หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี
บทคัดย่อ
บทความทางวิชาการเรื่อง “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลการศึกษาค้นคว้าเหตุการณ์ในอดีตจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโบราณวัตถุ คือ อิฐดินเผาที่ค้นพบ ณ วัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดตาก โดยสันนิษฐานว่า อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี อาจเป็นหลักฐานโบราณวัตถุสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวัตถุชิ้นนี้ได้มาจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่อาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอิฐดินเผา คือ เหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่ท้ายสระ ตามหลักฐานที่ปรากฏจารึกบนอิฐดินเผาว่า “รัชสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ ๕๔” และ บทบาทของชาวจีนในเมืองตากสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจารึกไว้ว่า “คนแซ่เจิงเป็นผู้สร้างถวาย” น่าจะมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้สามารถตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในเมืองตากได้อย่างราบรื่น
สำหรับแนวทางการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในแนวกว้าง เพื่อเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ให้ นักวิชาการหรือนักวิจัยที่สนใจนำไปศึกษาค้นคว้ารายละเอียดระดับลึกยิ่งขึ้น โดยพบว่า หลักฐานโบราณวัตถุอิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี และหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่ค้นพบ ยังไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ในเรื่องความเป็นมาของวัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือแม้แต่ที่มาของอิฐดินเผาว่าเป็นชิ้นส่วนใดของสิ่งก่อสร้างภายในวัดร้างแห่งนี้ แต่หลักฐานที่พบทำให้เชื่อได้ว่า มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองตากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีบทบาททางสังคมอย่างชัดเจนในฐานะผู้อุทิศกุศลในการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแก่วัด ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประเด็นเส้นทางการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตากของชาวจีนในเมืองตาก อาจจะเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางเดินทัพของทหาร หรือเส้นทางที่พ่อค้าเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมืองอยุธยากับเมืองตากที่เรียกว่า ตาก-ระแหงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป
รายการอ้างอิง
พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสุวนัน ขวัญทอง. (2546). หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 83-89.