ทองคำ : โลหะทรงค่านิรันดร์กาล
บทคัดย่อ:
ทองคำเป็นโลหะที่พบได้ในธรรมชาติซึ่งจะพบทองคำอยู่ในรูปของแร่ทองคำ โดยทั่วไปอาจจะพบปะปนอยู่กับโลหะอื่นๆ เช่น เงิน ทองแดง ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น ทองคำที่พบในธรรมชาติจำเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ทองเม็ดทราบ ทองคำทราย และทองคำภูเขา กรรมวิธีทางเคมีที่ใช้ในการแยกทองคำให้บริสุทธิ์นั้นทำได้ โดยนำแร่ทองคำมาบดให้ละเอียดแล้วนำมาเติมสารละลายโซเดียมไซยาไนด์ (NaCN) และพ่นด้วยแก๊สออกซิเจน จากนั้น จึงเติมผงโลหะสังกะสีลงไป ด้วยกรรมวิธีนี้จะได้โลหะทองคำที่่บริสุทธิ์ ทองคำบริสุทธิ์ที่ได้มีสีเหลืองอร่าม ไม่เป็นสนิม ไม่ละลายในกรดทั่วไป แต่สามารถละลายได้ในกรดกัดทอง (aqua regia) ด้วยคุณสมบัติที่สวยงามของทองคำ จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ใช้ทำเครื่องประดับและในงานศิลปกรรม ใช้ในการลงทุนและการสำรองเงินตราต่างประเทศ ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้ในงานทันตกรรม และใช้ทำเหรียญกษาปณ์ เป็นต้น การใช้ทองคำทำเครื่องประดับและใช้ในงานศิลปกรรมนั้นมีส่วนแบ่งของตลาดมากที่สุดของปริมาณทองคำที่ใช้กันอยู่ และเนื่องจากทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 100% นั้นมีความอ่อนนุ่ม จึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้การทำทองรูปพรรณ ดังนั้น จึงต้องทำเป็นโลหะอัลลอยด์โดยการนำทองคำมาผสมกับโลหะอื่นๆ เพื่อให้ได้ทองคำที่มีความแข็งตามต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความบริสุทธิ์ของทองคำลดลง ดังนั้น การซื้อขายทองคำรูปพรรณจึงต้องบอกความบริสุทธิ์ของทองคำ ตามหลักสากลของวงการเครื่องประดับและอัญมณีใช้หน่วยกะรัต (karat :K) เพื่อบอกความบริสุทธิ์ของทองคำ โดยทองคำที่ขายในท้องตลาดจำแนกความบริสุทธิ์เป็นทอง 24K 23K 22K 18K 14K 9K และ 8K ทอง 24K เป็นทองที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด สำหรับวิธีที่ใช้ในการทดสอบความบริสุทธิ์ของทองคำสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การทดสอบโดยใช้วิธี touchstone testing ซึ่งวิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญของผู้ทดสอบเพื่อบอกปริมาณของทองคำที่มีอยู่ในทองรูปพรรณอย่างคร่าวๆ และวิธี Cupellation Method (Fire Assay) วิธีนี้เป็นการทดสอบโดยใช้เทคนิคทางเคมีซึ่งสามารถบอกปริมาณของทองคำได้อย่างแม่นยำ แต่มีความยุ่งยากของการทดสอบมากกว่าวิธีแรก
เกษม พลายแก้ว. (2547). ทองคำ : โลหะทรงค่านิรันดร์กาล. วารสาร มฉก.วิชาการ 8 (15), 94-105.
อ่านบทความฉบับเต็ม