาบาลที่มีความเป็นไปได้ มีเป้าหมาย มีกิจกรรม และมีส่วนร่วมของทีมการพยาบาลมีการบันทึกและประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพยาบาล ได้แก่การป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยการเตรียมผู้ป่วย ชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้ความกระจ่างในการพยาบาล หรือสิ่งแวดล้อม ให้การสัมผัส และติดตามผลการตอบสนองของผู้ป่วย นอกจากนี้พยาบาลควรต้องเรียนรู้การใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาต่าง ๆ เช่นมีความนึกคิดบกพร่อง ประสาทหลอน ตื่นตระหนก สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น
อรพินท์ สีขาว. (2546). ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 91-101.
การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell Donation and Transplantation)
การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต นับเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกทางหนึ่งที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับการบริจาคโลหิตที่เคยรู้จักกันมานาน ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด หรือแม้กระทั่งการฉายรังสีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากการบริจาคของผู้อื่น การปลูกถ่ายนั้นจะเป็นทางเลือกสุดท้ายและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาค เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่จะนำมาให้กับผู้ป่วยจึงจะต้องเป็นเซลล์ที่ได้มาจากผู้บริจาคที่มีชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อที่ตรงกันกับผู้ป่วย ซึ่งโอกาสที่จะได้มานั้นมีน้อยมากเพราะชนิดของแอนติเจนนี้จะมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้โอกาสที่พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันจะมีชนิดของแอนติเจนนี้ตรงกันมีเพียง 25% และจะลดต่ำลงในบุคคลที่มาจากต่างเชื้อสายกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดขึ้นมา เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้บริจาคและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อของผู้บริจาคแต่ละคนไว้สำหรับการคัดเลือกให้กับผู้ป่วย
วิธีการที่จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้นทำได้ถึง 3 วิธีคือ การบริจาคโดยการเจาะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากหลอดโลหิตดำ จากโพรงไขกระดูก และจากรกของทารกแรกคลอด ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เก็บได้ประมาณ 5 x 10 เซลล์ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวผู้ป่วยจะถูกนำไปให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและ/หรือฉายแสงรังสีรักษาทั่วร่างกายเพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกายและทำลายเซลล์เม็ดโลหิตเดิมที่ผิดปกติไว้แล้ว แต่ภายหลังการรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในระยะแรกผู้ป่วยจะมีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีปริมาณของเม็ดโลหิตชนิดต่าง ๆ ต่ำ ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่ายและเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาคที่เกิดจากความแตกต่างกันของแอนติเจนของเนื้อเยื่อชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการตรวจ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อไปก่อน ถึงแม้ว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคนั้นๆ ได้ แต่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนี้ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ จะต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด บทความนี้จึงมุ่งหวังที่จะช่วยในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษา รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย
ชลันดา กองมะเริง และ เบญจพร โอประเสริฐ. (2546). การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 79-90.
การพัฒนาระบบข้อมูล
ระบบข้อมูลคือปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการดำเนินงานทางธุรกิจการขาดระบบข้อมูลจะมีผลทำให้การดำเนินงานมีความล่าช้าและอาจเกิดความผิดพลาดไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้ ดังนั้นการศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องระบบข้อมูล ไม่ว่าในเรื่องความสำคัญและองค์ประกอบของระบบข้อมูล ขั้นตอนการพัฒนารวมทั้งแนวทางในการจัดสร้างระบบข้อมูลที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรของหน่วยงานที่จะต้องเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมพัฒนาระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลของผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
มาโนชย์ ไชยสวัสดิ์. (2546). การพัฒนาระบบข้อมูล. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 66-78.
โรคอัลไซเมอร์
บทความนี้ ให้สาระความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในด้าน การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและกลไกการเกิดโรค การวินิจฉัย อาการ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคในปัจจุบัน สัญญาณเตือนของโรค รวมถึงการปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อตัวคุณเองและคนใกล้ชิดกับคุณจะได้ไม่ต้องพบกับโรคอัลไซเมอร์ในวัยชราที่จะมาถึง
เมตตา โพธิ์กลิ่น. (2546). โรคอัลไซเมอร์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 51-65.
อาวุธชีวภาพ : พิชัยยุทธสงครามยุคโลกาภิวัตน์
อาวุธชีวภาพ หรือ อาวุธเชื้อโรค คือ อาวุธที่ผลิตขึ้นจากจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธชีวภาพ คือ เชื้อบาซิลลัส แอนธาซิส (Bacillus anthracis) เชื้อพลาสเทอเรลลา เพลทิส (Pasteurella pestis) เชื้อวาริโอลา ไวรัส (Variola virus) เชื้อวิ บริโอ คลอเลอรี (Vibrio cholerae) เชื้อฟรานซิส เซลลา ทูลาเรนซีส (Francisella tularensis) เชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคเลือดออกจากไวรัส (Virus Hemorrhagic Fever : VHF) เชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum)
เกษม พลายแก้ว. (2546). อาวุธชีวภาพ : พิชัยยุทธสงครามยุคโลกาภิวัตน์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 30-42.
ลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรม : ความสำคัญที่ถูกมองข้าม
บทคัดย่อ:
จากกระแสความตื่นตัวของสังคมไทยในการเห็นความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาการเคารพต่อความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่นผลักดันให้รัฐหันมาให้ความสนใจในการกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนในและตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย การใช้สินค้าไทย การควบคุมการนำเข้าเครื่องจักรที่ผลิตเทปและซีดี การตรวจจับเทปผี ซีดีเถื่อน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ นโยบายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาที่จะไม่รอลงอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ตลอดจนการรวมตัวกันของบริษัทผู้ผลิตผลงานเพลงในการลดราคาเทปและซีดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจสินค้าที่ถูกกฎหมาย การรวมตัวของผู้ประกอบการเหล่านี้ ยังนำไปสู่การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการนำงานดนตรีกรรมอันเป็นผลงานของตนไปเผยแพร่ยังสถานประกอบการอื่นๆ อีกด้วย การจัดตั้งองค์กรกลางในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีโดยรัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับมาตรการดังกล่าว และวางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดให้ค่าลิขสิทธิ์ดนตรีคาราโอเกะเป็นสินค้าที่มีการควบคุมราคาสินค้า เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นก้าวหนึ่งที่กระตุ้นให้สังคมใส่ใจและใช้สิทธิ์ของตนตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ งานนาฏกรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจหรือใส่ใจในการคุ้มครองการสร้างสรรค์งานเท่าที่ควร ทั้งที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยกว่างานอื่นที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ บทความนี้ จึงมุ่งวิเคราะห์ความสำคัญของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรมและความเป็นไปได้ในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรมเช่นเดียวกับงานดนตรีกรรมที่สังคมกำลังให้ควาสนใจอยู่ในขณะนี้
นิก สุนทรธัย. (2547). ลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรม : ความสำคัญที่ถูกมองข้าม. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 93-102.
อ่านบทความฉบับเต็ม
เมืองบางปลาสร้อยร้อยริ้ว : คตินิยายแห่งภาคตะวันออก
เมืองบางปลาสร้อยร้อยริ้ว เป็นชื่อเรียกขานจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา ในอดีตที่มีลุ่มน้ำบางปะกงตอนต้นเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงและเสมือนอู่อารยธรรมที่มีมาแต่สมัยโบราณ การศึกษาทางคติชนวิทยาในส่วนของนิทานพื้นบ้านอันเกี่ยวเนื่องกับสถานที่สำคัญหลายแห่งทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมืองโบราณสามแห่งในจังหวัดชลบุรี คือ เมืองพญาแร่ เมืองศรีพโล และเมืองพระรถ แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมของแหล่งอารยธรรมในภาคตะวันออกที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากภูมิภาคอื่นอย่างชัดเจน
ศราวุธ สุทธิรัตน์. (2547). เมืองบางปลาสร้อยร้อยริ้ว : คตินิยายแห่งภาคตะวันออก. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 85-92.
บุญคือปัจจัยพื้นฐานของชีวิต : บทวิเคราะห์จากปัญหาในสังคมไทย
บุญในทัศนะของพระพุทธศาสนา จัดเป็นพื้นฐานของชีวิตด้านจิตใจที่เชื่อมโยงชีวิตทั้งหมดเข้าด้วยกัน มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตทั้งหมดของโลก ทั้งคน สัตว์ พืช ที่ต้องอาศัยบุญคอยสนับสนุนส่งเสริมให้ดำเนินไปอย่างปกติสุข การเข้าใจเรื่องบุญที่ถูกต้องตามหลักการทางพระพุทธศาสนาจะช่วยให้เราเห็นความสำคัญของบุญและปฏิบัติตามหลักการสร้างบุญ ขจัดบาปที่เป็นตัวการทำลายบุญหรือความสมดุลของชีวิตอันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสังคม เช่น การฆาตกรรม การละเมิดทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ ถ้าวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดแล้วจะได้ข้อสรุปว่าผู้ที่สร้างปัญหาดังกล่าวขาดปัจจัยพื้นฐานของชีวิตที่เรียกว่าบุญทั้งสิ้น
ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2547). บุญคือปัจจัยพื้นฐานของชีวิต : บทวิเคราะห์จากปัญหาในสังคมไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 70-84.
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เริ่มใช้งานครั้งแรกปี ค.ศ. 1960 เมื่อมีบริษัทในสหรัฐอเมริกานำระบบการเแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange หรือ EDI) และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) มาใช้ในการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ขณะนี้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ธนาคารต่างๆ ได้เริ่มให้บริการในการทำธุรกรรมของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว เช่น ให้บริการรับชำระเงินผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีการสร้างระบบการป้องกันการชำระเงินมารองรับหลายรูปแบบ
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการส่งข้อมูล สินค้าและบริการ หรือการชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น สายโทรศัพท์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ในทางธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ เทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำธุรกรรม (business transaction) และการทำงานตามขั้นตอน (workflow) ขององค์กรเป็นไปอย่างอัตโนมัติในการให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ เครื่องมือที่ช่วยบริษัท ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้และการใช้บริการ ช่วยให้การบริการรวดเร็วขึ้น และช่วยให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้า
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถแบ่งตามลักษณะของคู่ค้าเป็น 4 ประเภท 1) Business to Consumer (B to C) เป็นการค้าระหว่างบริษัทกับผู้บริโภค 2) Business to Business (B to B) เป็นการค้าระหว่างบริษัทกับบริษท 3) Business tp Government (B to G) เป็นการค้าระหว่างองค์กรเอกชนกับองค์กรของรัฐ 4) Consumer to Consumer (C to C) เป็นการค้าระหว่างบุคคลทั่วไป พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจโดยลดช่องว่างทางการแข่งขันระหว่างองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวทั้งในด้านการบริหาร การจัดการองค์กร รวมไปถึงวิธีการดำเนินธุรกิจ ก่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร นอกจากนั้น ยังสร้างโอกาสให้เกิดการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่มากมาย
เพ็ญ ชยาวิวัฒน์กุล. (2547). พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce). วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 61-69.
การวิเคราะห์เชิงปริมาณกับการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
ในยุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) การประกอบธุรกิจต่างๆ จะไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางด้านพรมแดน เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งที่เป็นธุรกิจท้องถิ่นและธุรกิจระหว่างประเทศต้องแข่งขันกันมากขึ้น การที่ธุรกิจภายในประเทศเริ่มหันมาประกอบธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ในการขยายตลาด แสวงหาแหล่งทรัพยากร ขยายกำลังการผลิต และเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น การทำธุรกิจระหว่างประเทศสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น การนำเข้าและส่งออก (importing and exporting) การร่วมทุน (joint venture) การได้รับอนุญาตให้ผลิต (licencing) การได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ (tranchising) หรือ การทำสัญญาแบบเหมาเบ็ดเสร็จ (tunkey operation) เป็นต้น การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานมากกว่าการประกอบธุรกิจท้องถิ่น เช่น สภาพแวดล้อม ข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ภาษาและวัฒนธรรม สังคมและการเมือง เป็นต้น ในการดำเนินธุรกิจ การวางแผน การบริหารจัดการ และการตัดสินใจของธุรกิจระหว่างประเทศควรมิให้เกิดข้อผิดพลาด มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเสียเปรียบต่อคู่แข่งขัน ดังนั้น ธุรกิจระหว่างประเทศจึงหันมาใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (quantitative analysis approach) เข้ามาช่วยในการวางแผน การบริหารจัดการและตัดสินใจ เพราะวิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณจะสามารถช่วยหาคำตอบที่เหมาะสมอย่างมีเหตุมีผล โดยอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์และสถิติเข้ามาช่วย วิธีการในการวิเคราะห์เชิงปริมาณประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ ขั้นการกำหนดปัญหา ขั้นการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (model) ขั้นการกำหนดข้อมูลที่ต้องการ ขั้นการกำหนดแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหา ขั้นทดสอบหาแนงทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ขั้นการวิเคราะห์ผลลัพธ์ และขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำผลลัพธ์ไปใช้จริง ซึ่งขั้นตอนในการวิเคราะห์เชิงปริมาณเหล่านี้ สามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์มาช่วยในการประมวลผลและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงค่อนข้างทำให้นิยมใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น
สมยศ อวเกียรติ. (2547). การวิเคราะห์เชิงปริมาณกับการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 51-60.