ลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรม : ความสำคัญที่ถูกมองข้าม
บทคัดย่อ:
จากกระแสความตื่นตัวของสังคมไทยในการเห็นความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาการเคารพต่อความคิดสร้างสรรค์ของผู้อื่นผลักดันให้รัฐหันมาให้ความสนใจในการกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนในและตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย การใช้สินค้าไทย การควบคุมการนำเข้าเครื่องจักรที่ผลิตเทปและซีดี การตรวจจับเทปผี ซีดีเถื่อน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ นโยบายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาที่จะไม่รอลงอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ตลอดจนการรวมตัวกันของบริษัทผู้ผลิตผลงานเพลงในการลดราคาเทปและซีดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจสินค้าที่ถูกกฎหมาย การรวมตัวของผู้ประกอบการเหล่านี้ ยังนำไปสู่การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการนำงานดนตรีกรรมอันเป็นผลงานของตนไปเผยแพร่ยังสถานประกอบการอื่นๆ อีกด้วย การจัดตั้งองค์กรกลางในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีโดยรัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับมาตรการดังกล่าว และวางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดให้ค่าลิขสิทธิ์ดนตรีคาราโอเกะเป็นสินค้าที่มีการควบคุมราคาสินค้า เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นก้าวหนึ่งที่กระตุ้นให้สังคมใส่ใจและใช้สิทธิ์ของตนตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ งานนาฏกรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจหรือใส่ใจในการคุ้มครองการสร้างสรรค์งานเท่าที่ควร ทั้งที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยกว่างานอื่นที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ บทความนี้ จึงมุ่งวิเคราะห์ความสำคัญของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรมและความเป็นไปได้ในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรมเช่นเดียวกับงานดนตรีกรรมที่สังคมกำลังให้ควาสนใจอยู่ในขณะนี้
นิก สุนทรธัย. (2547). ลิขสิทธิ์ในงานนาฏกรรม : ความสำคัญที่ถูกมองข้าม. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 93-102.
อ่านบทความฉบับเต็ม
เมืองบางปลาสร้อยร้อยริ้ว : คตินิยายแห่งภาคตะวันออก
เมืองบางปลาสร้อยร้อยริ้ว เป็นชื่อเรียกขานจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา ในอดีตที่มีลุ่มน้ำบางปะกงตอนต้นเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงและเสมือนอู่อารยธรรมที่มีมาแต่สมัยโบราณ การศึกษาทางคติชนวิทยาในส่วนของนิทานพื้นบ้านอันเกี่ยวเนื่องกับสถานที่สำคัญหลายแห่งทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมืองโบราณสามแห่งในจังหวัดชลบุรี คือ เมืองพญาแร่ เมืองศรีพโล และเมืองพระรถ แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมของแหล่งอารยธรรมในภาคตะวันออกที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากภูมิภาคอื่นอย่างชัดเจน
ศราวุธ สุทธิรัตน์. (2547). เมืองบางปลาสร้อยร้อยริ้ว : คตินิยายแห่งภาคตะวันออก. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 85-92.
บุญคือปัจจัยพื้นฐานของชีวิต : บทวิเคราะห์จากปัญหาในสังคมไทย
บุญในทัศนะของพระพุทธศาสนา จัดเป็นพื้นฐานของชีวิตด้านจิตใจที่เชื่อมโยงชีวิตทั้งหมดเข้าด้วยกัน มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตทั้งหมดของโลก ทั้งคน สัตว์ พืช ที่ต้องอาศัยบุญคอยสนับสนุนส่งเสริมให้ดำเนินไปอย่างปกติสุข การเข้าใจเรื่องบุญที่ถูกต้องตามหลักการทางพระพุทธศาสนาจะช่วยให้เราเห็นความสำคัญของบุญและปฏิบัติตามหลักการสร้างบุญ ขจัดบาปที่เป็นตัวการทำลายบุญหรือความสมดุลของชีวิตอันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสังคม เช่น การฆาตกรรม การละเมิดทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ ถ้าวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดแล้วจะได้ข้อสรุปว่าผู้ที่สร้างปัญหาดังกล่าวขาดปัจจัยพื้นฐานของชีวิตที่เรียกว่าบุญทั้งสิ้น
ธีรโชติ เกิดแก้ว. (2547). บุญคือปัจจัยพื้นฐานของชีวิต : บทวิเคราะห์จากปัญหาในสังคมไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 70-84.
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เริ่มใช้งานครั้งแรกปี ค.ศ. 1960 เมื่อมีบริษัทในสหรัฐอเมริกานำระบบการเแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange หรือ EDI) และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) มาใช้ในการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ขณะนี้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ธนาคารต่างๆ ได้เริ่มให้บริการในการทำธุรกรรมของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว เช่น ให้บริการรับชำระเงินผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีการสร้างระบบการป้องกันการชำระเงินมารองรับหลายรูปแบบ
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการส่งข้อมูล สินค้าและบริการ หรือการชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น สายโทรศัพท์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ในทางธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ เทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำธุรกรรม (business transaction) และการทำงานตามขั้นตอน (workflow) ขององค์กรเป็นไปอย่างอัตโนมัติในการให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ เครื่องมือที่ช่วยบริษัท ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้และการใช้บริการ ช่วยให้การบริการรวดเร็วขึ้น และช่วยให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้า
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถแบ่งตามลักษณะของคู่ค้าเป็น 4 ประเภท 1) Business to Consumer (B to C) เป็นการค้าระหว่างบริษัทกับผู้บริโภค 2) Business to Business (B to B) เป็นการค้าระหว่างบริษัทกับบริษท 3) Business tp Government (B to G) เป็นการค้าระหว่างองค์กรเอกชนกับองค์กรของรัฐ 4) Consumer to Consumer (C to C) เป็นการค้าระหว่างบุคคลทั่วไป พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจโดยลดช่องว่างทางการแข่งขันระหว่างองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวทั้งในด้านการบริหาร การจัดการองค์กร รวมไปถึงวิธีการดำเนินธุรกิจ ก่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร นอกจากนั้น ยังสร้างโอกาสให้เกิดการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่มากมาย
เพ็ญ ชยาวิวัฒน์กุล. (2547). พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce). วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 61-69.
การวิเคราะห์เชิงปริมาณกับการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
ในยุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) การประกอบธุรกิจต่างๆ จะไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางด้านพรมแดน เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งที่เป็นธุรกิจท้องถิ่นและธุรกิจระหว่างประเทศต้องแข่งขันกันมากขึ้น การที่ธุรกิจภายในประเทศเริ่มหันมาประกอบธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ในการขยายตลาด แสวงหาแหล่งทรัพยากร ขยายกำลังการผลิต และเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น การทำธุรกิจระหว่างประเทศสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น การนำเข้าและส่งออก (importing and exporting) การร่วมทุน (joint venture) การได้รับอนุญาตให้ผลิต (licencing) การได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ (tranchising) หรือ การทำสัญญาแบบเหมาเบ็ดเสร็จ (tunkey operation) เป็นต้น การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานมากกว่าการประกอบธุรกิจท้องถิ่น เช่น สภาพแวดล้อม ข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ภาษาและวัฒนธรรม สังคมและการเมือง เป็นต้น ในการดำเนินธุรกิจ การวางแผน การบริหารจัดการ และการตัดสินใจของธุรกิจระหว่างประเทศควรมิให้เกิดข้อผิดพลาด มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเสียเปรียบต่อคู่แข่งขัน ดังนั้น ธุรกิจระหว่างประเทศจึงหันมาใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (quantitative analysis approach) เข้ามาช่วยในการวางแผน การบริหารจัดการและตัดสินใจ เพราะวิธีการวิเคราะห์เชิงปริมาณจะสามารถช่วยหาคำตอบที่เหมาะสมอย่างมีเหตุมีผล โดยอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์และสถิติเข้ามาช่วย วิธีการในการวิเคราะห์เชิงปริมาณประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ ขั้นการกำหนดปัญหา ขั้นการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (model) ขั้นการกำหนดข้อมูลที่ต้องการ ขั้นการกำหนดแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหา ขั้นทดสอบหาแนงทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ขั้นการวิเคราะห์ผลลัพธ์ และขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำผลลัพธ์ไปใช้จริง ซึ่งขั้นตอนในการวิเคราะห์เชิงปริมาณเหล่านี้ สามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์มาช่วยในการประมวลผลและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงค่อนข้างทำให้นิยมใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น
สมยศ อวเกียรติ. (2547). การวิเคราะห์เชิงปริมาณกับการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 51-60.
การบริหาร : การสร้างแรงจูงใจในที่ทำงาน
ความต้องการและแรงจูงใจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้ เพื่อการบริหารที่มุ่งหวังผลจากความสามัคคีของบุคคลในองค์การ ตลอดจนการสร้างแรงเสริมและความกระตือรือร้น จากหลักการบริหารที่กล่าวว่าองค์การเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนและงาน องค์การจึงเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างคนและงาน ทั้งนี้ เพราะคนเป็นผู้สร้างงานขึ้น นั่นคือ การที่คนได้สร้างองค์การขึ้นมานั่นเอง ในขณะที่งาน ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในการที่คนใช้เป็นต้นแบบในการทำงาน ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมคนด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้คนและงานจึงเอื้อประโยชน์ต่อกัน เพราะคนเป็นผู้สร้างงาน ในขณะที่งานเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของคนให้สอดคล้องกันในการทำงานร่วมกัน จากความสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมดนี้ จึงจะเห็นได้ว่า หากบุคลากรในองค์การ ได้รับแรงจูงใจในการทำงานให้เขาเหล่านั้น ได้บรรลุถึงความต้องการของตนเองแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประสิทธิผลในการทำงาน และประสิทธิผลโดยรวมขององค์การ
สถาพร ปิ่นเจริญ. (2547). การบริหาร : การสร้างแรงจูงใจในที่ทำงาน. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 45-50.
การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่สอบคัดเลือกด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกเองกับทบวงมหาวิทยาลัยคัดเลือก
A Comparison of Learning Achievement Between Huachiew Chalermprakiet University Students Who Gained Admission Through the Ministry of University Affairs and Those Who Were Admitted by the University Directly
การวิจัย เรื่อง การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่สอบคัดเลือกด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกเองกับทบวงมหาวิทยาลัยคัดเลือก ซึ่งใช้วิธีการจับคู่ (Matching) ของนักศึกษาทั้งสองประเภท โดยสุ่มตัวอย่างจากประชากรที่ศึกษาในชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544-2545 ทั้งหมดรวม 6 คณะ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะกายภาพบำบัด และคณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 558 คน จำแนกเป็นนักศึกษาชาย 20 คน และนักศึกษาหญิง 538 คน การสุ่มตัวอย่างจากประชากรดังกล่าวคำนึงถึงสถานภาพส่วนตัว คือ เพศ อายุ แผนกวิชา ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย คณะหรือสาขาวิชาที่กำลังศึกษาอยู่ และสถานภาพทางครอบครัว คือ ภูมิลำเนา อาชีพบิดา (มารดา) การเลือกตัวอย่างแบบจับคู่โดยให้แต่ละคู่มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อเพิ่มความเที่ยง (precision) ในการเปรียบเทียบค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทางการเรียนของนักศึกษาทั้งสองประเภท
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีสมมติฐานว่า ค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทางการเรียนของนักศึกษาที่สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกเองกับทบวงมหาวิทยาลัยคัดเลือกไม่แตกต่างกัน โดยใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความแปรปรวน ในกรณีข้อมูลมีการจำแนกสองทางโดยมีความเกี่ยวพัน (ANOVA- Two Ways Classification with Interaction) ผลการวิจัยพบว่า
นักศึกษาที่สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกเองกับทบวงมหาวิทยาลัยคัดเลือกมีค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทางการเรียนไม่แตกต่างกัน เมื่อทดสอบอิทธิพลของคณะ ปรากฏว่า มีผลต่อค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทางการเรียนของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01 แต่ไม่พบว่าอิทธิพลร่วมของคณะกับประเภทการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีผลต่อค่าระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมทางการเรียน
ชัยรถ หมอเมือง. (2547). การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติที่สอบคัดเลือกด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกเองกับทบวงมหาวิทยาลัยคัดเลือก. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 32-44.
REHABCO and recovery signal : a retrospective analysis
An investigation of the REHABCOûs financial position and performance using the Altman model as a retrospective analysis is conducted. Original Altmanûs cutoff points are set out to quantify a recovery signal of the ailing firms. Results indicate that, on average, those ailing firms in the REHABCO still have poor performance and financial position. There are only two companies with the Z-score greater than the higher cutoff point, that means they are, theoretically, in the safe area. However, at the end of the year 2003 the two healthier firms are still in the REHABCO . This can be interpreting that the result of the Altman model is only a guideline of the recovery investigation, and the companies still need special treatments in order to reach strong financial position and performance on continuous basis.
Worasith Jackmetha. (2547). REHABCO and recovery signal : a retrospective analysis. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 25-31.
การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นกับบรรษัทข้ามชาติไทย
A Comparative Study on Activities of Human Resource Development between Japanese and Thai Transnational Corporations.
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติไทย เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบลำดับความสำคัญของกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติไทย และเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรในบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติไทยต่อกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทกลุ่มตัวอย่าง คือ บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นจำนวน 76 บริษัท และบรรษัทข้ามชาติไทยจำนวน 10 บริษัท ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม 2 ชุด ชุดที่ 1 สำหรับผู้จัดการฝ่ายบุคคล ชุดที่ 2 สำหรับผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับล่าง และผู้ปฏิบัติการ แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยทั้งสิ้นจำนวน 344 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Read the rest of this entry »
พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจ ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเจริญวัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติ
พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในการสร้างความเจริญวัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาตินั้น ประกอบด้วยประเด็นหลัก 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจในฐานะนักปกครอง นักการศึกษา และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยในฐานะที่ทรงเป็นนักปกครอง พระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในฐานะนักการศึกษา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นคุณูปการแก่การศึกษาของชาติ ทั้งการส่งเสริมการศึกษา โครงการศิลปาชีพ และการให้การอบรมพระราชโอรสธิดา (จนทรงสามารถเป็นนักศึกษาศาสตร์และนักวิชาการของชาติ) และในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสำคัญๆ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นอเนกประการ
ประพนธ์ โอสถสัมพันธ์สุข. (2547). พระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจ ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเจริญวัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 5-12.