การศึกษาพัฒนาการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำ กรณีศึกษา : บริษัทชาวจีนโพ้นทะเลในไทย
A Study of Waterway Transportation and Logistics Development Case Study : Overseas Chinese Corporation in Thailand
บทคัดย่อ
รายงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาพัฒนาการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำ กรณีศึกษา บริษัท ชาวจีนโพ้นทะเลในไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติพัฒนาการและปัญหาอุปสรรคของการดำเนิน ธุรกิจด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำของบริษัทชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ขอบเขตของการวิจัย เป็นการศึกษาประวัติและพัฒนาการ ระบบ การบริหารงาน และปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ และการขนส่งทางน้ำของบริษัทที่คณะผู้วิจัยศึกษาระหว่างปีพ.ศ. 2472-2552 และเป็นการศึกษาการ พัฒนาการของบริษัทที่คณะผู้วิจัยศึกษาเท่านั้น การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีเชิงพรรณนา อธิบายคุณลักษณะของข้อมูลที่ศึกษา ได้แก่ ข้อมูลที่ได้จากเอกสารทางประวัติศาสตร์รายงานวิจัยที่ เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ การเดินทางไปเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากสถานที่จริง การสำรวจและศึกษาเอกสารประวัติการดำเนินงานของบริษัท เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลข้อมูล ตามกรอบวิจัยที่กำหนด ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริหาร คณะกรรมการ และที่ปรึกษาบริษัท ลูกหลานของผู้ก่อตั้ง หรือมีความสัมพันธ์กับการจัดตั้งหรือการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่อดีต รวมทั้ง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในปัจจุบัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูล แบบสัมภาษณ์โสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ก่อนกำเนิดเป็นบริษัทเป็นยุคที่ชาวตะวันตกได้เข้ามามีบทบาททาง เศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 การลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง เมื่อปีพ.ศ. 2398 ส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และการดำรงอยู่ของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในสังคมไทยที่เริ่มเข้ามากุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้า จนนำไปสู่ การขยายขอบเขตการทำธุรกิจด้านการขนส่งทางน้ำ ทั้งนี้เพื่อแข่งขันกับบริษัทขนส่งของชาวต่างประเทศ จากผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาธุรกิจทางด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำของ บริษัท ได้แก่ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม จะมี อิทธิพลสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจทางด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำของบริษัทในแต่ละยุคสมัย ประการที่สอง ความวิริยะอุตสาหะ พากเพียรพยายาม อดทนและอดออมของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ที่เริ่มต้นธุรกิจจากจุดเล็กๆ จนประสบความสำเร็จทำให้บริษัทมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีชื่อเสียงทั้งใน ระดับประเทศและนานาประเทศ ประการที่สาม การที่บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงและประสบความสำเร็จได้นั้นเกิดจากการสะสมประสบการณ์ที่ยาวนานรวมทั้ง วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร และประการสุดท้าย ความสำเร็จของบริษัทส่วนหนึ่งมาจากการมี เครือข่ายทางธุรกิจทั้งภายในและต่างประเทศเป็นผลทำให้ขอบเขตการดำเนินธุรกิจของบริษัทขยายตัว ออกไปอย่างกว้างขวาง
ผลการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของบริษัท กล่าวโดย สรุปก็คือ จากการที่บริษัทได้สะสมประสบการณ์ในวงการธุรกิจการขนส่งทางน้ำมานาน ผู้บริหารบริษัท มองเห็นการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีวัฒนธรรมในการบริหารงานและบริหารคนโดยยึดหลัก คุณธรรม การถ่ายทอดความรอบรู้ในเชิงธุรกิจอย่างลึกซึ้งจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง รวมทั้งการให้ ความสำคัญกับกิจกรรมทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ความผันผวน ทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนจากอิทธิพลของธรรมชาติมีผลกระทบต่อการเดินเรือทำให้ล่าช้าเกิดความ เสียหาย จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์มีการพัฒนาควบคู่กับความเจริญก้าวหน้าในระบบ เศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การขาดธุรกิจคนกลางลำเลียง วัตถุดิบหรือสินค้า การขาดแคลนแรงงานที่จะนำมาใช้ในธุรกิจโลจิสติกส์การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายสำหรับคนไทยในยุคสมัยนั้น ต้องใช้วิธีการถ่ายโอนความรู้จากประเทศตะวันตก การถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการทางด้านการขนส่ง และการเดินเรือจากต่างประเทศรวมทั้ง อุตสาหกรรมการต่อเรือจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง เหล่านี้ปรากฏให้เห็นในวิวัฒนาการของการดำเนิน ธุรกิจของบริษัทแทบทั้งสิ้น ทำให้บริษัทได้พัฒนามาเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงใน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำในปัจจุบัน
อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ ชุติระ ระบอบ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย รุ่งฤดี รัตนวิไล และ จริยาวัฒน์ โลหะพูนตระกูล. (2554). การศึกษาพัฒนาการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำ กรณีศึกษา : บริษัทชาวจีนโพ้นทะเลในไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 14 (28), 127-152.
อ่านบทความฉบับเต็ม