เมื่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีอายุครบ 80 ปี คณะกรรมการฯ ภายใต้การนำของ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ มีมติให้พัฒนาวิทยาลัยหัวเฉียวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ดร. อุเทนฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสวนีย วิเศษสินธุ์, 2543 หน้า 203)
… มูลนิธิฯ ครบ 80 ปี ผมเสนอที่ประชุมว่าโอกาสนี้อยากจะเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ สร้างมหาวิทยาลัย และอีกเรื่องหนึ่ง คือ ทำสาขาของมูลนิธิฯ ตามจุดต่างๆ เป็นสี่มุมเมือง … เรื่องมหาวิทยาลัยที่จะตั้งขึ้นนั้น เราก็จะไม่ได้ทำเอาแต่ชื่อเสียง ต้องทำเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือสังคมบ้านเมืองได้จริงๆ เราควรสร้างมหาวิทยาลัยที่ดี สมบูรณ์ แต่เราไม่หวังผลกำไร เอาเพียงแค่ให้พึ่งและพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพมาตรฐานดี ผมเห็นว่า ควรทำเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อในหลวง ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ เป็นพระบรมโพธิสมภารแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า…
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเริ่มต้น “โครงการมหาวิทยาลัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ในปี พ.ศ. 2533 โดยได้ดำเนินการในเรื่องสำคัญและสัมพันธ์กัน 3 ส่วน ได้แก่ การรณรงค์เงินบริจาค การขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย และการก่อสร้างมหาวิทยาลัย โดยกำหนดจะเปิดมหาวิทยาลัยในกลางปี พ.ศ. 2535
ภาพอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย
อ่านก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จากประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าอย่างละเอียด เพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการก่อตั้ง เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ การหาเงินบริจาค และเพื่อถวายความจงรักภักดี ได้ที่ 90 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า หน้า 224 (ไฟล์) หรือหน้า 203 (เอกสาร) หรือในรูปแบบของ Flip
รายการอ้างอิง
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสวนีย วิเศษสินธุ์. (2543). 90 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า. สมุทรปราการ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.