SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
หนังสืออ้างอิง
มิถุนายน 19th, 2017 by yuphin

หนังสืออ้างอิง (Reference Books)

61518A

ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่อง “โครงการแก้ไข Location หนังสืออ้างอิง” จึงได้รวบรวมและเรียบเรียงความหมายของหนังสืออ้างอิงขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาและให้ความรู้ด้านหนังสืออ้างอิง เมื่อกล่าวถึงหนังสืออ้างอิงหลายคนนึกถึง พจนานุกรม สารานุกรม หรือหนังสือที่มีรูปเล่มขนาดใหญ่และหนากว่าหนังสือทั่วๆ ไป และตระหนักว่า เป็นหนังสือประเภทหนึ่งซึ่งเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านได้ค้นคว้า หาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง โดยไม่ต้องอ่านหมดทั้งเล่มแต่ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่ต้องการเท่านั้น

หนังสืออ้างอิงมีคุณสมบัติทั่วไปดังนี้

1. เป็นหนังสือที่มุ่งให้ความรู้ เรื่องราว ข้อเท็จจริงที่สำคัญ
2. เขียนโดยผู้ทรงวุฒิในเฉพาะสาขาวิชา
3. รวบรวมความรู้ไว้หลายสาขาวิชา
4. เรียบเรียงเนื้อหาไว้อย่างมีระบบ สะดวกแก่การใช้
5. ส่วนมากมีรูปเล่มขนาดใหญ่ มีหลายเล่มจบ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอ่าน ตลอดเล่ม อ่านเฉพาะตอนที่ต้องการ

61516C61515 B61517D
ความสำคัญและลักษณะของหนังสืออ้างอิง

หนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญ ใช้สำหรับค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการและ ช่วยในการประกอบการค้นคว้าหาความรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทมีความสำคัญในด้านให้ข้อเท็จจริงที่จะเป็น ประโยชน์ในการค้นคว้าหาคำตอบที่แตกต่างกัน หนังสืออ้างอิงนั้น เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ห้องสมุดมักจะจัดแยกหนังสืออ้างอิงไว้ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อสะดวกในการ ศึกษาค้นคว้า โดยให้สัญลักษณ์ตัวอักษร อ. (ย่อมาจาก อ้างอิง) หรือ R (ย่อมาจาก Reference) กำกับไว้ที่สันของหนังสือ หนังสืออ้างอิงมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากหนังสือทั่วไป

ลักษณะรูปเล่มและเนื้อหา

1. ลักษณะรูปเล่มของหนังสืออ้างอิงมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของหนังสืออ้างอิง เช่น
1.1 ขนาดใหญ่มาก หรือขนาดเล็กมาก ได้แก่หนังสือพจนานุกรม จัดทำรูปแบบให้เหมาะสมกับการใช้ เช่น ฉบับนักเรียนนักศึกษา ฉบับตั้งโต๊ะ ฉบับย่อ ฉบับสมบูรณ์
1.2 แต่ละชุดมีหลายเล่ม ได้แก่ หนังสือสารานุกรม เนื่องจากมีการรวบรวมเนื้อหาทุกเรื่องทำให้เนื้อหายาว จำเป็นต้องทำหลายเล่ม
1.3 มีการจัดทำด้วยวัสดุต่าง ๆ หลากหลาย เช่น ทำปกด้วยหนัง ผ้า ผ้าไหมผ้าแรกซีน กระดาษที่ใช้พิมพ์เนื้อหามีคุณภาพสูง
2. ผู้รับผิดชอบในการจัดทำ เป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ โดยเฉพาะ หนังสืออ้างอิงจึงเป็นหนังสือที่มีคุณภาพสูง เนื้อหาเชื่อถือได้ และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้
3. การเรียบเรียงเนื้อหา การเรียงเนื้อหาของหนังสืออ้างอิง จะมีวิธีการเรียงลำดับเนื้อหาให้ค้นได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว เช่น
3.1 เรียงตามลำดับอักษรแบบพจนานุกรม (alphabetical or dictionary arrangement) เช่น หนังสือพจนานุกรม สารานุกรม เป็นต้น
3.2 เรียงตามลำดับเหตุการณ์ เช่น หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หนังสือรายปี หนังสือสมพัตสร เป็นต้น
3.3 การเรียงตามลำดับหมวดหมู่หรือหัวเรื่อง (classified or subject arrangement) เช่น หนังสือบรรณานุกรม ดรรชนีวารสาร เป็นต้น
3.4 เรียงตามลักษณะภูมิศาสตร์ (geographical arrangement) ได้แก่ หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ ที่มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ และในแต่ละภูมิภาคจะเรียงเนื้อหาตามจังหวัดและอำเภอตามลำดับ
4. มีคำชี้แจงการใช้ หนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทมักมีการจัดเรียงเนื้อหาหรือการรวบรวมข้อมูลต่าง กัน ดังนั้นจึงมีการจัดพิมพ์คำแนะนำในการใช้หนังสือไว้ตอนต้นของหนังสือแต่ละ เล่ม เช่น อธิบายวิธีการเรียงลำดับเนื้อหาภายในเล่ม อักษรย่อ (abbreviations) สัญลักษณ์ (symbols) เครื่องหมาย (sins) ที่ใช้ในเล่ม ขอบเขตของเนื้อหา เป็นต้น
5. จัดทำเครื่องมือช่วยในการค้นภายในเล่มหรือในชุด ได้แก่ สารบัญ คำนำทาง ดัชนีริม หน้ากระดาษ อักษรนำเล่ม ส่วนโยง และดัชนี เป็นต้น

ประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง

หนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งสารนิเทศเบื้องต้นที่มีประโยชน์สรุปได้ดังนี้
1. เป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแน่นอนได้ในทุกสาขาวิชา
2. เป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยทุกระดับ
3. เป็นแหล่งที่สามารถค้นหาคำตอบได้สะดวกและรวดเร็ว

ประเภทของหนังสืออ้างอิง
หนังสืออ้างอิงจัดแยกตามลักษณะเนื้อหาได้ 2 ประเภท คือ

1. หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศ เป็นหนังสือที่ให้สารสนเทศเฉพาะเรื่องเช่น พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม อักขรานุกรมชีวประวัติ หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ หนังสือคู่มือ และหนังสือรายปี
2. หนังสืออ้างอิงที่บอกแหล่งสารสนเทศ เป็นหนังสือที่ไม่ให้สารสนเทศโดยตรง แต่จะชี้แนะแหล่งสารสนเทศในที่อื่น ๆ เช่น หนังสือบรรณานุกรม และหนังสือดัชนีวารสาร

หนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทให้ความรู้เฉพาะเรื่องที่แตกต่างกันออกไป มีการเรียบเรียงเนื้อหา รวมทั้งการจัดทำเครื่องมือช่วยค้นหาเรื่องราวในเล่มแตกต่างกัน ดังนั้นผู้อ่านจึงควรทราบว่าหนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทมีขอบเขตเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใด ในแต่ละประเภทมีหนังสืออะไรบ้างดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ขอบเขตของหนังสืออ้างอิง

พจนานุกรม (Dictionary)
พจนานุกรม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคำ ได้แก่ ความหมายของคำ ชนิดของคำ ตัวสะกด การันต์ การอ่านออกเสียง คำพ้อง คำตรงข้าม อักษรย่อและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับคำ อาจมีตัวอย่างประโยคแสดงการใช้คำ เพื่อประกอบคำอธิบายด้วย

หนังสือพจนานุกรมจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 2 ประเภทคือ

1. พจนานุกรมทั่วไป คือ พจนานุกรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคำ หรือศัพท์สามัญที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งภาษาพูดภาษาเขียน แบ่งออกเป็น
1.1 พจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ คือ พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ทุกคำที่มีใช้อยู่ในภาษา มีทั้งคำศัพท์เก่าและคำใหม่ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำเช่น ที่มาของคำ คำอ่าน คำแปลอธิบายความหมายของคำอย่างละเอียด มีตัวอย่างประโยค และแสดงการใช้คำ
1.2 พจนานุกรมฉบับย่อ คือ พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีคำจำนวนน้อย บอกคำอ่านและอธิบายความหมายของคำสั้น ๆ ไม่มีตัวอย่างประโยคที่แสดงการใช้คำ เช่น พจนานุกรม ศัพท์หมวดอังกฤษ- ไทย : ฉบับนักศึกษา
1.3 พจนานุกรมสองภาษา คือ พจนานุกรมที่ให้รวยการคำด้วยภาษาหนึ่ง และอธิบายหรือให้ความหมายของคำอีกภาษาหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบคำระหว่างสอง ภาษา เช่นพจนานุกรมไทย-อังกฤษ พจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส พจนานุกรมจีน-ไทย
1.4 พจนานุกรมหลายภาษา คือ พจนานุกรมที่ให้รวยการคำด้วยภาษาหนึ่ง และอธิบายหรือให้ความหมายของคำภาษาอื่นมากกว่าสองภาษาขึ้นไป เช่น พจนานุกรมภาษาไทย

2. พจนานุกรมเฉพาะวิชา คือ พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์เฉพาะวิชามาไว้ในเล่มเดียวกัน ให้ความหมายของคำศัพท์นั้น เช่น ศัพท์ศาสนา พจนานุกรมภูมิศาสตร์ ศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ ศัพท์คอมพิวเตอร์ พจนานุกรมดนตรี

สารานุกรม (Encyclopedia)

สารานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมความรู้ในแขนงวิชาต่างๆ โดยผู้ชำนาญในแต่ละสาขาวิชา จัดเรียงเนื้อหาตามลำดับอักษรหรือแบ่งเป็นหมวดหมู่วิชา สารานุกรมอาจมีเล่มเดียวจบ หรือเป็นหนังสือชุด

หนังสือสารานุกรมจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 2 ประเภทคือ
1. สารานุกรมทั่วไป เป็นสารานุกรมที่ให้ความรู้ในวิชาต่างๆ ไม่จำกัดสาขาให้ความรู้กว้าง ๆ พอเป็นพื้นฐานสำหรับผู้อ่านทั่วไป แบ่งออกเป็นสารานุกรมสำหรับเด็กและสารานุกรมสำหรับผู้ใหญ่ เช่น สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
2. สารานุกรมเฉพาะวิชา เป็นสารานุกรมที่ให้ความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างละเอียดลึกซึ้งกว่า สารานุกรมทั่วไป เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะสาขาวิชานั้น ๆ เช่น สารานุกรมประวัติศาสตร์ สารานุกรมของใช้พื้นบ้านไทยในอดีต สารานุกรมชุดร่างกายของเรา

นามานุกรม หรือทำเนียบนาม (Directory )

นามานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมรายชื่อบุคคล องค์กรต่างๆ พร้อมสถานที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์ จัดเรียงรายการตามลำดับอักษร

หนังสือนามานุกรมแบ่งตามเนื้อหาได้ 5 ประเภทคือ
1. นามานุกรมท้องถิ่น (local directory) เป็นนามานุกรมที่จัดทำขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ
2. นามานุกรมของรัฐ (government directory) เป็นนามานุกรมที่หน่วยงานรัฐ จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูล เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐบาล
3. นามานุกรมสถาบัน (institutional directory) เป็นนามานุกรมที่รวบรวมชื่อสถาบันต่างๆ
4. นามานุกรมสาขาอาชีพ (professional directory) เป็นนามานุกรมที่ให้รายชื่อบุคคล ในสาขาวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่ง
5. นามานุกรมการค้าและธุรกิจ (Trade and business directory) เป็นนามานุกรมที่ให้รายชื่อของบริษัท จัดทำโดยเอกชน เพื่อประโยชน์ในเชิงการค้า

อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical Dictionary)

อักขรานุกรมชีวประวัติ คือ หนังสือที่รวบรวมประวัติชีวิตของบุคคลสำคัญให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เชื้อชาติ สถานที่ เกิด วัน เดือน ปี เกิด หรือ ตาย ระดับการศึกษา ผลงานดีเด่น เป็นต้น

หนังสืออักขรานุกรมชีวประวัติจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 3 ประเภทคือ
1. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลทั่วไป (international biography) รวบรวมเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ อาชีพหรือศาสนา โดยครอบคลุมเฉพาะประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น หรือสิ้นชีวิตไปแล้ว เท่านั้น
2. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลเฉพาะเชื้อชาติ (national / regional biography) ให้เรื่องราวของบุคคล ที่เกิด หรืออยู่ในแต่ละประเทศโดยเฉพาะ
3. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลเฉพาะอาชีพ (professional or subject biography) รวบรวมชีวประวัติ ของบุคคลที่มีชื่อเสียงอาชีพเดียวกันไว้ด้วยกัน

หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical Sources)
หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ และสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ

หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์จัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 3 ประเภทคือ
1. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์
2. หนังสือนำเที่ยว
3. หนังสือแผนที่

หนังสือคู่มือ (Handbook)

หนังสือคู่มือ เป็นหนังสือที่ให้ข้อเท็จจริง ตัวเลข สถิติต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องราวที่ควรรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเสนอข้อเท็จจริงอย่างสั้น เพื่อใช้เป็นคู่มือในการตอบคำถามเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งอย่างรวดเร็ว หรือคู่มือปฏิบัติในวิชาใดวิชาหนึ่งเช่น คู่มือในวิชาเคมี เป็นต้น
หนังสือคู่มือจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 2 ประเภทคือ
1. หนังสือคู่มือทั่วไป หนังสือคู่มือทั่วไป ให้ความรู้เบ็ดเตล็ดทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดสาขาวิชา เช่น คู่มือผู้ซื้อ Guinness Book of World Records เป็นต้น
2. หนังสือคู่มือเฉพาะวิชา รวบรวมความรู้เฉพาะสาขาวิชาพร้อมคำอธิบายอย่างสั้น ๆ

หนังสือรายปี (Yearbook)

หนังสือรายปี คือ หนังสือที่พิมพ์ออกเป็นรายปี ให้ข้อมูล ข่าวสาร ในรอบปีที่ผ่านมา โดยนำเสนอสารสนเทศแบบพรรณนาอย่างสั้นๆ มีตัวเลข ตาราง สถิติประกอบ
หนังสือรายปีแบ่งได้ 4 ประเภทคือ
1. หนังสือรายปีของสารานุกรม จัดทำขึ้นเพื่อปรับปรุงเนื้อหาในสารานุกรมให้ทันสมัยอยู่เสมอเป็นประจำทุกปี
2. หนังสือสรุปผลงานประจำปี เป็นหนังสือรายงานผลงานประจำปีของหน่วยงานทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชน
3. หนังสือรายปีเฉพาะด้าน จะให้ข้อมูลสังเขปพร้อมตัวเลขสถิติเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการใน สาขาใดสาขาหนึ่ง หรือเรื่องราวของประเทศใดประเทศหนึ่ง
4. สมุดสถิติรายปี จะรวบรวมเฉพาะสถิติตัวเลขทางด้านต่าง ๆ

ปฏิทินเหตุการณ์รายปี หรือ สมพัตสร (Almanac)

ปฏิทินเหตุการณ์รายปี หรือสมพัตสร เป็นหนังสือที่รวบรวมข่าว เหตุการณ์สำคัญ สถิติ ในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งความรู้เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ โดยนำเสนอสารสนเทศเรียงตามวันเดือนปี
หนังสือสมพัตสรจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 2 ประเภทคือ
1. ปฏิทินเหตุการณ์รายปีที่ให้เรื่องราวทั่ว ๆ ไปทุกด้าน
2. ปฏิทินเหตุการณ์รายปีที่ให้เรื่องราวเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งหรือเฉพาะด้าน

หนังสือสิ่งพิมพ์รัฐบาลจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 17 ประเภทคือ
1. รายงานการบริหาร
2. รายงานสถิติ
3. รายงานของคณะกรรมการต่างๆ
4. รายงานการค้นคว้า และวิจัย
5. ร่างกฎหมายและมติต่างๆ
6. ผลการพิจารณา
7. วารสารและรายงานการประชุม
8. กฎหมาย รวมบทกฎหมาย และประมวลกฎหมายต่างๆ
9. คำพิพากษา และความเห็นศาล
10. ระเบียบ กฎข้อบังคับ และคู่มือต่างๆ
11. ทำเนียบ และทะเบียน
12. บรรณานุกรม และรายชื่อต่างๆ
13. เรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ของราชการ
14. วารสาร
15. ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริง นโยบาย ความคิดเห็น และการดำเนินงานตามแผนพัฒนา
16. แผนที่ และแผนภูมิ
17. ภาพยนตร์ อุปกรณ์โสตทัศน์วัสดุ และแบบจำลองต่าง ๆ

หนังสือดัชนี (Index)

หนังสือดัชนี เป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อบทความจากวารสารต่าง ๆ ให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของวารสาร ได้แก่ ชื่อแต่งหรือผู้เขียนบทความ ชื่อวารสาร ปีที่ออก ฉบับที่ออก และเลขหน้าที่ปรากฏบทความ หนังสือดัชนีบางเล่มให้สาระสังเขปเนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้ค้นคว้าทราบขอบเขต เนื้อเรื่องในบทความก่อนไปอ่านบทความฉบับจริง
หนังสือดัชนีจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 4 ประเภทคือ
1. ดรรชนีวารสาร
2. ดรรชนีหนังสือพิมพ์
3. ดรรชนีหนังสือรวม เรื่อง
4. ดรรชนีที่ห้องสมุดจัดทำ

หนังสือบรรณานุกรม (Bibliography)

หนังสือบรรณานุกรม เป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ ให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของหนังสือ ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ปีที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ เพื่อให้ผู้ค้นคว้าสามารถติดตามหาหนังสือที่ต้องการได้
หนังสือบรรณานุกรมจัดแบ่งตามเนื้อหาได้ 5 ประเภทคือ
1. บรรณานุกรมสากล รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทโดยไม่จำกัดว่าเป็นทรัพยากรสารสนเทศของชาติใด ภาษาใด
2. บรรณานุกรมแห่งชาติ รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
3. บรรณานุกรมร้านค้า รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่จัดพิมพ์โดยร้านค้าหรือสำนักพิมพ์เพื่อแนะนำทรัพยากรสารสนเทศใหม่ ๆ
4. บรรณานุกรมเฉพาะวิชา รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง
5. บรรณานุกรมเลือกสรร รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่เลือกสรรแล้วว่ามีคุณค่า

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าหนังสือ อ้างอิงเป็นหนังสือที่ได้รับการจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อใช้ค้นหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ดังนั้นหนังสืออ้างอิงจึงมีลักษณะต่างๆ ที่ควรกล่าวถึงดังต่อไปนี้

1. ประเภทให้คำตอบทันที ได้แก่ พจนานุกรม สารานุกรม หนังสือรายปี อักขรานุกรมชีวประวัติ หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สิ่งพิมพ์รัฐบาล หนังสืออ้างอิงเฉพาะวิชา เป็นต้น ผู้อ่านสามารถเลือกใช้หนังสืออ้างอิงเหล่านี้ค้นหาคำตอบที่ต้อง การตามความเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการทราบ ได้แก่
1.1 พจนานุกรม (Dictionaries)
1.2 สารานุกรม (Encyclopedias)
1.3 หนังสือรายปี (Yearbooks)
1.4 หนังสือคู่มือ (Handbook)
1.5 นามานุกรม (Directories)
1.6 อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical Dictionaries)
1.7 หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical Sources)
1.8 สิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government Publications)

2. ประเภทบอกแหล่งค้นคว้า ได้แก่ บรรณานุกรม ดรรชนี ผู้อ่านต้องการทราบคำตอบในทันทีจะค้นหาคำตอบจากหนังสืออ้างอิงประเภทนี้ไม่ได้ เนื่องจากหนังสืออ้างอิงประเภทนี้จะระบุเพียงรายชื่อหนังสือ ผู้แต่ง ผู้จัดพิมพ์ หรือให้รายการวารสารที่สามารถจะพบบทความที่ต้องการค้นคว้าได้ตามที่ระบุไว้ ผู้อ่านหนังสืออ้างอิงประเภทนี้ต้องไปค้นหาคำตอบจากหนังสือหรือบทความ ที่ระบุไว้อีกครั้งหนึ่ง ได้แก่
2.1 ดรรชนี (Index)
2.2 บรรณานุกรม (Bibliography)

ภาพอ้างอิง

 

อ้างอิง
จุฑามาศ ปานคีรี. ใบความรู้ที่ 5 เรื่องหนังสืออ้างอิง. สืบค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/440947
ชุมชนชาวการจัดการสารสนเทศ. หนังสืออ้างอิง คืออะไร มีกี่ประเภท?. สืบค้นจาก https://impattani.wordpress.com.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa