SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ชื่อคลองและชื่อบ้านในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
มกราคม 11th, 2016 by supaporn

ถ้าเอ่ยชื่อ บางพลี บางบ่อ หนองงูเห่า คนส่วนใหญ่ก็จะคุ้นหูและรู้ว่า แต่ละชื่อ มีความเด่นหรือดังในด้านใด เช่น ปลาสลิดอร่อยๆ ก็ต้องเป็นปลาสลิดบางบ่อ หนองงูเห่า ก็เป็นชื่อเรียกแต่เดิมก่อนจะมาเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้ง 3 ชื่อนี้ล้วนอยู่ในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งสิ้น

การศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

แผนที่จังหวัดสมุทรปราการ ใน การศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

อำเภอบางพลี เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนบางพลีในอดีต ใช้คลองสำโรงซึ่งขุดขึ้นในรัชสมัยของอารยธรรมขอมโบราณ ระหว่าง พ.ศ. 978 ถึง 1700 เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรและการค้าขายที่สำคัญ และยังมีคลองซอยต่างๆ อีกประมาณ 100 คลอง ด้วยความเจริญทางวัตถุที่แผ่ขยายเข้ามา ทำให้คลองที่เคยทำหน้าที่ระบายน้ำถูกปรับเปลี่ยนสภาพเป็นถนน หรือเป็นเพียงคูน้ำเล็กๆ ที่เหลือเพียงชื่อที่สะท้อนเรื่องราวความสำคัญของตัวตนคนบางพลี พิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ของชุมชนบางพลี

การศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (A Study of Folklore : A Determinant of Names of the Canals and Villages in Bangplee District, Samutprakarn Province) โดย พรรณศิริ แจ่มอรุณ วุฒิพงษ์ ทองก้อน และ กชพร ขวัญทอง คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ศึกษา รวบรวม และเรียบเรียง ชื่อของหมู่บ้านและลำคลองของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจะสัมพันธ์กับแง่มุมของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วรรณกรรม ภูมิศาสตร์ และชาติพันธุ์ ตามความเชื่อ ความรู้ ประสบการณ์ ตามคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่นซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและถ่ายทอดได้อย่างตรงไปตรงมา ประสานกับข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สภาพภูมิศาสตร์ ที่บันทึกโดยหน่วยงานราชการ

คลองที่ศึกษาอยู่ใน 6 ตำบล รวมเป็น 86 คลอง โดยจำแนกตามตำบลได้ดังนี้

  • ตำบลบางพลีใหญ่ รวม 22 คลอง
  • ตำบลบางโฉลง รวม 16 คลอง
  • ตำบลหนองปรือ รวม 7 คลอง
  • ตำบลบางปลา 19 คลอง
  • ตำบลบางแก้ว 13 คลอง
  • ตำบลราชาเทวะ 9 คลอง

จากการศึกษาพบว่า การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้าน แบ่งเป็น

  • ตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศ จำนวน 8 ชื่อ ได้แก่ คลองบางน้ำจืด-บ้านคลองบางน้ำจืด คลองบางนา คลองหนองโพรง คลองตัน คลองชวดท้องคุ้ง คลองล้นหม้อแกง คลองน้ำค้าง และคลองลาดกระบัง
  • ตั้งชื่อตามพืชพันธุ์ไม้และลักษณะที่เกี่ยวข้อง จำนวน 16 ชื่อ ได้แก่ คลองสำโรง-บ้านสำโรง คลองสวน คลองตะเคียน-บ้านคลองตะเคียน คลองหนองโสน คลองต้นไทร คลองหนองปรือ คลองบางคา คลองกระทุ่ม-บ้านกระทุ่ม คลองหนามแดงเดชะ-บ้านหนามแดงเดชะ คลองหนองบัว คลองไพสาลี-ต้นตาล คลองบ้านดอกไม้ คลองสาหร่าย คลองหนองตะกร้า คลองบัวเกาะ คลองบัวลอย
  • ตั้งชื่อตามบุคคลและลักษณะอาการของคน จำนวน 15 ชื่อ ได้แก่ คลองตาเปี่ยม คลองเจ๊ก คลองตาคล้อย คลองชวดตากราน คลองชวดตาฉ่ำ คลองชวดตาสน คลองชวดกำนันพุก คลองบางอีแขละ คลองบางกระอี่ คลองตาสา (เกาะญี่ปุ่น) คลองทรงวิชัย คลองบางแก้ว คลองรองปลัด คลองหลวงแพ่ง คลองสิงโต
  • ตั้งชื่อตามความเชื่อหรือตำนาน จำนวน 3 ชื่อ คลองศาลเจ้า คลองบางพลี-บ้านบางพลี คลองศาลเจ้าพ่อปู่
  • ตั้งชื่อตามสถานที่ก่อสร้างที่มีอยู่เดิม จำนวน 4 ชื่อ คลองสุเหร่าบางกะสี คลองทับนาง คลองบางกะสี คลองบางเรือน
  • ตั้งชื่อตามเครื่องใช้ไม้สอย จำนวน 2 ชื่อ คลองเสาระหงษ์ คลองบางโฉลง-บ้านบางโฉลง
  • ตั้งชื่อตามขนาดหรือทิศทางของคลอง จำนวน 7 ชื่อ คลองสลุด คลองบางขวาง คลองอ้อมเกาะ คลองอ้อมวัด คลองสี่ศอก คลองเทวะคลองตรง คลองลัดวัดกิ่งแก้ว
  • ตั้งชื่อตามกริยาการกระทำหรือเหตุการณ์ จำนวน 5 ชื่อ คลองชวดลากข้าว คลองบัวคลี่ คลองขุดใหม่ คลองโอ่งแตก และ คลองบางเสือตาย
  • ตั้งชื่อตามอาหาร จำนวน 1 ชื่อ ได้แก่ คลองบางปลาร้า
  • ตั้งชื่อตามสัตว์และลักษณะอาการของสัตว์ จำนวน 6 ชื่อ ได้แก่ คลองควาย คลองทุ่งช้าง คลองหนองงูเห่า คลองบางปลา คลองลัดบางปลา คลองปลัดเปรียง

ผลสรุปของการศึกษาออกมาข้างต้น แต่รายละเอียดและเรื่องเล่าประวัติที่มาของชื่อ น่าสนใจเป็นอย่างมาก หยิบมาอ่านเลยค่ะ ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มุมงานวิจัย มฉก.

รายการอ้างอิง
พรรณศิริ แจ่มอรุณ วุฒิพงษ์ ทองก้อน และ กชพร ขวัญทอง. (2557). การศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (A Study of Folklore : A Determinant of Names of the Canals and Villages in Bangplee District, Samutprakarn Province). สมุทรปราการ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa