SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ปิยราชกุมารี
ก.พ. 5th, 2016 by supaporn

หน้าปก ปิยราชกุมารี

หน้าปก ปิยราชกุมารี

ปิยราชกุมารี หรือ Beloved Princess อันหมายความถึง เจ้าหญิงผู้ทรงเป็นที่รัก เป็นหนังสือประมวลพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่าง พ.ศ. 2532-2558  ตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุ 34 พรรษา โดยนิติกร กรัยวิเชียร

หนังสือเล่มนี้ จัดทำโดย บริษัทไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป จำกัด ในโอกาสมหามงคล ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยรวบรวมพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ฉายโดย นิติกร กรัยวิเชียร จำนวน 60 องค์ จัดพิมพ์พิเศษที่เน้นเรื่องการออกแบบ และเทคโนโลยีการพิมพ์ขั้นสูงเต็มศักยภาพของบริษัท เพื่อให้พระเกียรติยศทุกประการ แต่ละภาพมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

รายการอ้างอิง

นิติกร กรัยวิเชียร ปราณี ศุภวัฒนเกียรติ ฐินิศร์ อมรธีรสรรค์ สุวารี สันธทรัพย์ ขจร พีรกิจ และตุลย์ หิรัญญลาวัลย์. (2558). ปิยราชกุมารี. กรุงเทพฯ : ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป.

ความรักผูกพันกับจีน : การระลึก 30 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีน
ก.พ. 4th, 2016 by sirinun

ความรักผูกพันกับจีน

ความรักผูกพันกับจีน : การระลึก 30 ปี

ประเทศไทยและประเทศจีนมีความสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันนับเนื่องมาได้หลายร้อยปี ในวาระครบรอบ 30 ปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีน ทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จเยือนจีน สำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวแห่งชาติจีนและสื่อมวลชนระดับโลก จะส่งนักข่าวคอยติตามและถวายรายงาน ภาพถ่ายในหนังสือเล่มนี้จึงถูกคัดเลือกจากภาพถ่ายทั้งหมด ๓๐๐ กว่าภาพ ที่ถ่ายโดยช่างภาพสำนักข่าวซินหัวที่ติดตามพระองค์ท่าน ซึ่งถือเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าอย่างมากในความสัมพันธ์ไมตรีไทย-จีน มีภาพประกอบในเล่มสวยงาม สนใจหาอ่านได้ที่ห้องสมุด https://lib-km.hcu.ac.th/ หมวดหมู่ DS721 ค181 2554

รายการอ้างอิง

ความรักผูกพันกับจีน : การระลึก 30 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีน. (2554). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ศึกษาดูงานศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ และภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาตร์ จฬ.
ม.ค. 26th, 2016 by supaporn

เนื่องจากศูนย์บรรณสารสนสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) มีภารกิจในด้านการบริหารจัดการ และดำเนินการงานหอจดหมายเหตุ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย อธิการบดีในสมัยนั้น เห็นความสำคัญของการมีหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัย จึงได้เริ่มโครงการจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 และทำพิธีเปิดหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 และดำเนินการรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย จัดเก็บรักษา และให้บริการอย่างต่อเนื่อง และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หอจดหมายเหตุ มฉก. จึงมีแผนการในการจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล และเพื่อให้สามารถจัดเก็บและเข้าถึงได้มากขึ้นและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้เริ่มศึกษาแนวทางในการปฏิบัติงานและระบบต่างๆ เพื่อจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย และมีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานสากล โดยการศึกษาดูงานการจัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุของหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นยอมรับ และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รับความรู้ ประสบกรณ์ และบทเรียนในการปฏิบัติงานต่างๆ ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อขอศึกษาดูงานในเรื่องการใช้มาตรฐานการลงรายการเอกสารจดหมายเหตุ ISAD (G) รวมทั้งประสบการณ์การใช้โปรแกรม ICA-Atom ในการจัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุ และ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอศึกษาดูงานการใช้โปรแกรม Omeka ในการจัดการฐานข้อมูลคลังภาพ อักษรศาสตรบรมราชกุมารี คลังดิจิทัล Read the rest of this entry »

ราชสุดาอาศิรพาทพิสิฐ : แนวคิดเรื่องขัตติยนารีและกลวิธีการใช้คำประพันธ์ในกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ม.ค. 26th, 2016 by supaporn

หนังสือ เรื่อง “ราชสุดาอาศิรพาทพิสิฐ : แนวคิดเรื่องขัตติยนารีและกลวิธีการใช้คำประพันธ์ในกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 และเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 โดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 บทได้แก่

  • บทนำ และพระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • แนวคิดเรื่องขัตติยนารีที่ปรากฏในกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • กลวิธีการเลือกใช้รูปแบบคำประพันธ์ในกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้าผู้ทรงเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ ของปวงชนชาวไทย

รายการอ้างอิง

เก๋ แดงสกุล. (2558). ราชสุดาอาศิรพาทพิสิฐ : แนวคิดเรื่องขัตติยนารีและกลวิธีการใช้คำประพันธ์ในกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

มหาภารัตคดี เฉลิมขัตติยานีสิรินธร
ม.ค. 26th, 2016 by supaporn

มหาภารัตคดี เฉลิมขัตติยานีสิรินธร

มหาภารัตคดี เฉลิมขัตติยานีสิรินธร

หนังสือ เรื่อง “มหาภารัตคดี เฉลิมขัตติยานีสิรินธร” จัดทำโดย ชมรมบาลี-สันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญพระฉายาลักษณ์ตราสัญลักษณ์ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ และบทความ “มหาภารตะในฐานะวรรณคดีสำคัญของโลก” พิมพ์ลงในหนังสือนี้

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ มาจากบทความจากการประชุมวิชาการเรื่อง “มหากาพย์มหาภารตะ : ความสัมพันธ์ที่มีต่อวัฒนธรรมไทย” ซึ่งชมรมบาลี-สันสกฤตได้จัดขึ้น ครั้งที่ 1 วันที่ 25-26 ตุลาคม 2533 และครั้งที่ 2 วันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2543 รวมทั้งบทความที่เกี่ยวกับมหาภารตะของคณาจารย์สาขาบาลี-สันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดพิมพ์อยู่ในหนังสือต่างๆ รวมบทความในหนังสือนี้ 20 บทความ โดยแบ่งเป็น 6 ตอน คือ

  • ตอนที่ 1 ปาฐกถานำ มหาภารตะในฐานะวรรณคดีสำคัญของโลก โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายถึงโครงสร้างเนื้อหาของมหากาพย์ภารตะ และความสัมพันธ์ที่มีต่อวัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ ตลอดจนคุณลักษณะที่ทำให้วรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียเรื่องนี้เป็นวรรณคดีสำคัญของโลก
  • ตอนที่ 2 มหาภารตะในอินเดีย
  • ตอนที่ 3 ธรรมะในมหาภารตะ
  • ตอนที่ 4 ความงามทางวรรณคดีของมหาภารตะ
  • ตอนที่ 5 ความสัมพันธ์ของมหาภารตะที่มีต่อวรรณคดีไทย
  • ตอนที่ 6 ความสัมพันธ์ของมหาภารตะที่มีต่อวัฒนธรรมไทย

รายการอ้างอิง

แม่ชีสุภาพรรณ ณ บางช้าง (บก). (2558). มหาภารัตคดี เฉลิมขัตติยานีสิรินธร. กรุงเทพฯ : ชมรมบาลี-สันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศิลป์สิริธร์ ศิลปินสยาม
ม.ค. 26th, 2016 by supaporn

ศิลป์สิริธร์ ศิลปินสยาม

ศิลป์สิริธร์ ศิลปินสยาม

คณะกรรมการมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติได้จัดทำหนังสือ “ศิลป์สิริธร์ ศิลปินสยาม” เฉลิมพระเกียรติในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา รวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจริยภาพด้านศิลปะที่ทรงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องนับแต่ทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของศิลปะแต่ละด้านที่ทรงรังสรรค์ ซึ่งเรียบเรียงโดยผู้ที่เคยศึกษาและติดตามผลงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังนี้

  • กว่าจะเป็น “ศิลป์สิรินธร์ ศิลปินสยาม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ญาดา อารัมภีร
  • “The Making of a Siamese Royal Talent – Sirindhorn” by Assist. Prof. Dr. Yada Arunaveja Arampee ; Translator: Varee Tanthulakorn
  • ศิลปกรรมรังสรรค์ โดย ศาตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร
  • วรรณศิลป์สุนทรีย์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ญาดา อารัมภีร
  • แสง สี เงาฉาย โดย นิติกร กรัยวิเชียร

รายการอ้างอิง

มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน). (2558). ศิลป์สิริธร์ ศิลปินสยาม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข (Happiness that Long Life Brings)
ม.ค. 26th, 2016 by supaporn

อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข (Happiness that Long Life Brings)

อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข (Happiness that Long Life Brings)

หนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างปี 2557-2558 ที่จัดแสดงในนิทรรศการชื่อเดียวกันระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม – 6 มีนาคม 2559 ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ที่ทรงไว้ในคำนำ “ปีนี้เป็นปีที่ข้าพเจ้าอายุ 60 ปี ตั้งแต่ปีที่แล้วใครๆ พากันให้ขนมเค้กแบบต่างๆ มาถึงตอนนี้มีถึง 115 ก้อน (สถิติถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2558) ในนิทรรศการนี้ ผู้จัดจึงเลือกรูปเค้กหลายรูป”

นับตั้งแต่ปี 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นความรู้แก่นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เริ่มตั้งแต่นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “แสงคือสี สีคือแสง” ในปี 2550 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” ในปี 2551 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ถ้าเดินเรื่อยไปย่อมถึงปลายทาง” ในปี 2552 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สี แสง แสดงชีวิต” ในปี 2553 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อุปบัติ ณ โลกี” ในปี 2554 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ควงกล้องท่องโลก” ในปี 2555 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “รูปยาตรา ภาพทัศนาจร” ในปี 2556 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อันมีทิพเนตรส่องไป” ในปี 2557 และในปี 2558 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เพื่อจัดนิทรรศการในหัวข้อ “อยู่มานาน กาลเวลามีสุข”

รายการอ้างอิง
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. (2558). อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข (Happiness that Long  Life Brings). กรุงเทพฯ : ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป.

วิศิษฏศิลปิน
ม.ค. 16th, 2016 by supaporn

วิศิษฏศิลปิน

วิศิษฏศิลปิน

วิศิษฏศิลปิน เป็นชื่อเว็บไซต์ (www.WisithSilapin.org) ที่รวมผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ หนังสือพระราชนิพนธ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ โครงการฯ  รวมทั้ง พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปีประสูติ จนถึง ปัจจุบัน (พ.ศ. 2498-2558) จัดทำโดย มูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะ “องค์วิศิษฏศิลปิน” ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะในหลายสาขา

รายการอ้างอิง
“วิศิษฏศิลปิน” เว็บไซต์รวบรวมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของ “สมเด็จพระเทพฯ”.  (2558). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 จาก http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9590000004793

วัชรปิยชาติ
ม.ค. 15th, 2016 by supaporn

วัชรปิยชาติ

วัชรปิยชาติ

หนังสือ “วัชรปิยชาติ” หรือ “ผู้เป็นที่รักประดุจเพชร” จัดทำขึ้นโดยชาวเพชรบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาญ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558

เนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ มีจำนวน 9 ตอน รวม 61 เรื่อง จากผู้เขียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเพชรบุรี กล่าวถึงความซาบซึ่งในพระจริยวัตรอันงดงาม พระอัจฉริยภาพอันสูงส่ง พระบารมี พระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานให้แก่จังหวัดเพชรบุรีและชาวเมืองเพชร

ขออัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บางส่วนจากาพย์ขับไม้กล่อมช้างสำคัญสามเชือก ณ จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2521

เพชรบุรีรุ่งรัตน์เรื้อง  เรืองรมย์
เกิดเกษตรการควรชม  เชิดไว้
สกุลช่างน่านิยม  เยี่ยมยวด
ประวัติศาสตร์ว่าไว้  เด่นพร้อมแต่บูรพ์

เมืองเพชรบุรีงาม  เลื่องชื่อลือนาม  ไป่เปรียบใดปูน
ป่าดงพงเนา  ทะเลขุนเขา  ซับซ้อนเพิ่มพูน
เรือกสวนเกื้อกูล  เลี้ยงสัตว์มากพูน  เกิดพัฒนา
เขื่อนเพชรมีนาน  เพิ่มน้ำเจืดจาน  ผลิตผลพา
ทั้งการประมง  โป๊ะจับปลาดง  ได้มีราคา
สหกรณ์ลือชา  ชนหลายเหล่ามา  ก็ต่างชื่นชม
มีทั้งเรือนร้าน  สถานที่ราชการ  เลิศล้ำนิยม
ผู้คนหญิงชาย  ไปมาค้าขาย  มากมายอุดม
วัดวาน่าชม  ชาวบุรีรมย์  เก่งทางช่างศิลป์

รายการอ้างอิง
สมพร ประกอบชาติ.  (บก).  (2558). วัชรปิยชาติ. เพชรบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa