SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาฯ แนวใหม่…โดนใจผู้เรียน
ธันวาคม 19th, 2019 by อุไรรัตน์ ผาสิน

ในช่วงเวลานี้ บรรดาผู้ที่อยู่ในสายงานแวดวงของการศึกษา หากไม่มีการกล่าวถึง ห้องสมุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงจะคุยกับใครหลาย ๆ คนไม่รู้เรื่อง?

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดที่ปรับโฉมใหม่ของทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของโลก ด้านการออกแบบในหมวดห้องสมุด (Library)  จากงาน  Best of Year Awards 2019 ซึ่งจัดโดย  Interior Design Magazine นิวยอร์ก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 90 ล้านบาท จากการบริจาคของศิษย์เก่าอย่าง เสริมสิน สมะลาภา ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562

ผู้เขียนเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม สถานที่แห่งนี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 62  ซึ่งได้รับการต้อนรับ จาก ผศ.ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีกลุ่มบริหารกายภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยคณบดีกลุ่มบริหารกายภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้อนรับและสรุปที่มาของการรีโนเวตห้องสมุดให้ฟัง

ผศ.ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ ได้เล่าถึงความเป็นมาและแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ห้องสมุดรูปแบบเดิม ๆ หากมองย้อนหลังไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน การเข้าใช้บริการห้องสมุดจะมีขอบเขตจำกัด แต่ละชั้นจะมีหนังสือเก่า-ใหม่เรียงรายเต็มไปหมด มีบรรณารักษ์คอยตรวจตรา ห้ามพูดคุยส่งเสียงดังขณะเข้าใช้บริการ ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไปภายใน หรือแม้แต่การแต่งกายที่ไม่สุภาพเรียบร้อย ทำให้มุมมองของการเข้าใช้พื้นที่ห้องสมุดมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย

ดังนั้น เมื่อยุคของเทคโนโลยีก้าวเข้ามา โลกของการใช้อินเตอร์เน็ตสื่อโซเชียลมีความสำคัญมากกว่าการค้นคว้าในตำราแบบเก่า หนังสือถูกพัฒนาเป็น E-book มุมมองการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความทันสมัย และมีสีสันมากกว่าเดิม โดยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยจัดเก็บหนังสือ เอกสารอ้างอิงมากมาย เปลี่ยนเป็นพื้นที่ใช้สอยพบปะพูดคุย นั่งทำงานร่วมกัน  ‘Co-working and Thinking Space’ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความคิด  มีเสียงเพลงเปิดคลอเบา ๆ สร้างความผ่อนคลายได้ดีทีเดียว แนวความคิดอีกหนึ่งแนวคิด คือ การเอาชั้นหนังสือไว้ติดผนัง ให้พื้นที่ส่วนกลางเป็นที่อ่านหนังสือ ซึ่งจะแตกต่างจากห้องสมุดแห่งอื่น ๆ ที่มักจะเอาชั้นหนังสืออยู่ตรงกลาง พื้นที่ ทำให้เสียพื้นที่นั่งอ่านไปกับชั้นหนังสือ

มาทำความรู้จักว่าห้องสมุดแห่งนี้มีอะไรกันบ้าง…

  • ห้องสมุดแบ่งเป็น 3 ชั้น โดยชั้นแรกของห้องสมุดจะเริ่มที่ชั้น 2 ของอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นส่วนที่เปิดโล่งสามารถใช้เสียงได้มากกว่าชั้นอื่น ทั้งชั้นจะเต็มไปด้วยโต๊ะพร้อมปลั๊กไฟ สำหรับใครที่ชอบทำงานหรืออ่านหนังสือพูดคุยส่งเสียงไปด้วย จุดเด่นชั้นนี้ คือ รอบผนังเป็นโครงเหล็กเกาะตลอดผนัง สามารถจัดนิทรรศการเล็กๆ ได้โดยอาศัยโครงเหล็กโดยรอบได้อย่างอิสระ หรือนิสิตสามารถเอาผลงานของตนเองมาวางไว้ในส่วนนี้ได้ โต๊ะที่ใช้จะเป็นโต๊ะ ขนาดใหญ่เหมือนกับโต๊ะเขียนแบบ

โครงเหล็กเกาะผนัง สำหรับจัดนิทรรศการ

โต๊ะนั่งอ่านพร้อมปลั๊กไฟ

พื้นที่นั่งอ่านบริเวณชั้น2

 

  • สำหรับชั้นที่ 3  ทางขึ้นจะเป็นบันไดอยู่กลางห้อง ภายในพื้นที่จะมีส่วนของการจัดแสดงหนังสือใหม่ รอบๆ ผนังรายล้อมไปด้วยชั้นหนังสือทางด้านการออกแบบ บางเล่มเป็นหนังสือหายากที่มีเนื้อหาน่าสนใจ ส่วนโครงเหล็กรอบบันไดทางขึ้นจะเป็นส่วนของวารสารฉบับใหม่ๆ ที่วางโชว์ตัวเล่มให้เห็นเด่นชัด เพื่อสะดวกในการใช้หยิบอ่าน
  • สำหรับชั้นบนสุด จะมี 2 โซนหลัก ๆ คือ ส่วนของ Quiet Zone  ภายในจัดเป็นพื้นที่อ่านแบบเขาวงกต เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการอ่านหนังสือแบบไม่ใช้เสียง หรือต้องการใช้สมาธิในการค้นคว้าหาข้อมูล  ทั้งยังมีการเก็บแผนที่เก่าและเอกสารอ้างอิงต่างๆ ไว้ภายในชั้นนี้เช่นกัน  ในส่วนของ Quiet Zone นี้ จะเป็นส่วนที่จัดเก็บหนังสือภาษาไทย เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีจำนวนน้อย สามารถจัดเก็บไว้ในห้องนี้ได้ทั้งหมด  การจัดชั้นหนังสือจะทำเป็นมุมแทยงที่ทำให้ผู้อ่านสามารถเห็นสันหนังสือได้อย่างชัดเจน นับว่าเป็นมุมมองการจัดชั้นหนังสือที่ไม่เหมือนกับห้องสมุดแบบเดิม ๆถัดมาจะมีส่วนของที่นั่งแบบขั้นบันไดหรือ Auditorium ขนาดย่อม สีสันสดใส และมีจอฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ สำหรับจัดเสวนา หรือจัดการบรรยาย ส่วนของการออกแบบฝ้าเพดานมีการออกแบบโดยนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ในกรุงเทพฯ มาสร้างสรรค์เป็นแผนที่ขนาดใหญ่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพทางด้านผังเมือง ด้านการคมนาคม ด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านสิ่งแวดล้อมส่วนที่ถัดจากเก้าอี้ของ Auditorium เป็นมุมนั่งสบาย มีการออกแบบมีช่องให้สามารถนั่งห้อยขาลงไป เพื่อความสบาย และสามารถมองออกไปชมวิวภายนอกได้

ภายใน Quiet Zone

ที่นั่งสีสันสดใสแบบขั้นบันได

ฝ้าเพดานออกแบบเป็นแผนที่ขนาดใหญ่

 

วันและเวลาเปิดทำการ สำหรับผู้ที่สนใจ

ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการสำหรับนิสิตคณะสถาปัตย์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 18.00 น. วันเสาร์เปิดบริการเวลา 10.00 – 16.00 น. พื้นที่ชั้น 2 วันธรรมดาเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 – 22.00 น. นิสิตคณะอื่นใช้บริการได้ในวันพุธ ส่วนนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ต่างสถาบันและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสถาปัตยกรรม ใช้บริการได้ในวันเสาร์


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa