SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ห้องสมุดประเทศฟินแลนด์
ก.ค. 13th, 2020 by supachok

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังสัมมนาวิชาการ เรื่อง TK Forum 2020 ‘Finland Library and Education in the Age of Disruption”ที่จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้  หรือ TK Park   เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเอส 31 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ได้รับฟังสาระความรู้ที่ดีและมีประโยชน์จากวิทยากร ของประเทศฟินแลนด์ คือ คุณแอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ประจำสถานทูตฟินแลนด์ในสิงคโปร์ บรรยายในหัวข้อ “How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland” (ห้องสมุดมีวิธีการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร : ประสบการณ์จากประเทศฟินแลนด์) และคุณยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโปประเทศฟินแลนด์ บรรยายในหัวข้อ “Living and Flourishing with Change – Development of Finnish Libraries”  โดยสรุปได้ดังนี้

 

 

How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland (ห้องสมุดมีวิธีการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร : ประสบการณ์จากประเทศฟินแลนด์)

สภาพโดยทั่วไปของประเทศฟินแลนด์

ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป มีประชากรทั้งประเทศประมาณ 5.52 ล้านคน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมามากกว่า 100 ปี ในอดีตเคยเป็นประเทศยากจนและเศรษฐกิจไม่ดีมาก่อน มีเมืองหลวงคือกรุงเฮลชิงกิ แต่ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจังจนปัจจุบันฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย และมีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ฟินแลนด์มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ  มีรัฐสภา ประมุขของประเทศ คือ ประธานาธิบดี อำนาจบริหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี มีการเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี โดยหน่วยงานระดับท้องถิ่นสามารถพิจารณางบประมาณการลงทุนและตัดสินใจพิจารณางบประมาณได้ด้วยตัวเอง เช่น การสร้างสมุดอย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะใช้เงินมากมายมหาศาลแต่รัฐบาลเห็นความสำคัญในการลงทุนเพื่อประชาชน

การบริหารจัดการเรื่องห้องสมุด

ห้องสมุดประชนชนของประเทศฟินแลนด์ ขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม โดยได้รับงบประมาณที่มีจำนวนมากมายถึงปีละ 320 ล้านยูโร ซึ่งกระจายไปให้ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศที่มีจำนวนถึง 720 แห่ง จัดสรรงบประมาณออกไปตามแต่ละท้องถิ่นให้บริหารกันเอง และไม่มีการตัดงบประมาณด้านห้องสมุดมีแต่จะเพิ่มขึ้น ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับห้องสมุดมากที่สุด มีบริการห้องสมุดอยู่ทุกมุมเมืองของประเทศทั้งในตัวเมืองและตามชนบท มีตั้งแต่ห้องสมุดขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก Read the rest of this entry »

ย้อนรอยห้องสมุด ธนาคารศรีนคร
พ.ค. 20th, 2018 by supaporn

เคยแต่ได้ยินชื่อห้องสมุดธนาคารศรีนคร ตั้งแต่เมื่อสมัยเรียนบรรณารักษศาสตร์ เพราะห้องสมุดธนาคารศรีนคร จะถูกจัดอยู่ในห้องสมุดประชาชนของหน่วยงานเอกชน จึงเป็นการรับรู้ชื่อห้องสมุดธนาคารศรีนคร ตั้งแต่นั้นมา กาลเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของธนาคารศรีนคร ทำให้กิจการของห้องสมุดกลายเป็นอดีต

ห้องสมุดประชาชน ธนาคารศรีนคร

ห้องสมุดประชาชน ธนาคารศรีนคร

ด้วยความซาบซึ้งในความคิด และวิสัยทัศน์ของ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษาในการที่จะช่วยให้มีการพัฒนาบุคคล ทั้งทางสมอง สติปัญญา อันจะเป็นกำลังของชาติในอนาคต และส่วนสำคัญที่จะสร้างสติปัญญา และพัฒนาบุคคลได้นั้น หนังสือเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงพยายามรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นการย้อนรอยและระลึกถึงท่าน

8 มกราคม พ.ศ. 2515 ในปี 2515 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นปีหนังสือระหว่างประเทศ ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ (ประธานกรรมการธนาคารศรีนคร) เห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะเป็นการเริ่มต้นให้เยาวชนได้มีแหล่งความรู้ และถือว่าเอาวันเด็กแห่งชาติ คือ วันเสาร์ที่ 8 มกราคม เปิดห้องสมุดขึ้นบริการแก่เด็ก และเยาวชน ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นห้องสมุดเยาวชน ธนาคารศรีนคร อยู่ที่ ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาสามแยก เลขที่ 573 ถ. เยาวราช สัมพันธวงศ์ กทม. มีหนังสือเด็กและเยาวชน พร้อมกิจกรรมพิเศษ เช่น ชั่วโมงเสริมทักษะและเล่านิทาน ชั่วโมงเล่นเกม

4 เมษายน พ.ศ. 2515 ด้วยมีผู้สนใจในการใช้ห้องสมุดเป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดเป็นห้องสมุดประชาชน นับเป็นห้องสมุดแห่งที่ 2 ของธนาคารศรีนคร ให้บริการที่ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขา ถ. เพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่ 1740 ถ. เพชรบุรีตัดใหม่ ใกล้กับเชิงสะพานลอยอโศก มีนายบุญถิ่น อัตถากร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด และที่นี่ได้เปิดห้องสมุดกอล์ฟขึ้นอีกมุมหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมกีฬากอล์ฟ มีการจัดให้มีนักกอล์ฟมือโปรให้คำแนะนำอีกด้วย เปิดบริการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด นับว่าเป็นห้องสมุดกอล์ฟแห่งแรกของไทย

15 ธันวาคม พ.ศ. 2518 เปิดห้องสมุดธนาคารศรีนคร เป็นแห่งที่ 3 โดยขยายไปยังภูมิภาค พร้อมกับการเปิดธนาคารศรีนคร สาขาเชียงใหม่ เลขที่ 119 ถ. ช้างคลาน อ. เมือง จ. เชียงใหม่ โดยมีนายชลอ ธรรมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด

21 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เปิดห้องสมุดประชาชน เป็นแห่งที่ 4 ที่ชั้น 8 ของอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารศรีนคร เลขที่ 2 ถ. เฉลิมเขต 4 สวนมะลิ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. โดยได้ทำพิธีเปิดพร้อมกับอาคารสำนักงานใหญ่ 16 ชั้น ของธนาคารศรีนคร อันเป็นวันครบรอบปีที่ 26 ของธนาคารศรีนคร
เน้นทางด้านการเงินและการธนาคาร และที่ห้องสมุดสำนักงานใหญ่นี้ มีการจัดเป็นห้องสมุดภาษาจีน โดยจัดเป็นห้องแยกต่างหากไม่ปะปนกัน มีบรรณารักษ์ทางด้านภาษาจีนให้บริการห้องสมุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นห้องสมุดภาษาจีนแห่งแรกในประเทศไทย

27 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เปิดห้องสมุดประชาชน ที่ชั้น 2 ธนาคารศรีนคร สาขาพิจิตร เลขที่ 22/22 ถ.ศรีมาลา อ. เมือง จ. พิจิตร นับเป็นห้องสมุดแห่งที่ 5 โดยมี ดร. ชูวงศ์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิด

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เปิดห้องสมุดประชาชนแห่งที่ 6 ที่ธนาคารศรีนคร สาขาวงเวียนใหญ่ เลขที่ 1491/1 ถ. ประชาธิปก หัวมุมวงเวียนใหญ่ เขตคลองสาน กทม. โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ทราบว่า หนังสือห้องสมุดภาษาจีน มีการกระจายไปหลายแห่ง ที่เห็นตัวเล่ม คือ ห้องสมุดภาษาจีน ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และห้องสมุดภาษาจีน สถาบันภาษา (เดิม คือ สถาบันพัฒนาครูสอนภาษาจีน) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

รายการอ้างอิง

สมชาย สินวัฒนรักษ์. (2531). ธนาคารศรีนครกับการพัฒนาห้องสมุด. วารสารการศึกษานอกโรงเรียน 25,142 (ก.พ.-มี.ค.),31-36.

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa