SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
นี่คือ ม. หัวเฉียวฯ : ก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัย
ธ.ค. 21st, 2019 by supaporn

เมื่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีอายุครบ 80 ปี คณะกรรมการฯ ภายใต้การนำของ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ มีมติให้พัฒนาวิทยาลัยหัวเฉียวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ดร. อุเทนฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสวนีย วิเศษสินธุ์, 2543 หน้า 203)

… มูลนิธิฯ ครบ 80 ปี ผมเสนอที่ประชุมว่าโอกาสนี้อยากจะเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ สร้างมหาวิทยาลัย และอีกเรื่องหนึ่ง คือ ทำสาขาของมูลนิธิฯ ตามจุดต่างๆ เป็นสี่มุมเมือง … เรื่องมหาวิทยาลัยที่จะตั้งขึ้นนั้น เราก็จะไม่ได้ทำเอาแต่ชื่อเสียง ต้องทำเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือสังคมบ้านเมืองได้จริงๆ เราควรสร้างมหาวิทยาลัยที่ดี สมบูรณ์ แต่เราไม่หวังผลกำไร เอาเพียงแค่ให้พึ่งและพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพมาตรฐานดี ผมเห็นว่า ควรทำเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อในหลวง ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ เป็นพระบรมโพธิสมภารแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า…

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเริ่มต้น “โครงการมหาวิทยาลัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ในปี พ.ศ. 2533 โดยได้ดำเนินการในเรื่องสำคัญและสัมพันธ์กัน 3 ส่วน ได้แก่ การรณรงค์เงินบริจาค การขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย และการก่อสร้างมหาวิทยาลัย โดยกำหนดจะเปิดมหาวิทยาลัยในกลางปี พ.ศ. 2535

ภาพอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย

อ่านก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จากประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าอย่างละเอียด เพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการก่อตั้ง เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ การหาเงินบริจาค และเพื่อถวายความจงรักภักดี ได้ที่ 90 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า  หน้า 224 (ไฟล์) หรือหน้า 203 (เอกสาร) หรือในรูปแบบของ Flip 

รายการอ้างอิง
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสวนีย วิเศษสินธุ์. (2543). 90 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า. สมุทรปราการ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.

 

 

ย้อนรอยห้องสมุด ธนาคารศรีนคร
พ.ค. 20th, 2018 by supaporn

เคยแต่ได้ยินชื่อห้องสมุดธนาคารศรีนคร ตั้งแต่เมื่อสมัยเรียนบรรณารักษศาสตร์ เพราะห้องสมุดธนาคารศรีนคร จะถูกจัดอยู่ในห้องสมุดประชาชนของหน่วยงานเอกชน จึงเป็นการรับรู้ชื่อห้องสมุดธนาคารศรีนคร ตั้งแต่นั้นมา กาลเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของธนาคารศรีนคร ทำให้กิจการของห้องสมุดกลายเป็นอดีต

ห้องสมุดประชาชน ธนาคารศรีนคร

ห้องสมุดประชาชน ธนาคารศรีนคร

ด้วยความซาบซึ้งในความคิด และวิสัยทัศน์ของ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษาในการที่จะช่วยให้มีการพัฒนาบุคคล ทั้งทางสมอง สติปัญญา อันจะเป็นกำลังของชาติในอนาคต และส่วนสำคัญที่จะสร้างสติปัญญา และพัฒนาบุคคลได้นั้น หนังสือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงพยายามรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นการย้อนรอยและระลึกถึงท่าน

8 มกราคม พ.ศ. 2515 ในปี 2515 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นปีหนังสือระหว่างประเทศ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ (ประธานกรรมการธนาคารศรีนคร) เห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะเป็นการเริ่มต้นให้เยาวชนได้มีแหล่งความรู้ และถือว่าเอาวันเด็กแห่งชาติ คือ วันเสาร์ที่ 8 มกราคม เปิดห้องสมุดขึ้นบริการแก่เด็ก และเยาวชน ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นห้องสมุดเยาวชน ธนาคารศรีนคร อยู่ที่ ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาสามแยก เลขที่ 573 ถ. เยาวราช สัมพันธวงศ์ กทม. มีหนังสือเด็กและเยาวชน พร้อมกิจกรรมพิเศษ เช่น ชั่วโมงเสริมทักษะและเล่านิทาน ชั่วโมงเล่นเกม

4 เมษายน พ.ศ. 2515 ด้วยมีผู้สนใจในการใช้ห้องสมุดเป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดเป็นห้องสมุดประชาชน นับเป็นห้องสมุดแห่งที่ 2 ของธนาคารศรีนคร ให้บริการที่ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขา ถ. เพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่ 1740 ถ. เพชรบุรีตัดใหม่ ใกล้กับเชิงสะพานลอยอโศก มีนายบุญถิ่น อัตถากร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด และที่นี่ได้เปิดห้องสมุดกอล์ฟขึ้นอีกมุมหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬากอล์ฟ มีการจัดให้มีนักกอล์ฟมือโปรให้คำแนะนำอีกด้วย เปิดบริการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด นับว่าเป็นห้องสมุดกอล์ฟแห่งแรกของไทย

15 ธันวาคม พ.ศ. 2518 เปิดห้องสมุดธนาคารศรีนคร เป็นแห่งที่ 3 โดยขยายไปยังภูมิภาค พร้อมกับการเปิดธนาคารศรีนคร สาขาเชียงใหม่ เลขที่ 119 ถ. ช้างคลาน อ. เมือง จ. เชียงใหม่ โดยมีนายชลอ ธรรมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด

21 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เปิดห้องสมุดประชาชน เป็นแห่งที่ 4 ที่ชั้น 8 ของอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารศรีนคร เลขที่ 2 ถ. เฉลิมเขต 4 สวนมะลิ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. โดยได้ทำพิธีเปิดพร้อมกับอาคารสำนักงานใหญ่ 16 ชั้น ของธนาคารศรีนคร อันเป็นวันครบรอบปีที่ 26 ของธนาคารศรีนคร
เน้นทางด้านการเงินและการธนาคาร และที่ห้องสมุดสำนักงานใหญ่นี้ มีการจัดเป็นห้องสมุดภาษาจีน โดยจัดเป็นห้องแยกต่างหากไม่ปะปนกัน มีบรรณารักษ์ทางด้านภาษาจีนให้บริการห้องสมุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นห้องสมุดภาษาจีนแห่งแรกในประเทศไทย

27 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เปิดห้องสมุดประชาชน ที่ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร สาขาพิจิตร เลขที่ 22/22 ถ.ศรีมาลา อ. เมือง จ. พิจิตร นับเป็นห้องสมุดแห่งที่ 5 โดยมี ดร. ชูวงศ์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เปิดห้องสมุดประชาชนแห่งที่ 6 ที่ธนาคารศรีนคร สาขาวงเวียนใหญ่ เลขที่ 1491/1 ถ. ประชาธิปก หัวมุมวงเวียนใหญ่ เขตคลองสาน กทม. โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ทราบว่า หนังสือห้องสมุดภาษาจีน มีการกระจายไปหลายแห่ง ที่เห็นตัวเล่ม คือ ห้องสมุดภาษาจีน ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และห้องสมุดภาษาจีน สถาบันภาษา (เดิม คือ สถาบันพัฒนาครูสอนภาษาจีน) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

รายการอ้างอิง

สมชาย สินวัฒนรักษ์. (2531). ธนาคารศรีนครกับการพัฒนาห้องสมุด. วารสารการศึกษานอกโรงเรียน 25,142 (ก.พ.-มี.ค.),31-36.

หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ต.ค. 26th, 2016 by supaporn

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2537 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ต่อมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีเปิดมหาวิทยาลัยถึง 6 เล่ม ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ประกอบด้วย

1. ที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2537
2. Huachiew Chalermprakiet University Commemorative Edition on the occasion of the University’s Inauguration graciously presided over by Their Majesties the King and Queen of Thailand on March 24, 1994
3. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (ฉบับภาษาจีน)
4. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วันทำพิธีเปิด (มีคำบรรยายเป็นภาษาไทยและภาษาจีน)
5. สูจิบัตรพิธีเฉลิมพระเกียรติและสถาปนามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
6. พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จากหนังสือเหล่านี้ได้ที่ ศูนย์บรรณสารสนเทศ และหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ทั้งข้อมูลและภาพพระองค์ท่านที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัย

วันนี้ในอดีต “ ๒๔ มีนาคม : วันหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ”
มี.ค. 23rd, 2016 by matupode

03

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ถึงมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยมี ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ ถวายการต้อนรับ วันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2537

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ พัฒนามาจากวิทยาลัยหัวเฉียวโดยทบวงมหาวิทยาลัยอนุญาตให้เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”

มหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ก่อตั้งสำเร็จเพราะความปรารถนาของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และแรงดลใจของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในสมัยนั้น ร่วมกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ต้องการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานและปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินบริเวณถนนบางนา-ตราด กม.๑๘ จำนวน ๑๔๐ ไร่ เพื่อสร้างมหาวิทยาลัย เพราะเล็งเห็นว่าการสร้างสถาบันการศึกษาจะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ออกไปพัฒนาประเทศและช่วยเหลือสังคมได้ ดังปณิธาณของมหาวิทยาลัย “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม”

CAM01049-1

เอกสารประวัติศาสตร์ บันทึกจากสำนักราชเลขาธิการ เรื่อง ทรงรับเชิญ เสด็จฯ ไปทรงเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

และเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาที่จะต้องสำนึกจารึกจดจำไว้ตลอดกาลนาน

ร่วมย้อนรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไปกับการประมวลภาพวันสถาปนามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติในวันที่ “๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๗” และความประทับใจของอดีตอธิการบดี แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมรับเสด็จฯ กับบทความ “ชื่นชมพระบารมี” ไว้ว่า Read the rest of this entry »

ปฏิมากรรมห่านฟ้า (หรือนกหงัง)
ม.ค. 13th, 2016 by supaporn

ปฏิมากรรมห่านฟ้า (หรือนกหงัง)

ปฏิมากรรมห่านฟ้า (หรือนกหงัง)

จากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของ รศ. ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ ซึ่งเขียนสื่อสารเรื่อง ปฏิมากรรมนกหงัง แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) และ จากการกล่าวของคุณสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ในพิธีส่งมอบปฏิมากรรมนกหงัง ให้แก่มหาวิทยาลัยในวันที่ 25 มีนาคม 2556 ได้กล่าวถึง ปฏิมากรรมนกหงัง สรุปความได้ว่า

“ปฏิมากรรมห่านฟ้า (หรือนกหงัง) ที่เพิ่งจะยกลงจากรถขนย้าย เมื่อเวลา 02:52 น. ของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 ณ. บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารบรรณสาร ใกล้เสาธงตรงสวนลวดลาย ด้านขวามือของรูปเหมือนของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์นั้น เดิมปฏิมากรรมนกหงัง ตั้งอยู่ด้านหน้าธนาคารธนชาต สาขาสวนมะลิ นับว่าเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพนักงานมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ครั้งยังเป็นธนาคารศรีนคร ซึ่งประติมากรรมนี้ได้สะท้อนปรัชญา “การเป็นผู้นำที่ดี ความมีระเบียบวินัย ความรักใคร่สามัคคี และการให้ไม่รู้จบ” ที่ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนครยึดมั่น และใช้เป็นแนวคิดในการบริหารงานพร้อมปลูกฝังให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตสืบมาจนกระทั่งเป็นธนาคารธนชาตในวันนี้ แนวคิดนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาก้าวหน้าต่อไป Read the rest of this entry »

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa