ในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Infographic ๑๐๑ แปลงข้อมูลเป็นภาพ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จึงขอนำความรู้ที่ได้ และเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบ Infograpic มาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจจะศึกษาในเรื่อง Infographic ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
Infographic หรือการแปลงข้อมูล ให้อยู่ในรูปแบบของรูปภาพ เป็นการจัดการข้อมูลเป็นการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการใช้รูปทรง และสีสัน เข้ามาอยู่ในข้อมูลรูปภาพ ทำให้ข้อมูลนั้นมีความน่าสนใจ และทำให้ผู้อ่านเข้าใจข้อมูลที่เราอยากจะสื่อ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ ข้อมูลที่เราสามารถค้นหาได้นั้นมีไม่น้อย แต่ข้อมูลนั้นมีมากจนเกินไป จนทำให้เกิดความซับซ้อนของข้อมูล ข้อมูลไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญ หรือบทสรุป เพราะไม่มีการจัดระเบียบเนื้อหาอย่างชัดเจน จึงทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจ และให้ความสนใจกับข้อมูลน้อยลง
ดังนั้นการแปลงข้อมูลเป็นภาพ หรือเรียกว่า Infographic จึงมีความน่าสนใจ และควรนำมาปรับใช้กับข้อมูลในปัจจุบัน เพื่อการสื่อสารที่ดีขึ้น ผู้ใช้จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และตรงประเด็นมากที่สุด ขั้นตอนการทำ Infographic มี 4 ขั้นตอนดังนี้
1. COLLECT DATA เก็บข้อมูล คือ การลงพื้นที่ชุมชน หรือกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะทำ และสอบถามเกี่ยวกับเนื้อหา โดยใช้คำถามแบบเปิด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แปลกใหม่ และเป็นข้อมูลที่ประชากรสนใจจริงๆ เมื่อเราได้ข้อมูลที่ประชากรให้ความสนใจ จะทำให้ข้อมูลใน Infographic เข้าถึงกลุ่มประชากรที่เราต้องการ
2. NARRATIVE สร้างเรื่อง คือ เลือกข้อมูลที่สนใจจากการเก็บข้อมูลในขั้นตอนที่ 1 จากนั้นศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เลือกเฉพาะข้อมูลสำคัญมาใช้ใน Infographic เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจกับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
3. VISUAL PRESENTATION นำเสนอด้วยภาพ คือ การนำภาพมาปรับใช้ร่วมกับข้อมูล เช่น Infographic เรื่อง มลพิษทางอากาศ ควรมีภาพ รถยนต์ ท่อไอเสีย ถนน เป็นต้น หรืออาจจะใช้รูปทรงเลขาคณิตในการตกแต่งเพิ่มเติม ตามความเหมาะสมของเนื้อหา
4. MAKE IT CHAMING ปรับให้น่ามอง คือ เทคนิคการทำให้ Infographic ดูสวยงามและน่าสนใจคือการใช้สี สีที่ใช้จะเป็นสีใดก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 5 สี เพราะอาจทำให้ดูลายตาจนเกินไป และไม่มีจุดสนใจ ควรทำให้ Infographic อยู่ในลักษณะของธีม หรือไปในทิศทางเดียวกัน
โครงสร้าง
โครงสร้างของ Infographic คือ การแปลงข้อมูลเป็นภาพให้อยู่ภายในกระดาษ 1 แผ่น ขนาดใดก็ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งข้อมูลที่เราทำจะแตกต่างกันออกไป มีข้อมูลในลักษณะต่างๆ ที่ต้องใช้กับโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุด โครงสร้างจะช่วยให้การทำ Infographic ของเราได้ง่ายขึ้น เพราะมีการแบ่งข้อมูลอย่างชัดเจน โครงสร้างมีทั้งหมด 6 แบบ ดังนี้
1. LIST หัวข้อ/รายการ คือ การทำข้อมูลที่ไม่เฉพาะเจาะจง มีความหลากหลายของข้อมูล แต่จะต้องเป็นข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับหัวข้อใหญ่ และอยู่ในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลอื่นๆ ข้อมูลที่มีเนื้อหาเยอะ หากใช้โครงสร้าง LIST /หัวข้อรายการ จะทำให้จัดการข้อมูลได้ง่าย และเป็นระเบียบ
ตัวอย่าง LIST หัวข้อ/รายการ
2. COMPARE เปรียบเทียบ คือ การนำข้อมูลที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน มาเปรียบเทียบกันให้เห็นอย่างชัดเจน บอกถึงความแตกต่างของข้อมูล การทำโครงสร้างเปรียบเทียบนี้ ไม่ควรใช้สีเกิน 2 สี เพราะจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนได้ง่าย เนื่องจากข้อมูลเป็นการเปรียบเทียบอยู่แล้ว และหากอยากใส่ข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ใช่การเปรียบเทียบ ให้เพิ่มข้อมูลที่ด้านบนซ้าย หรือล่างซ้าย จะทำให้อยู่ในระดับสายตาของผู้อ่าน
ตัวอย่าง COMPARE เปรียบเทียบ
3. MAP แผนที่ คือ การทำข้อมูลที่ใช้ภาพเป็นหลัก และต้องการบอกสถานที่อย่างชัดเจน โดยใช้ลายเส้นเป็นตัวเชื่อมไปยังสถานที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ร่างกาย ก็จะมีภาพส่วนต่างๆ ของร่างกาย แบ่งเป็นเส้นปะ และบอกถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยบอกส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นข้อมูลตามจริง
ตัวอย่าง MAP แผนที่
4. TIMELINE เส้นเวลา คือ ข้อมูลเกี่ยวกับเวลา และประวัติศาสตร์ ใช้การลากเส้นเพื่อบอกระยะเวลา โดยลากเส้นจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบ ในระหว่างเส้นสามารถวาดรูปและใส่รายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามระยะเวลาก่อน-หลัง ที่อยากนำเสนอ หรือใช้รูปภาพตามยุคสมัยที่ต่างๆ ก็จำทำให้ Infographic ดูน่าสนใจมากขึ้น
ตัวอย่าง TIMELINE เส้นเวลา
5. CHART แผนภูมิจำนวน คือ การทำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนตัวเลข หรือเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสถิติ โครงสร้างแผนภูมิจำนวนสามารถนำมาใช้กับรวมกับโครงสร้างอื่นๆ ได้ เพราะโครงสร้างแผนภูมิจำนวนจะเป็นประโยชน์ต่อการบอกค่าสถิติต่างๆ และแผนภูมิจำนวนมีความแตกต่างจากโครงสร้างอื่น จึงไม่ทำให้เกิดความซับซ้อนของข้อมูลมากจนเกินไป หากนำมารวมกัน
ตัวอย่าง CHART แผนภูมิจำนวน
6. FLOW CHART แผนภาพลำดับขั้นตอน คือ การทำข้อมูลที่มีลักษณะเป็นขั้นตอน วิธีการ เช่น เรื่องวิธีการทำอาหาร การจัดอันดับความนิยม เป็นต้น จะเห็นได้ว่า โครงสร้างนี้ได้รับความนิยมมากในการทำ Infographic เพราะสามารถนำข้อมูลมาปรับใช้กับโครงสร้างนี้ได้ง่าย และเป็นระเบียบ
ตัวอย่าง FLOW CHART แผนภาพลำดับขั้นตอน
จะเห็นได้ว่า การทำ Infographic มี 2 ขั้นตอนหลัก คือ การรวบรวมข้อมูล และออกแบบโครงสร้าง การรวบรวมข้อมูลจะต้องแน่ใจว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน เพราะ Infographic คือสื่อที่ทำขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องที่เรานำเสนอได้ง่าย เนื้อหาตรงประเด็นแต่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ดังนั้นโครงสร้างจึงมีส่วนช่วยให้การทำ Infographic ง่ายขึ้น มีการวางเนื้อหาอย่างเป็นระเบียบ และน่าสนใจ ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราสามารถนำโครงสร้างมารวมกันได้ภายใน Infographic 1 เรื่อง แต่ไม่แนะนำให้นำมารวมกันมากกว่า 2 โครงสร้าง เพราะจะทำให้ infographic ที่อ่านได้เข้าใจง่าย กลายเป็นทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนมากกว่า
*ข้อมูลส่วนหนึ่ง ได้จากฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Infographic ๑๐๑ แปลงข้อมูลเป็นภาพ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.