SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
Co-working Space ชั้น 6 ศูนย์บรรณสารสนเทศ มฉก.
ธันวาคม 12th, 2020 by supaporn

บทบาทของห้องสมุดมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นสำคัญ รวมทั้งการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์การอ่านหนังสือ และการใช้ห้องสมุดเปลี่ยนไป

การใช้หนังสือในห้องสมุดลดลง เนื่องจากมีรูปแบบที่เป็นดิจิทัลเข้ามาแทนที่ ทำให้เข้าถึงได้ทางออนไลน์ บทบาทในการเน้นการยืมหนังสือเล่มจึงลดน้อยลง ลักษณะทางกายภาพเริ่มไม่ตอบสนองกับการใช้บริการในปัจจุบัน  ห้องสมุดต้องปรับบทบาทเพื่อเสริมการเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ เป็นแหล่งเสริมทักษะการเรียนรู้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ห้องสมุดที่อยู่ในยุคที่เกิดมาพร้อมกับสื่อดิจิทัล

ห้องสมุดมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ (Space Utilization) เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน การทำงานกลุ่ม การศึกษาค้นคว้าร่วมกัน  เพื่อมุ่งส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving)  ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การทำงานเป็นทีม (Collaboration ) รวมทั้งการสื่อสาร (Communication) และจากคำกล่าวของ จอห์น ซีลีย์ บราวน์, 2000 อ้างถึงใน วัฒนชัย วินิจจะกูล, 2560 น.61 ที่ว่า  “การเรียนรู้ทุกประการเริ่มต้นที่การสนทนา”  ทำให้ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ปรับพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

เดิมพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ของศูนย์บรรณสารสนเทศ มีให้บริการเป็นบางพื้นที่ ได้แก่

1. ห้อง Study room หรือห้องสัมมนากลุ่ม ชั้น 4 จำนวน 10 ห้อง ที่มียอดการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากใช้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน การนำเสนอผลงาน การสอบ การติวหรือการแบ่งปันความรู้ร่วมกัน  การทำรายงาน การทำการบ้าน การปรึกษางาน การทำวิทยานิพนธ์/วิจัย  การพบปะ พูดคุย
2. ห้องชมภาพยนตร์ ชั้น 2 เพื่อการพักผ่อน ด้วยการชมภาพยนตร์
3. Learning space ชั้น 1 เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เพิ่มพื้นที่เพื่อให้นักศึกษามีพื้นที่ในการนั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ทำรายงาน และกิจกรรมอื่นๆ เป็นการขยายการใช้พื้นที่จากชั้น 4 และมีเวลาในการใช้บริการพื้นที่มากกว่าเวลาเปิดให้บริการตามปรกติ (เป็นพื้นที่แยกส่วนจากศูนย์บรรณสารสนเทศ) ไม่มีเจ้าหน้าที่บริการหรือดูแลพื้นที่
4. Co-working space ชั้น 6 เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการพบปะ พูดคุยระหว่างอาจารย์ นักศึกษา บูรณาการร่วมกันจนเกิดเป็น start up จึงได้เริ่มการออกแบบ เพื่อให้ตอนสนองฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมทั้งเป็นพื้นที่นั่งอ่าน มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการใช้งานของนักศึกษา อาจารย์ในการนำเสนอความคิดผ่านจอ LED หรือมีการหารือ ประชุม อภิปรายร่วมกันโดยมี Glass board ในการจดข้อหารือ บันทึก ข้อมูลต่างๆ พร้อม WiFi

การแบ่งโซนของชั้น 6

โซนนั่งสบาย ในบรรยากาศแบบชิล ๆ

 

โซนอ่านหนังสือ นั่งทำงาน แบบเดี่ยว แบบกลุ่ม พร้อม WiFi จำนวนมากกว่า 160 ที่นั่ง

 

โซนทำงาน ติว  พร้อมจอ LED และ Glass board

ศูนย์บรรณสารสนเทศ พยายามปรับพื้นที่เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้สร้างสรรค์ และต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนร่วมในภาคส่วนต่าง ๆ ต่อไป ในการจัดหา พัฒนาองค์ความรู้ (Content) การเป็นตัวกลางในการนำองค์ความรู้ไปสู่ผู้ใช้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้  จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะในกระบวนการเหล่านั้น ผู้ใช้ได้คิดสร้างสรรค์ มีเสรีภาพทางความคิด แก้ปัญหา เกิดเป็นบทสรุปทางความคิด หรือนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ต่อไป

รายการอ้างอิง

วัฒนชัย วินิจจะกูล, บรรณาธิการ. (2560). โหล : 12 ปี ที เคพาร์ค สารพันเรื่องราวหลากหลายความคิดว่าด้วยการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนวัตกรรมห้องสมุด. กรุงเทพฯ: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa