SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
รูปปั้นของนายเลี้ยง นวพันธ์ (苏谷良) หรือโซวก๊กเลี้ยง และภาพ ดร. สุขุม นวพันธ์ ผู้บริจาคสร้างอาคารบรรณสาร
มีนาคม 26th, 2020 by namfon

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเฉลิมพระเกียรติ  ก่อตั้งด้วยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ในวาระครบรอบ ๘๐ ปี คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติความคิดเห็นตรงกัน ที่มูลนิธิฯ จะจัดให้มีการเฉลิมฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ศาสนาให้มีความร่มเย็นสมานฉันท์ มีเจตจำนงที่จะช่วยส่งเสริมบำรุงการศึกษาระดับสูงของประเทศให้รุ่งเรืองขึ้น  จึงเกิด “โครงการมหาวิทยาลัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”  โดย ดร.อุเทน  เตชะไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ ได้บริจาคเงิน ๑๐๐ ล้านบาท เป็นท่านแรก และได้รณรงค์ขอรับสนับสนุนเงินบริจาค  ผู้มีจิตศรัทธาทั้งภาครัฐและเอกชน  จากนักธุรกิจ คหบดี ธนาคาร องค์การธุรกิจและองค์กรการกุศล  ตลอดจนประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ  เรียกว่า “คณะผู้ก่อตั้ง” มหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่ ๑๐ ล้านบาทเป็นต้นไป ดร.สุขุม นวพันธ์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการเชิญให้ร่วมบริจาคด้วย โดย ดร.สุขุมฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ ๙๐ ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า ความว่า

…วันหนึ่ง คุณอุเทนกับผมเล่นกอล์ฟด้วยกัน ท่านบอกว่ากำลังดำริจะก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นแห่งหนึ่งชื่อหัวเฉียว  และท่านเองก็จะบริจาคหอประชุมในนามบิดาท่าน ๑๐๐ ล้านบาท  ผมก็เรียนท่านว่าเป็นความคิดและโครงการที่ดี   ผมจะขอบริจาค ๒๐ ล้านบาท สร้างตึกห้องสมุดเพื่อเป็นที่ระลึกคุณพ่อผม ฉะนั้น คุณอุเทนถือว่าเป็นผู้บริจาครายแรก และผมก็เป็นผู้บริจาครายที่สอง … 

ในวันพิธีเปิดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  เมื่อวันที่ ๒๔  มีนาคม  ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ  ดร.สุขุมฯ ได้เข้ารับพระราชทานเข็มสมนาคุณด้วยในวันนั้น  โดยเข็มสมมนาคุณมีทั้งหมด ๓ แบบด้วยกันคือ  ๑. มอบให้แก่ผู้ก่อตัั้งมหาวิทยาลัยฯ  ๒. มอบให้แก่ผู้บริจาค ตั้งแต่ ๕ ล้านบาทขึ้นไป  ๓. มอบให้แก่ผู้บริจาค ตั้งแต่ ๑ ล้านบาทขึ้นไป

 

ดร.สุขุม นวพันธ์ รับพระราชทานของที่ระลึก

 

เข็มสมนาคุณ

เพราะเหตุใดจึงมีรูปปั้นนายเลี้ยง นวพันธ์ (苏谷良) หรือโซวก๊กเลี้ยง  ซึ่งเป็นบิดาของ ดร. สุขุม นวพันธ์  จัดวางอยู่ในอาคารบรรณสาร ณ บริเวณชั้น ๓ ตรงประตูทางเข้า ตามความประสงค์ของ ดร.สุขุมฯ ในการจัดสร้างห้องสมุดเพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณพ่อนั่นเอง

รูปปั้น นายเลี้ยง  นวพันธ์ (苏谷良) หรือโซวก๊กเลี้ยง  จัดวางที่บริเวณ ชั้น ๓

รูปปั้น คุณเลี้ยง นวพันธ์ (苏谷良) หรือโซวก๊กเลี้ยง จัดวางที่บริเวณ ชั้น ๓ จึงอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จักอาคารบรรณสาร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้มากยิ่งขึ้น  มีลักษณะอาคารเป็นเอกเทศ สูง ๖ ชั้น (อาคารหมายเลข ๖)  พื้นที่ประมาณ ๘,๖๐๐ ตารางเมตร  ผู้ใช้บริการ  สามารถมาศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือที่หลากหลาย ให้บริการทั้งหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาจีน  จัดที่นั่งสำหรับอ่านเฉพาะบุคคลหรือเป็น
กลุ่มก็มีให้เลือกนั่งตามอัธยาศรัย  บริการฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย  ห้องสัมมนากลุ่ม  ห้องประชุม  ทำกิจกรรมสันทนาการ  งานจดหมายเหตุ  ห้องสมุดวัฒนธรรมศาสนาเต๋า นอกจากนี้ ห้องสมุดภาษาจีน ห้องทรงพระอักษรสมเด็จพระเทพฯ ห้องสมุดการแพทย์แผนจีน และสถาบันขงจื่อการแพทย์แผนจีนแห่งแรกในประเทศไทย  ซึ่งได้รับความสนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

อาคารบรรณสาร (วันพิธีเปิดมหาวิทยาลัยฯ)

ภายในบริเวณพื้นที่ชั้น ๖ อาคารบรรณสาร ยังมีภาพถ่ายแขวนประดับไว้ในกรอบสีทอง จำนวน ๒ ภาพ  ดังนี้ ภาพแรก คือ ภาพนายเลี้ยง นวพันธ์ แต่งกายด้วยชุดครุยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเลี้ยง นวพันธ์ เชื้อสายจีนแต้จิ๋ว สมรสกับนางควร นวพันธ์ เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้จัดตั้งสำนักกฎหมายนวธรรม ดำเนินธุรกิจครอบครัว ดร.สุขุมฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ ร้อยคำบอกเล่าเรื่องมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ความว่า
“…มีเรื่องขำขอนำมาเล่าให้ฟังว่า  คุณพ่อเป็นที่ปรึกษากฎหมายปีแรกๆ ป่อเต็กตึ๊ง ส่งค่าปรึกษามาให้ปีละ ๒,๐๐๐ บาท  คุณพ่อเมื่อได้รับแล้วก็บวกอีก ๒,๐๐๐ บาท คือ บวกอีกเท่าตัวแล้วบริจาคคืนมาให้ป่อเต็กตึ๊ง  ต่อมาอีก ๒-๓ ปี ขึ้นค่าที่ปรึกษาเป็น ๓,๐๐๐ บาท คุณพ่อก็เพิ่มอีก ๓,๐๐๐ บาท  คือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวแล้วบริจาคกลับไปอีกฝ่ายจัดการป่อเต็กตึ๊งฉลาดดี  แกคงจับจุดได้ (หัวเราะ)  ก็เลยขึ้นอีกเท่าตัวแล้วบริจาคกลับไปอีก  ๖,๐๐๐ บาท คุณพ่อก็แถมอีกเท่าตัวคือ ๖,๐๐๐ บาทกลับไป  จนคุณพ่อต้องบอกว่าพอแล้วไม่ต้องขึ้นอีกแล้ว เรื่องจึงยุติ…” 

ภาพ คุณเลี้ยง นวพันธ์ (苏谷良) บริเวณ ชั้น ๖

ภาพที่ ๒ คือ ภาพ ดร. สุขุม นวพันธ์  แต่งกายด้วยชุดข้าราชการสีขาว ดร.สุขุม นวพันธ์ เกิดวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๖๘  สมรสกับคุณเมธ์วดี นวพันธ์ นามสกุลเดิม (กาญจนจารี)  ดร.สุขุมฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ.รุ่นที่ ๑ ด้านชีวิตการทำงาน เริ่มทำงานเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ต่อมาได้เข้าทำงานที่ธนาคารทหารไทย ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ในระหว่างนั้นได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (สสปร.) และอีกหลายตำแหน่งทั้งในประเทศ ต่างประเทศ  นอกจากนี้ เป็นกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๑๐ (เลขาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๘) กรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และคณะผู้ก่อตั้งของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  ดำเนินธุรกิจครอบครัวด้านสนามกอล์ฟนวธานีและที่อยู่อาศัย ก่อตั้งมูลนิธิสุขุโม จัดตั้งโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมถ์ พร้อมสนับสนุนเพื่อสร้างอาคารเรียนและมอบทุนการศึกษาทุกปี  ได้ช่วยเหลือกิจการของมหาวิทยาลัยฯ หลายครั้ง  เช่น บริจาคโต๊ะปิงปองซีเมนต์พร้อมอุปกรณ์การเล่น  จัดแสดงคอนเสิร์ตวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (Bangkok Symphony Orchestra)  ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัชกาลที่ ๑๐  พร้อมคุณเสาวนิตย์ นวพันธ์ ที่หอประชุมใหญ่  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  บริจาคหนังสือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย  ให้กับคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา  รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

ดร.สุขุมฯ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สร้างคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นผู้ให้โอกาสในการช่วยเหลือ สนับสนุนทางการศึกษาต่อเด็กและเยาวชน  เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ เป็นคนดีและเป็นกำลังสำคัญต่อไปในอนาคต

ภาพ ดร.สุขุม นวพันธ์  บริเวณ ชั้น ๖

 

รายการอ้างอิง

กรรณิการ์ ตันประเสริฐ และคณะ. ๙๐ ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งบนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๓.

ที่ระลึกพิธีเปิด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๗, กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๓๗.

กรรณิการ์ ตันประเสริฐ และคณะ. ร้อยคำบอกเล่าเรื่องมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์. ๒๕๔๓.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa