SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี

บทคัดย่อ

บทความทางวิชาการเรื่อง “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลการศึกษาค้นคว้าเหตุการณ์ในอดีตจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโบราณวัตถุ คือ อิฐดินเผาที่ค้นพบ ณ วัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดตาก โดยสันนิษฐานว่า อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี อาจเป็นหลักฐานโบราณวัตถุสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวัตถุชิ้นนี้ได้มาจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่อาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอิฐดินเผา คือ เหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่ท้ายสระ ตามหลักฐานที่ปรากฏจารึกบนอิฐดินเผาว่า “รัชสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ ๕๔” และ บทบาทของชาวจีนในเมืองตากสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจารึกไว้ว่า “คนแซ่เจิงเป็นผู้สร้างถวาย” น่าจะมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้สามารถตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในเมืองตากได้อย่างราบรื่น

สำหรับแนวทางการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในแนวกว้าง เพื่อเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ให้ นักวิชาการหรือนักวิจัยที่สนใจนำไปศึกษาค้นคว้ารายละเอียดระดับลึกยิ่งขึ้น โดยพบว่า หลักฐานโบราณวัตถุอิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี และหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่ค้นพบ ยังไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ในเรื่องความเป็นมาของวัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือแม้แต่ที่มาของอิฐดินเผาว่าเป็นชิ้นส่วนใดของสิ่งก่อสร้างภายในวัดร้างแห่งนี้ แต่หลักฐานที่พบทำให้เชื่อได้ว่า มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองตากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีบทบาททางสังคมอย่างชัดเจนในฐานะผู้อุทิศกุศลในการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแก่วัด ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประเด็นเส้นทางการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตากของชาวจีนในเมืองตาก อาจจะเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางเดินทัพของทหาร หรือเส้นทางที่พ่อค้าเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมืองอยุธยากับเมืองตากที่เรียกว่า ตาก-ระแหงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป

รายการอ้างอิง

 

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสุวนัน ขวัญทอง. (2546). หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 83-89.

จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์

บทคัดย่อ

กีฬาจัดเป็นสันทนาการประการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตและสังคม โดยมีปรัชญาพื้นฐานสำคัญคือการทำคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา บุคลิกภาพและสังคม แต่ปัจจุบันได้เกิดปัญหาขึ้นกับวงการกีฬามากมาย ปัญหาที่ว่านี้คือปัญหาที่เกิดจากตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งหมด เช่น ผู้แข่งขัน ผู้ตัดสิน ผู้ชมการแข่งขัน ผู้สนับสนุน และปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการพนันที่เข้าไปทำลายสารัตถะของการกีฬาและก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เมื่อวิเคราะห์ตามหลักพุทธจริยศาสตร์จะได้คำตอบที่ว่า ปัญหานี้เกิดจากความบกพร่องทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น กระบวนการแก้ไขปัญหานี้จึงอยู่ที่การหาวิธีการปลูกจิตสำนึกเชิงจริยธรรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งหมดให้เป็นไปตามปรัชญาของการกีฬาที่ว่า “แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน”

ธีรโชติ เกิดแก้ว.  (2546). จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 72-82.

ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการ เปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการเปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก

บทคัดย่อ

พระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตกมีแนวความคิดว่าด้วยเรื่องความต้องการที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทั้งสองยอมรับว่าความต้องการเป็นกิเลสอย่างหนึ่งของมนุษย์ต่างกันก็ตรงที่ว่าพระพุทธศาสนามองว่าความต้องการเป็นสิ่งที่สามารถลดลงได้จากการฝึกฝนและพัฒนาตนของมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา แต่ปรัชญาตะวันตกมองว่าความต้องการไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ เพราะถือว่าความต้องการให้ความสุขแก่มนุษย์และก่อให้เกิดการแสวงหาสิ่งใหม่ แนวคำสอนของนักปรัชญาตะวันตกหลายคนไม่ว่าจะเป็น ฟรานซิส เบคอน เรอเน่ เดการ์ต เป็นต้น ต่างก็ส่งเสริมและกระตุ้นความต้องการของมนุษย์ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวตะวันตกจึงเป็นไปในลักษณะที่ส่งเสริมความต้องการ ในขณะที่พระพุทธศาสนาสอนให้ดำเนินชีวิตเพื่อลดความต้องการ ลดการแย่งชิงผลประโยชน์ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติแบบเกื้อกูลต่อธรรมชาติ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการเปรียบเทียบแนวความคิดที่แตกต่างว่าด้วยเรื่องความต้องการระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก

วิชัย สุนาโท. (2546). ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการเปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 61-71.

การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการศึกษาภาษาจีนนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับประเทศจีน ไม่ว่าด้านธุรกิจหรือศิลปะวิทยาการด้านอื่นๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ ด้วยเหตุนี้ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษาภาษาจีนเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน แต่เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่งทำให้การศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยต้องชะลอหรือชะงักการพัฒนา ปัจจุบันผู้ที่มีวิสัยทัศน์จึงต้องมองปัญหาการศึกษาภาษาจีนของไทยให้กระจ่างเพื่อจะได้พัฒนาให้เป็นระบบและก้าวไกลทันกับการศึกษาภาษาจีนทั่วโลก การจัดการศึกษาภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาของไทยแม้ว่าจะดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและปัจจุบันนับวันจะเพิ่มมากขึ้น

บทความบทนี้ได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยในภาพรวมโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาภาษาจีนให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

นริศ วศินานนท์. (2546). การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 51-60.

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย

บทคัดย่อ

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทยเป็นบทความที่นำเสนอถึงปรากฏการณ์การกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ซึ่งในสังคมไทยยังมีการกล่าวถึงกันน้อย ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจถึงความหมายและรูปแบบการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ การกระทำทารุณกรรมด้านร่างกาย ด้านจิตใจหรืออารมณ์ ด้านวัตถุ การทอดทิ้งทางร่างกาย และการทอดทิ้งทางด้านจิตใจ พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพการกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้นำเสนอถึงการวิเคราะห์ปัจจัยของการเกิดการกระทำรุณกรรมผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันครอบครัว การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของคนในครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ตลอดจนการนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้ในช่วงสุดท้าย ซึ่งจะต้องพิจารณาตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ ระดับชุมชน และระดับครอบครัว

นุชนาฎ ยูฮันเงาะ. (2546). การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 43 – 50.

 

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจัดการปัญหาขยะ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจัดการปัญหาขยะ

บทคัดย่อ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเก็บได้เพียง ร้อยละ 60-80 เท่านั้น

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมามีทั้ง วิธีการกำจัดขยะแบบการฝังกลบ การเผา การจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย และการนำมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมมาบังคับใช้ยังมีข้อจำกัดมากมายส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ จึงมีการเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องขยะเสียใหม่ เพราะโครงสร้างขยะเปลี่ยนไปแล้ว ขยะไม่ใช่แค่เศษอาหาร เศษวัชพืช อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยังทำให้เกิดคุณภาพของสินค้าตัวใหม่ที่ปลายทางดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำปุ๋ยหมัก หรือ หมักสารจุลินทรีย์ หรือสารสกัดชีวภาพ การหลอม หรือผลิตสินค้ารีไซเคิลตัวใหม่ ๆ

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ได้มีองค์กรชุมชนหลาย ๆ แห่งได้รวมตัวกันจัดการขยะในลักษณะของธุรกิจชุมชนทำให้สมาชิกมีรายได้จากการขายขยะและยังสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้มีการนำไปปฏิบัติแพร่หลาย โดยมีแนวทางการจัดการขยะของชุมชนเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ได้แก่ ประเภทซาเล้งอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมชุมชน ธนาคารขยะ และธุรกิจชุมชน และได้ขยายเป็นเครือข่ายองค์กรด้านการจัดการปัญหาขยะ มีลูกข่ายเกือบทั่วประเทศ ภายใต้กลไกที่ทำให้เกิดความสำเร็จเช่น กลไกทางการศึกษา ผู้นำ การเรียนรู้จากการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติจริงของชุมชน การประสานงานกับองค์กรท้องถิ่น การใช้เครือข่ายองค์กร และผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจที่ชุมชนได้รับ เป็นต้น

การมีส่วนร่วมของภาคชุมชนจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืน

รายการอ้างอิง

กรรณิกา ขวัญอารีย์. (2546). ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเก็บได้เพียง ร้อยละ 60-80 เท่านั้น. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 33 – 42.

ความสำคัญของวัฒนธรรมข้ามชาติต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ความสำคัญของวัฒนธรรมข้ามชาติต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

บทคัดย่อ

วัฒนธรรมข้ามชาติ หมายถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของชนแต่ละชาติ ซึ่งมีผลต่อผู้บริหารธุรกิจระหว่างประเทศที่จะต้องคำนึงว่ามีความสำคัญ ทั้งในการติดต่อสื่อสาร การบริหารงาน และการตลาด ผู้บริหารต้องเลือก กลยุทธ์ที่เหมาะสมเมื่อเผชิญกับลูกค้า ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม

เพ็ญศิริ สุธรรมโน. (2546). ความสำคัญของวัฒนธรรมข้ามชาติต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 22 – 32.

 

 

อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ

บทคัดย่อ

อำนาจและพฤติกรรมการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับองค์การ ทั้งนี้เพราะองค์การจำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขององค์การจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ใช้อำนาจและพฤติกรรมการเมืองให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้องค์การก้าวหน้าได้จากความสามัคคีของบุคลากร แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างแพร่หลาย ผลประโยชน์ของตนเองและของกลุ่มจะมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ขององค์การ บทความนี้จึงนำเสนอแนวคิดและหลักการที่จะพึงมีคุณประโยชน์ต่อองค์การโดยรวมที่แสวงหาความก้าวหน้าโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรขององค์การ

สถาพร ปิ่นเจริญ. (2546). อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 13 – 21.

ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล

บทคัดย่อ

ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เป็นอาการผิดปกติ ชั่วคราวของการนึกคิดความสนใจและความตั้งใจเป็นภาวะที่นำผู้ป่วยไปสู่ความตายหรือมีพยากรณ์โรคที่เลว โดยมักจะพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคต้องรับประทานยาหลายชนิด หรืออยู่ในภาวะวิกฤติ

สาเหตุของภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) สาเหตุที่กระทำต่อสมองโดยตรง หรือมีการรบกวนระบบทางสรีรวิทยา 2) การรบกวนทางภาวะจิตใจ 3) การรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก 4) การรบกวนทางเภสัชวิทยาจากการใช้ยาหลายชนิด ผู้ป่วยจะแสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ เช่นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือลดลงหรือทั้งสองแบบผสมกัน มีการเปลี่ยนแปลงด้านการนึกคิด สมาธิ อารมณ์ การรับรู้เวลา สถานที่ ความจำ

ในการประเมินผู้ป่วย พยาบาลควรใช้ทักษะการสังเกต การสัมภาษณ์ และการทดสอบความนึกคิด เชาว์ปัญญา การรับรู้ การแปลความหมาย และการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วย โดยมองผู้ป่วยอย่างเป็นระบบเปิดและประเมินผู้ป่วยตามบริบทและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย พยายามหาสาเหตุที่เฉพาะเจาะจง จากนั้นจึงวางแผนการพยาบาลที่มีความเป็นไปได้ มีเป้าหมาย มีกิจกรรม และมีส่วนร่วมของทีมการพยาบาลมีการบันทึกและประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพยาบาล ได้แก่การป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยการเตรียมผู้ป่วย ชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้ความกระจ่างในการพยาบาล หรือสิ่งแวดล้อม ให้การสัมผัส และติดตามผลการตอบสนองของผู้ป่วย นอกจากนี้พยาบาลควรต้องเรียนรู้การใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาต่าง ๆ เช่นมีความนึกคิดบกพร่อง ประสาทหลอน ตื่นตระหนก สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น

อรพินท์ สีขาว. (2546). ภาวะสับสนอย่างเฉียบพลัน : มุมมองใหม่ในการป้องกันดูแล. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 91-101.

การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell Donation and Transplantation)

บทคัดย่อ

การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต นับเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกทางหนึ่งที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับการบริจาคโลหิตที่เคยรู้จักกันมานาน ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด หรือแม้กระทั่งการฉายรังสีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากการบริจาคของผู้อื่น การปลูกถ่ายนั้นจะเป็นทางเลือกสุดท้ายและทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาค เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่จะนำมาให้กับผู้ป่วยจึงจะต้องเป็นเซลล์ที่ได้มาจากผู้บริจาคที่มีชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อที่ตรงกันกับผู้ป่วย ซึ่งโอกาสที่จะได้มานั้นมีน้อยมากเพราะชนิดของแอนติเจนนี้จะมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้โอกาสที่พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันจะมีชนิดของแอนติเจนนี้ตรงกันมีเพียง 25% และจะลดต่ำลงในบุคคลที่มาจากต่างเชื้อสายกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดขึ้นมา เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้บริจาคและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของแอนติเจนของเนื้อเยื่อของผู้บริจาคแต่ละคนไว้สำหรับการคัดเลือกให้กับผู้ป่วย

วิธีการที่จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้นทำได้ถึง 3 วิธีคือ การบริจาคโดยการเจาะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากหลอดโลหิตดำ จากโพรงไขกระดูก และจากรกของทารกแรกคลอด ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เก็บได้ประมาณ 5 x 10 เซลล์ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวผู้ป่วยจะถูกนำไปให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและ/หรือฉายแสงรังสีรักษาทั่วร่างกายเพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกายและทำลายเซลล์เม็ดโลหิตเดิมที่ผิดปกติไว้แล้ว แต่ภายหลังการรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในระยะแรกผู้ป่วยจะมีสภาพร่างกายอ่อนแอ มีปริมาณของเม็ดโลหิตชนิดต่าง ๆ ต่ำ ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่ายและเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านเซลล์ของผู้บริจาคที่เกิดจากความแตกต่างกันของแอนติเจนของเนื้อเยื่อชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการตรวจ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อไปก่อน ถึงแม้ว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรคนั้นๆ ได้ แต่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนี้ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ จะต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำในการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด บทความนี้จึงมุ่งหวังที่จะช่วยในการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษา รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย

ชลันดา กองมะเริง และ เบญจพร โอประเสริฐ. (2546). การบริจาคและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 79-90.

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa