อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ
บทคัดย่อ
อำนาจและพฤติกรรมการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับองค์การ ทั้งนี้เพราะองค์การจำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขององค์การจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ใช้อำนาจและพฤติกรรมการเมืองให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้องค์การก้าวหน้าได้จากความสามัคคีของบุคลากร แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างแพร่หลาย ผลประโยชน์ของตนเองและของกลุ่มจะมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ขององค์การ บทความนี้จึงนำเสนอแนวคิดและหลักการที่จะพึงมีคุณประโยชน์ต่อองค์การโดยรวมที่แสวงหาความก้าวหน้าโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรขององค์การ
สถาพร ปิ่นเจริญ. (2546). อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 13 – 21.
การบริหาร : การสร้างแรงจูงใจในที่ทำงาน
บทคัดย่อ:
ความต้องการและแรงจูงใจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนี้ เพื่อการบริหารที่มุ่งหวังผลจากความสามัคคีของบุคคลในองค์การ ตลอดจนการสร้างแรงเสริมและความกระตือรือร้น จากหลักการบริหารที่กล่าวว่าองค์การเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนและงาน องค์การจึงเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างคนและงาน ทั้งนี้ เพราะคนเป็นผู้สร้างงานขึ้น นั่นคือ การที่คนได้สร้างองค์การขึ้นมานั่นเอง ในขณะที่งาน ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในการที่คนใช้เป็นต้นแบบในการทำงาน ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมคนด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้คนและงานจึงเอื้อประโยชน์ต่อกัน เพราะคนเป็นผู้สร้างงาน ในขณะที่งานเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของคนให้สอดคล้องกันในการทำงานร่วมกัน จากความสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมดนี้ จึงจะเห็นได้ว่า หากบุคลากรในองค์การ ได้รับแรงจูงใจในการทำงานให้เขาเหล่านั้น ได้บรรลุถึงความต้องการของตนเองแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประสิทธิผลในการทำงาน และประสิทธิผลโดยรวมขององค์การ
สถาพร ปิ่นเจริญ. (2547). การบริหาร : การสร้างแรงจูงใจในที่ทำงาน. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (14), 45-50.
อ่านบทความฉบับเต็ม
การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นกับบรรษัทข้ามชาติไทย
A Comparative Study on Activities of Human Resource Development between Japanese and Thai Transnational Corporations.
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติไทย เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบลำดับความสำคัญของกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติไทย และเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรในบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติไทยต่อกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทกลุ่มตัวอย่าง คือ บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นจำนวน 76 บริษัท และบรรษัทข้ามชาติไทยจำนวน 10 บริษัท ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม 2 ชุด ชุดที่ 1 สำหรับผู้จัดการฝ่ายบุคคล ชุดที่ 2 สำหรับผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับล่าง และผู้ปฏิบัติการ แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยทั้งสิ้นจำนวน 344 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Read the rest of this entry »
กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร
การบริหารองค์การให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักบริการว่าจะมีทัศนคติและวิสัยทัศน์ต่อทรัพยากรทางการบริหารในมุมมองอย่างไร นักบริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ขององค์การในระยะยาว และให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีบทบาทสำคัญในการที่จะใช้กุญแจ 10 ดอก ซึ่งเป็นทัศนคติและวิสัยทัศน์อันจะเป็นมุมมองในการบริหารทรัพยากรขององค์การ เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ขององค์การ อนึ่งกุญแจสำคัญทั้ง 10 ดอกนี้ล้วนแต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จทางการบริการ ทั้งนี้เพราะผู้บริหารจะต้องรู้จักประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เปรียบเสมือนการเลือกใช้ลูกกุญแจไขให้ถูกคู่กับแม่กุญแจจึงจะประสบความสำเร็จในการไขกุญแจได้ อย่างไรก็ตาม กุญแจ 10 ดอกนี้จะเป็นแสงไฟที่ช่วยส่องนำทางเพื่อทำให้การบริหารดำเนินไปอย่างมีทิศทาง มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล
สถาพร ปิ่นเจริญ. (2548). กุญแจ 10 ดอก : ไขปัญหาสำคัญทางการบริหาร. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (16), 21-34.
การอบรมเลี้ยงดู : อิทธิพลที่มีต่อพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ
ถ้าจะกล่าวว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดในองค์การนั้น ก็คงจะไม่ใช่คำกล่าวที่ผิด ทั้งนี้ เนื่องมาจากว่ามนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้ การปรับตัว การพัฒนาตนเอง ตลอดจนมีความสามารถที่จะพัฒนาองค์การให้ก้าวหน้าและปรับตัวให้ทันต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายความว่าทรัพยากรมนุษย์จะเป็นตัวนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น นักบริหารในองค์การต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักบริหารในระดับต้น ระดับกลาง หรือระดับสูงก็ตาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ทั้งในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ เพื่อที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น การสรรหา การพัฒนา และการบรรจุคนให้เหมาะสมกับงาน ตลอดจนการใช้สิ่งจูงใจเพื่อกระตุ้นให้มนุษย์ทำงาน เนื่องจากมนุษย์นั้นแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งจูงใจจึงแตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งอาจต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
สถาพร ปิ่นเจริญ. (2547). การอบรมเลี้ยงดู : อิทธิพลที่มีต่อพฤติกรรมของบุคคลในองค์การ. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 44-54.