SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ห้องสมุดประเทศฟินแลนด์
กรกฎาคม 13th, 2020 by supachok

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังสัมมนาวิชาการ เรื่อง TK Forum 2020 ‘Finland Library and Education in the Age of Disruption”ที่จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้  หรือ TK Park   เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเอส 31 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ได้รับฟังสาระความรู้ที่ดีและมีประโยชน์จากวิทยากร ของประเทศฟินแลนด์ คือ คุณแอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ประจำสถานทูตฟินแลนด์ในสิงคโปร์ บรรยายในหัวข้อ “How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland” (ห้องสมุดมีวิธีการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร : ประสบการณ์จากประเทศฟินแลนด์) และคุณยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโปประเทศฟินแลนด์ บรรยายในหัวข้อ “Living and Flourishing with Change – Development of Finnish Libraries”  โดยสรุปได้ดังนี้

 

 

How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland (ห้องสมุดมีวิธีการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร : ประสบการณ์จากประเทศฟินแลนด์)

สภาพโดยทั่วไปของประเทศฟินแลนด์

ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป มีประชากรทั้งประเทศประมาณ 5.52 ล้านคน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมามากกว่า 100 ปี ในอดีตเคยเป็นประเทศยากจนและเศรษฐกิจไม่ดีมาก่อน มีเมืองหลวงคือกรุงเฮลชิงกิ แต่ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจังจนปัจจุบันฟินแลนด์กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย และมีเศรษฐกิจดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ฟินแลนด์มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ  มีรัฐสภา ประมุขของประเทศ คือ ประธานาธิบดี อำนาจบริหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี นำโดยนายกรัฐมนตรี มีการเลือกตั้งทุก ๆ 4 ปี โดยหน่วยงานระดับท้องถิ่นสามารถพิจารณางบประมาณการลงทุนและตัดสินใจพิจารณางบประมาณได้ด้วยตัวเอง เช่น การสร้างสมุดอย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะใช้เงินมากมายมหาศาลแต่รัฐบาลเห็นความสำคัญในการลงทุนเพื่อประชาชน

การบริหารจัดการเรื่องห้องสมุด

ห้องสมุดประชนชนของประเทศฟินแลนด์ ขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม โดยได้รับงบประมาณที่มีจำนวนมากมายถึงปีละ 320 ล้านยูโร ซึ่งกระจายไปให้ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศที่มีจำนวนถึง 720 แห่ง จัดสรรงบประมาณออกไปตามแต่ละท้องถิ่นให้บริหารกันเอง และไม่มีการตัดงบประมาณด้านห้องสมุดมีแต่จะเพิ่มขึ้น ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับห้องสมุดมากที่สุด มีบริการห้องสมุดอยู่ทุกมุมเมืองของประเทศทั้งในตัวเมืองและตามชนบท มีตั้งแต่ห้องสมุดขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก

ห้องสมุดประชาชนมีรถบริการเคลื่อนที่ (Mobile Library หรือ Book Bus) จำนวน 135 คัน ให้บริการวิ่งไปตามหัวเมืองต่าง ๆ 295 แห่งทั่วประเทศ  ซึ่งจะเน้นไปที่หนังสือเด็กและเยาวชนและเป็นสถิติข้อมูลที่น่าสนใจคือ จำนวนหนังสือเด็กที่มีมากถึง 32% ของหนังสือทั้งหมด และยังถูกยืมมากถึง 46%  ของหนังสือทั้งหมดที่ได้รับการยืม โดยเฉลี่ยประชาชนชาวฟินแลนด์จะอ่านหนังสือ 88 นาที/วัน เนื่องจากรัฐบาลประเทศของฟินแลนด์ เห็นความสำคัญในการส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันและต่อเนื่องตลอดชีวิต เช่น สอนการใช้ภาษาฟินแลนด์แก่คนอพยพย้ายถิ่นที่มาจากต่างประเทศหรือผู้ลี้ภัย อีกทั้งยังการช่วยการกรอกเอกสาร การแปลภาษา โดยอาสาสมัครและเป็นบริการที่ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งบัญญัติใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 กำหนดไว้ว่า ห้องสมุดมีหน้าที่ให้บริการประชาชนด้วยด้วยคุณภาพที่สูงและมีมาตรฐาน โดยไม่คิดค่าบริการ จึงทำให้ห้องสมุดประเทศฟินแลนด์ต้องพัฒนาให้ทันสมัยตลอดเวลาไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม แม้ว่าปัจจุบันจะมีความเจริญด้านเทคโนโลยี หนังสือจะมีแนวโน้มไปในทาง E-book มากขึ้นก็ตามแต่ประชาชนฟินแลนด์ยังนิยมอ่านแบบตัวเล่มกันอยู่

ห้องสมุดประชาชนมีบริการที่เรียกว่า Freedom of Expression and Speech โดยจะให้นักการเมืองท้องถิ่น สามารถใช้ห้องสมุดมาหาเสียง ปราศรัยแสดงนโยบายพรรคการเมืองได้ภายในห้องสมุดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ไม่โจมตีคู่แข่ง

ประเทศฟินแลนด์มีห้องสมุดประชาชนขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาอย่างสวยงามและใช้งานได้อย่างคุ้มค่าจนได้รับรางวัลระดับโลก คือ “Helsinki Central Library Oodi”  ใช้งบประมาณถึง 98 ล้านยูโร หรือ 2,775,684,080 ล้านบาท ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ Public Library of the Year 2019 เพิ่งจะเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2562  “Helsinki Central Library Oodi”  เป็นมากกว่าห้องสมุดเพราะนอกจากจะมีจำนวนหนังสือต่างๆ ที่มีปริมาณกว่า 100,000 เล่มแล้ว ยังสตูดิโอเพื่อไว้สำหรับการทำเพลงและวีดีโอ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถยืมอุปกรณ์และเครื่องดนตรีได้ นอกจากนี้ยัง มีโรงภาพยนตร์ ห้องทำกิจกรรมเวิร์คชอป ที่มีเครื่องพิมพ์สามมิติ และเครื่องตัดเลเซอร์ โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด  นอกจากนี้ห้องสมุดยังได้พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อทำงานแทนบรรณารักษ์เป็นหุ่นยนต์สีเทา เพื่อคอยทำหน้าที่ขนย้ายหนังสือไปที่ชั้นวางหนังสือด้วย

“Living and Flourishing with Change – Development of Finnish Libraries” โดย คุณยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโปประเทศฟินแลนด์

ห้องสมุดเมืองเอสโป เป็นห้องสมุดที่ได้รับรางวัลห้องสมุดยอดเยี่ยมประจำปี 2562 (Library of the Year 2019) ในงานเทศกาลหนังสือกรุงลอนดอน หรือ London Book Fair 2019 เพราะการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม  กิจกรรมปลูกฝังการรักการอ่านที่เข้าถึงประชาชน และรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้บริการ  และยังกระจายไปยังประชาชนทุกๆ วัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงวัย หรือกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ และบรรดาผู้อพยพลี้ภัย

วิทยากรได้ หยิบยกคำว่า  SIVISTYS (ซีวิสตุส)   ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและอุดมคติที่ห้องสมุดได้นำมาปรับและใช้งาน SIVISTYS (ซีวิสตุส) เป็นคำศัพท์ที่แสดงถึงรากฐานของการศึกษาฟินแลนด์ มีแนวคิดมาจากคุณงามความดี ความบริสุทธิ์ หมายถึง การเคารพความรู้ และเคารพการเรียนรู้ หมายรวมถึงการศึกษา วัฒนธรรม การเคารพผู้อื่น และการเปิดใจกว้างเพื่อรับความคิดใหม่ๆ เป็นเรื่องของการพัฒนาคนที่มีนัยยะ มีคุณค่าในสังคม  เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง  มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน มีหลากหลายความหมายว่า เช่น Respecting Learning, Thinking, Knowing, Education, Culture, Compassion, Open-mindedness

ห้องสมุดเมืองเอสโป (Espoo City Library) มีจุดเด่นในด้านบริการซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก มีสาขาจำนวนมากตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุดและตามเวลาปิดเปิดของห้าง มีรถห้องสมุดเคลื่อนที่ 2 คัน และบริการจัดส่งหนังสือถึงหมู่บ้าน สำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงห้องสมุดได้ด้วยตัวเอง  ห้องสมุดประชาชนเมืองเอสโป  นี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายห้องสมุดเขตพื้นที่กรุงเฮลซิงกิเมืองหลวงประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีห้องสมุดสาขาประมาณ 20 แห่ง กระจายอยู่บริเวณย่านชานเมือง  ส่วนใหญ่ให้ผู้ใช้งานบริการตนเอง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาประจำ เปิดให้บริการตั้งแต่เช้าตรู่และปิดช้ากว่าปกติ ยืดหยุ่นได้ตามไลฟ์สไตล์ของผู้คน ซึ่งสามารถเพิ่มระยะเวลาการให้บริการได้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่ากว่าปรกติ

กิจกรรมที่หลากหลายจัดให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น

1.จัด workshop กิจกรรมเสริมความรู้ด้านการเล่นดนตรีเช่น การเล่นอูคูเลเล และดนตรีอื่นๆ การสอนกิจกรรมทำอาหาร การสอนภาษาฟินแลนด์

2.  บริการแนะนำการทำเอกสารต่างๆ แก่ผู้อพยพในการติดต่อราชการ เช่นงานแปลเอกสาร

3.  ใช้เป็นสถานที่นัดพบปะเพื่อนฝูง หรือการเช็คสุขภาพประจำปี

4.  ประกวดส่งเสริมการอ่าน เช่น ประกวดสุดยอดนักอ่านประจำปีหนังสือดีเด่นแห่งปี

5.  ส่งเสริมผู้สูงอายุมาเป็นอาสาสมัคร เช่น อ่านหนังสือลงเทปเพื่อคนตาบอด หรืออ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง

นอกจากจะมีบริการยืม-คืนหนังสือแล้ว ยังมีเพลง หนัง วิดีโอเกม บอร์ดเกม เครื่องมืออุปกรณ์งานช่าง ให้ยืมฟรี มีบริการออนไลน์โดยออกแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ ที่ดึงดูดน่าสนใจใช้งานได้ง่าย ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้น เลือก สั่ง และรับหนังสือได้จากทุกสาขาที่สะดวกใกล้บ้าน

ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีการตัดงบประมาณการศึกษาและมีการพัฒนาห้องสมุดอย่างต่อเนื่อง งบประมาณด้านนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และทุกบริการก็ให้บริการฟรีทุกอย่าง ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือและสื่อต่างๆได้ง่ายและใกล้ตัว นอกจากนี้ห้องสมุดยังกระจายไปทุกๆที่ทั้งในชุมชนเมืองและตามป่าเขา จึงทำให้ประชาชนประเทศฟินแลนด์มีนิสัยรักการอ่านและยังปลูกฝังให้เด็กๆ รักการอ่านมาตั้งแต่วัยเยาว์


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa