SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
คลังความรู้ดิจิทัล King Chulalongkorn Digital Archives
มีนาคม 28th, 2017 by supaporn

ผู้เขียนได้รับเกียรติจากสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเชิญเข้าร่วมงานเปิดตัว คลังความรู้ดิจิทัล King Chulalongkorn Digital Archives ในงานจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 และชมนิทรรศการ พร้อมกับฟังเสวนาวิชาการ

  • จากพระราชดำรัส “การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้…” สู่จุฬาฯ 100 ปี โดย ศ. กิตติคุณ ดร. ปิยนาถ บุนนาค
  • พระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ โดย ผศ. ดร. อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล
    ภาพฉายสยาม ในสื่อหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส โดย อาจารย์ ดร. สิริวรรณ จุฬากรณ์
    สถาปัตยกรรมในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง โดย ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง
    ดำเนินรายการโดย นายเมทนี บุรณศิริ

ผู้เขียนตอบรับเข้าร่วมงานทันที่ที่ได้รับบัตรเชิญ ด้วยความเป็นชาวจุฬาฯ และเป็นบุคลากรที่เคยปฏิบัติงานของสำนักงานวิทยทรัพยากร หรือหอสมุดกลาง หรือสถาบันวิทยบริการ มาเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อชื่นชมความสำเร็จในการคลังดิจิทัลนี้สำเร็จ แม้ว่าจะใช้เวลาร่วม 7 ปี และยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง ด้วยเมื่อครั้งยังปฏิบัติงานโครงการนี้ ได้มีการดำริ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด และจำได้ว่าเป็นแผนการที่มีเป้าหมายในวันที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปี จนเป็นคลังดิจิทัลให้เป็นที่ประจักษ์แล้ววันนี้ ที่สามารถเข้าถึงได้ที่ http://kingchulalongkorn.car.chula.ac.th รวมพระราชนิพนธ์ จดหมายเหตุราชกิจรายวัน และพระราชหัตถเลขาต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีการจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้ายในรัชสมัย ซึ่งเก็บรักษาไว้ในสำนักงานวิทยทรัพยากร และให้บริการมากกว่า 130 เล่ม และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานวิทยทรัพยากร จัดงานนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ อธิการบดี ศ. ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานในพิธีเปิดกล่าวชื่นชม คลังดิจิทัล King Chulalongkorn Digital Archives นี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการที่จะใกล้ชิดสังคม และนำความรู้สู่สังคมมากขึ้น พร้อมกับการชมนิทรรศการที่รังสรรค์ให้เห็นความสำคัญและยิ่งใหญ่ของพระราชนิพนธ์ที่มีจำนวนและทรงคุณค่า การเสวนาทางวิชาการ สร้างความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง หนังสือหลายเล่มที่ถูกนำมาพูดถึง ทำให้มีความคิดอยากหวนกลับไปอ่านอีก หรือติดตามหามาอ่าน

การเสวนาทางวิชาการ

การเสวนาทางวิชาการ

เมื่อประธานในพิธีกล่าวเปิดงานแล้ว ได้มีการชมนิทรรศการ จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย ซึ่งจัดที่ศูนย์ศิลป์ชั้น 7 การจัดนิทรรศการ จัดได้อย่างงดงามมาก กล่าวถึงประวัติการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงเป็นลักษณะ Timeline ในแต่ละช่วงเวลา มีหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ที่รวบรวมและนำมาจัดแสดงไว้อย่างน่าตื่นตา ตื่นใจเป็นอันมาก

พระราชปณิธาน (ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ)

พระราชปณิธาน (ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ)

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในห้องนิทรรศการ

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในห้องนิทรรศการ

พระราชนิพนธ์ที่นำมาจัดแสดง

พระราชนิพนธ์ที่นำมาจัดแสดง

เพดาน ทำเป็นรูป เลข ๕ เพื่อสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

เพดาน ทำเป็นรูป เลข ๕ เพื่อสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

การจัดงานที่ผู้จัดเอาใจใส่ ตั้งแต่การออกแบบบัตรเชิญ สูจิบัตรของงาน ที่ให้ข้อมูลของการจัดทำคลังดิจิทัล King Chulalongkorn Digital Archives และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แตกต่างกันถึง 3 ภาพ การจัดอาหารว่าง รัชกาลที่ 5 คือ แซนวิชไก่ (ชิกเคน) กับออลมอนด์ และดีเลิทพริตเตอร์ โดยพิมพ์สูตรไว้ที่หน้ากล่องอาหารว่าง และรสชาติที่อร่อย ยิ่งทำให้ผู้เขียน ตลอดจนผู้เข้างานท่านอื่นๆ ต่างอิ่มเอมในความอร่อยกันถ้วนหน้า

การ์ดเชิญ

การ์ดเชิญ

สูจิบัตรและตำรากับข้าวฝรั่ง อาหารว่าง

สูจิบัตรและตำรากับข้าวฝรั่ง อาหารว่าง

อาหารว่าง

อาหารว่าง

เมื่อเข้าในคลังดิจิทัลของ King Chulalongkorn Digital Archives ที่นอกเหนือจากประวัติความเป็นมาของโครงการ และข้อมูลประกอบสำคัญอื่นๆ แล้ว ก็มีคลังข้อมูล เพื่อให้สืบค้นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแบ่งประเภทของพระราชนิพนธ์ ออกเป็นหมวด จดหมายเหตุ ความเรียง พระราชนิพนธ์แปล ร้อยกรอง พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชวิจารณ์ พระราชหัตถเลขา นอกจากนี้ ยังมีหมวดสิ่งพิมพ์พิเศษ (ประกอบด้วย เทศาภิบาล ยุทธโกษ มหาวิทยาลัย ประกวดเรียงความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 5 พระไตรปิฎกฉบับบาลีสยามรัฐ สมัยรัชกาลที่ 7 และวิทยานิพนธ์) สิ่งพิมพ์อื่นๆ (ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งเป็นหมวด การปกครอง การศาล การทหารและตำรวจ การเลิกทาส การศึกษา เศรษฐกิจ ศิลปะ วรรณกรรม และการศาสนา การคมนาคมและการสาธารณูปโภค การสาธารณสุข การต่างประเทศ ประเพณีและวัฒนธรรม) และวิดีทัศน์ (ประกอบด้วย ปาฐกถา เสาหลักของแผ่นดิน ปิยมหาราชานุสรณ์ 2559 และ 100 ปี เกียรติภูมิจุฬาฯ)

คลังข้อมูล

คลังข้อมูล

ในส่วนของคลังภาพ ประกอบด้วย พระบรมฉายาลักษณ์ พระราชนิพนธ์ ลายพระราชหัตถเลขา บุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญ สถานที่ และหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส

จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าหรือไม่ก็ตาม น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาแวะชม จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย และใช้เป็นแหล่งค้นคว้า ความรู้ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของปวงชนชาวไทยทุกคน


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa