SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
กฐินพระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๙
พฤศจิกายน 19th, 2016 by namfon

การทอดกฐินเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทย ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า ๒,๕๐๐ ปี โดยการถวายผ้าพระกฐินของมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีสำคัญประจำปี ช่วงเวลาที่กำหนดระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จะทำก่อนหรือหลังจากนี้ไม่ได้  ในปีนี้อยู่ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙

จากเว็บไซต์ของกรมการศาสนา ได้กล่าวถึง ประวัติการทอดกฐิน ไว้ดังนี้

กฐิน ตามอรรถกถาฎีกาต่างๆ กล่าวไว้มี ๒ ลักษณะ คือ

๑. จุลกฐิน เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนด วันหนึ่ง นับตั้งแต่การเก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย กรอ ทอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันฑ์ ได้ ขนาดตามวินัย แล้วทอดถวายให้แล้วเสร็จในวันนั้น

๒. มหากฐิน เป็นการจัดหาผ้ามาเป็นองค์กฐิน พร้อมทั้งเครื่องไทยธรรม บริวารเครื่องกฐิน จำนวนมาก ไม่ต้องทำโดยรีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหาทุนในการบำรุงวัด เช่น การบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานภายในวัด

การทอดกฐินในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

๑. พระกฐินหลวง เป็น พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น พุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้ง พระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์  ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทน พระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ

กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๒ พระอาราม

๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
๒. วัดอรุณราชวราราม
๓. วัดราชโอรสาราม
๔. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
๖. วัดบวรนิเวศวิหาร
๗. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๘. วัดสุทัศนเทพวราราม
๙. วัดราชาธิวาส
๑๐. วัดมกุฏกษัตริยาราม
๑๑. วัดเทพศิรินทราวาส
๑๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

จังหวัดนครปฐม จำนวน ๑ พระอาราม
๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๒ พระอาราม
๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน
๑๕. วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา

จังหวัดพิษณุโลก จำนวน ๑ พระอาราม
๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก

๒. พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่ถือว่า ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐินเป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกจากพระรามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอารามดังกล่าว รัฐบาลโดยกรมการศาสนาจัดหาผ้าพระกฐินและบริวารพระ กฐิน (ปัจจุบันมี จำนวน ๒๖๕ พระอาราม มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง) ซึ่งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานผ่านไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับ ผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจาก กองศาสนูปภัมถ์ กรมการศาสนาเพื่อนำไปทอด ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้ เมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้วผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ส่งไปยังกรมการศาสนา เพื่อจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทาน ผ้าพระกฐิน ส่งไปยัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลี พระบาท เพื่อถวายพระราชกุศลในการที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป อัญเชิญผ้าพระกฐินไปถวาย ณ อารามนั้น
๓. กฐินต้น เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์
๔. กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไป

ประวัติการทอดกฐินพระราชทานสามสถาบัน

ประเพณีการทอดกฐิน นับเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญประเพณีหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนได้กระทำต่อเนื่องกันมาช้านาน ดังนั้น มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว และ จึงได้ร่วมกันผลัดเป็นเจ้าภาพทอดกฐินพระราชทานสามสถาบันขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

๑. เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงมีต่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โรงพยาบาลหัวเฉียว และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
๒. เพื่อทำนุบำรุงกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และสืบทอดจรรโลงประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย
๓. เพื่อสร้างความสามัคคีตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานทั้งสาม

สำหรับการทอดกฐินพระราชทานสามสถาบันนั้น เริ่มขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในพุทธศักราช ๒๕๕๙ นับเป็นครั้งที่ ๒๒ โดยมีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้ประสานงานหลักกำหนดการทอดกฐินพระราชทาน ในวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ วัดชัยมงคล  ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มียอดเงินรวมทั้งสิ้น ๑,๒๒๗,๗๙๒ บาท (หนึ่งล้านสองแสนสองหมื่นเจ็ดร้อยเก้าสิบสองบาทถ้วน)

14633071_998822766910904_2227406637293214108_n

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน

14595561_998822730244241_2346703684594034082_n

จากการที่ได้เข้าร่วมพิธีสำคัญในครั้งนี้ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลหัวเฉียว และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมด้วยข้าราชการ และพุทธศาสนิกชนจากพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณจังหวัดชลบุรี มาร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น แต่งกายด้วยความเหมาะสม สุภาพเรียบร้อย นอกจากนี้ หน่วยงาน ห้างร้านต่างๆ ได้ร่วมแรงร่วมใจ  จัดทำอาหารปรุงร้อนๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน เช่น ก๋วยเตี๋ยว พิชซ่า ขนมจีนน้ำยา ส้มตำ ลาบ ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง โรตี กล้วยทอด น้ำดื่มหลากหลายประเภท เช่น น้ำผลไม้ และน้ำอัดลม เป็นต้น  สำหรับให้ผู้มาร่วมงานได้รับประทาน  บริเวณภายในศาลาและเต็นท์ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้

ผ้าพระกฐินพระราชทานในครั้งนี้ ถือว่าเป็นผ้าพระกฐินพระราชทานผืนสุดท้าย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาทุกคนขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

หากสนใจหนังสือที่ระลึกกฐินพระราชทาน หาอ่านได้ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ และหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

รายการอ้างอิง

กรมการศาสนา. ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน. สืบค้นจาก  http://sys.dra.go.th/dra_katin/main.php?filename=history_katin

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง. (2557). หนังสือที่ระลึกกฐินพระราชทาน พ.ศ. ๒๕๕๗.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa