SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
เขียนผลงานวิชาการอย่างไร ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่เป็นการลักลอกผลงาน (Plagiarism)
มกราคม 3rd, 2019 by supaporn

รองศาสตราจารย์ มานิตย์ จุมปา ได้บรรยาย เรื่อง เขียนผลงานวิชาการอย่างไร ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่เป็นการลักลอกผลงาน (Plagiarism) โดยคณะนิติศาสตร์ และ ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้จัดกิจกรรมนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับคณาจารย์ นักวิจัย และผู้มาประชุมเครือข่ายประกันคุณภาพ 6 สถาบัน ที่มาร่วมประชุมวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ณ ห้องสื่อประสม (ห้องบรรยายพิเศษ 2) อาคารบรรณสาร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

เขียนผลงานวิชาการอย่างไร ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่เป็นการลักลอกผลงาน (Plagiarism)

โดยสรุปจากการฟังและจากเอกสารประกอบการบรรยาย ได้ดังนี้

วิทยากรแบ่งการบรรยายออกเป็น 3 ภาค คือ

ภาค 1 เรียนรู้จากข่าว โดยนำกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เป็นข่าวเกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นความหมายของการลักลอกผลงาน ให้ชัดเจนขึ้น และให้เป็นข้อสังเกตว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของใครก็ตาม ต้องพิจารณาว่า ผลงานนั้นๆ มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ตัวอย่างที่ยกมานั้น มีทั้งกรณีที่เป็นนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ที่มีการคัดลอกผลงานทางวิชาการของคนอื่นมาเขียน ไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา และมีการตรวจสอบได้ รวมทั้งวิธีการพิจารณาของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เช่น มีทั้งการเพิกถอนปริญญา หรือบางกรณีเจ้าของผลงานไม่ติดใจ แต่ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามมาตรการของมหาวิทยาลัยเอง ความเคลื่อนไหว และบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการให้นิสิต นักศึกษา พ้นสภาพความเป็นนักศึกษาทันที หาพบว่ามีการจ้าง หรือคัดลอกวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในการพยายามหาเครื่องมือมาตรวจสอบการลอกเลียนทางวรรณกรรม

ภาค 2 เขียนผลงานทางวิชาการอย่างไร ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright infringement) อันดับแรกต้องทราบก่อนว่า ผลงานที่นำมานั้น มีลิขสิทธิ์หรือไม่ เนื่องจากมีข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีหลักสำคัญ คือ
1. ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์
2. ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

ข้อพิจารณาเบื้องต้นในการพิจารณาว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

1. ผลงานที่มีการเอาไป ต้องเป็นส่วนที่เจ้าของผลงานเป็นผู้สร้างสรรค์ หากไม่ใช่ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
2. การที่บุคคลอื่นนำผลงานไปใช้นั้น เข้าข่ายข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ หากเข้าข่ายข้อยกเว้น ก็ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
3. หากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรีบดำเนินการภายในระยะเวลาอายุความที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น จะสิ้นสิทธินการเรียกร้อง (คดีแพ่ง มีอายุความที่ต้องฟ้องภายใน 3 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิด แต่ไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่มีกรละเมิด ส่วนคดีอาญา ส่วนคดีอาญา ในกรณีเป็นความผิดอันยอมความกันได้ จึงต้องร้องทุกข์ต่อตำรวจภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่อง ตำรวจจึงจะดำเนินคดีให้ได้)
4. การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย จะมีค่าใช้จ่าย หากสามารถเจรจาให้มีการขดใช้ค่าเสียหายได้ จะประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาในการดำเนินการ

การเขียนผลงานทางวิชาการที่จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์มีข้อพิจารณาสำคัญ คือ

1. ต้องสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ถ้านำเอางานของบุคคลอื่นมา ต้องมีการอ้างอิง และไม่นำงานของบุคคลอื่นอันมีลิขสิทธิ์นั้นมามากจนเกินไป
2. หากถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ควรจะได้มีการตรวจสอบว่าได้ละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ถ้าจริง ให้เปิดการเจรจาประนีประนอมกับเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะคดีลิขสิทธิ์เป็นคดีอันยอมความได้ ทำให้ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการสู้คดีในศาล

ภาค 3 เขียนผลงานทางวิชาการอย่างไร ไม่เป็นการลักลอกงานวิชาการ (Plagiarism)
การลักลอกงานวิชาการ หมายถึง การใช้งานหรือความคิดของผู้อื่น โดยไม่ได้แสดงถึงที่มาหรือแสดงการรับรู้ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้นั้น เพื่อทำให้ดูเสมือนเป็นงานหรือความคิดของตนเอง เป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางวิชาการ ในบางกรณีอาจเข้าช่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีความผิดตามกฎหมายด้วย

การลักลอกงานวิชาการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ดังนี้

1. การคัดลอกคำต่อคำ (Verbatim) และการลักลอกวลี (Apt Phrase) คือ การทำซ้ำงานของผู้อื่นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใด ดังนั้น ถ้ามีการคัดลอกต้องแสดงไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ คัดลอกตามสมควรไม่เกินปริมาณที่เป็นธรรม ควรระบุแสดงที่มาของงาน
2. การถอดความ (Paraphrase) หมายถึง การสรุปความ การแปลภาษา และการปะติดปะต่องานของผู้อื่นเข้าด้วยกันให้ต่างจากงานต้นฉบับเดิม (Patchwork Mosaic) ต้องแสดงถึงที่มาของงานต้นฉบับตามสมควร ส่วนงานแปล สามารถทำได้บางตอนตามสมควร และควรได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนหากจำเป็นต้องแปลเป็นปริมาณมาก
3. การลักนำความคิดของผู้อื่นมาแสดงโดยลวงเป็นความคิดของตนเอง ต้องระบุแสดงการรับรู้ความเป็นเจ้าของความคิดซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามสมควร
4. การนำงานเก่าของตนเองมาใช้ใหม่ (Self Plagiarism) การนำผลงานเก่าของตนเองมาทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ หรือส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีการพัฒนาหรือมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เพื่อแสดงลงว่าเป็นการสร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ แต่ถ้านำงานเก่าของตนเองมาแสดงเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่สามารถทำได้ โดยจะต้องมีการสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่ หรือส่วนที่เป็นสาระสำคัญขึ้นใหม่ และต้องระบุแสดงถึงที่มาของงานเดิมที่รวมอยู่ในงานสร้างสรรค์ใหม่

รายการอ้างอิง

มานิตย์ จุมปา. (2561). เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่เป็นการลักลอกผลงาน (Plagiarism). เอกสารประกอบการบรรยาย ณ ห้องสื่อประสม (ห้องบรรยายพิเศษ 2) อาคารบรรณสาร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วันที่ 24 ธันวาคม 2561.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa