จากการเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง i-School and Information Science Education in South Korea โดย Prof. Dr. Sam Oh, Sungkyunkwan University, South Korea, SKKU Library เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ห้องกิจกรรม ชั้น 2 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สามารถสรุปเนื้อหาได้ ดังนี้
i-School เป็นภาคีความร่วมมือของสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการบริหารจัดการสารสนเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านสารสนเทศจากหลากหลายสาขาในสถาบันต่างๆ มาร่วมกันแบ่งปัน องค์ความรู้ ประสบการณ์ ทรัพยากร เพื่อพัฒนาสร้างหลักสูตรด้าน Information Science ร่วมกัน ซึ่งมุ่งหวังในการผลิตบัณฑิตที่จบมาให้สามารถหางานได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มต้นจากการนำความต้องการในการทำงานจากภาคอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชนมาใช้ในการออกแบบหลักสูตร กำหนดโจทย์ให้นักศึกษาใช้ฝึกฝน เรียนรู้จากปัญหาที่พบในการทำงานจริง ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการในการรับบัณฑิตกลุ่มนี้เข้าทำงาน โดย i-School เริ่มต้นในปี 2003 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับความมือจากทวีปอื่น เช่น ยุโรป เอเซีย ตามมา แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของ i-School
เนื่องจากในปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่รอบตัวเราทุกคนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตและการทำงาน เราจึงควรนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีการนำข้อมูลจำนวนประชาชนที่ยืนรออยู่ที่ป้ายรถเมล์ในช่วงเวลาต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจว่า จะเลือกรถเมล์สายใดในการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยวิเคราะห์ดูข้อมูลจากสถิติสัญญาณโทรศัพท์ที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของป้ายรถเมล์ ดังนั้น ในการนำข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่รอบตัวเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการของ Information Science ที่เป็นศาสตร์ในการศึกษา ความเชื่อมโยง ปฎิสัมพันธ์ ในความสัมพันธ์ของ 3 สิ่ง ได้แก่ มนุษย์ ข้อมูลสารสนเทศ และเทคโนโลยี โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดเก็บและบริหารจัดการสารสนเทศ ประมวลผลข้อมูลเหล่านั้น แล้วนำมาวิเคราะห์ให้มนุษย์ใช้ในการตัดสินใจ
วิทยากรได้แนะนำ i-School โดยมีลักษณะของการเป็นสมาชิกในหลากหลายรูปแบบ จุดเด่นของ i-School เช่น การเป็น i-School จะเป็นการนำไปสู่การเป็น Data Science และ Digital humanities ซึ่งทั้งสองเรื่องสำคัญมากพอๆ กัน iPerspective (หรือ information perspective) จะยั่งยืนได้ต้องมีใจที่เปิดกว้าง พนักงานหรือบุคลากรที่มีนวัตกรรมจะเป็นตัวเชื่อมนักศึกษาและอุตสาหกรรมในการทำงาน โครงการแลกเปลี่ยนที่เป็นสากลจะทำให้นักศึกษาที่มุมมองที่กว้างขึ้น ฯลฯ