SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของนักวิจัย
เมษายน 16th, 2017 by supaporn

จากการบรรยายของ ศาสตราจารย์ ดร. อังศุมาลย์ จันทราปัตย์ หัวหน้าคณะผู้จัดทำจรรยาวิชาชีพและแนวทางปฏิบัติให้กับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของนักวิจัย วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2560 ณ ห้องบรรยาย 3 อาคารอำนวยการ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ขอสรุปส่วนหนึ่งของการบรรยาย ที่เกี่ยวกับการจัดทำผลงาน การเผยแพร่ผลงานวิจัย ขอนำมาสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานวิจัย และการเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อให้อยู่ในกรอบของการมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของนักวิจัย จากเอกสารประกอบการประชุมเชิงวิชาการ ของสำนักพัฒนาวิชาการ ดังนี้

การเผยแพร่ผลงานวิจัย

  • หากไม่จำเป็นไม่ควรเสนอผลงานที่ยังไม่สมบูรณ์ (Premature) หรือยังไม่ได้รับการประเมินออกสู่สังคม
  • ต้องให้เกียรติและอ้างถึงนักวิชาการ/แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้
  • ระบุและลำดับชื่อผู้นิพนธ์อย่างถูกต้องเป็นธรรม
  • ขอบคุณบุคคล คณะบุคคล และองค์กรที่สนับสนุนงานวิจัยในกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement)
  • นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบธรรม
  • แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากการนำเสนอผลงานวิจัยสู่สาธารณะ
  • ไม่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อนหรือมากกว่า 1 แห่ง (Dual or duplicate publication)
  • ตีพิมพ์ผลงานมากกว่าหนึ่งภาษาได้ หากวารสารที่จะตีพิมพ์มีนโยบายรองรับ แต่ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบล่วงหน้าด้วย
  • ส่งเรื่องเต็มของบทคัดย่อ (Abstract) ที่ตีพิมพ์ใน Proceedings ไปให้วารสารวิชาการพิจารณาได้ แต่ควรให้บรรณาธิการวารสารนั้นทราบและยินยอมก่อน
  • ไม่แบ่งย่อยผลงานวิจัยเป็นหลายเรื่องเกินความเหมาะสม เพื่อเพิ่มจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ (Salami publication or Balogna) เพราะอาจลดคุณค่าของงานได้ (แต่อาจจกระทำได้ หากบทความเหล่านั้น มีเนื้อหาเหมือนกันไม่เกินร้อยละสิบ และต้องไม่ใช้ตารางหรือภาพประกอบเดียวกัน และให้บรรณาธิการวารสารที่ส่งเรื่องไปตีพิมพ์ทราบและยินยอมด้วย)
  • การให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยแก่ผู้สนใจและร้องขอ ควรเป็นไปตามเงื่อนไขหรือได้รับความเห็นชอบตากต้นสังกัดว่าด้วยจริยธรรมที่ครอบคลุมข้อมูล วัสดุและทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

Fabrication การสร้างข้อมูลเท็จ

การสร้างข้อมูลเท็จ การจงใจปั้นแต่งข้อมูลทำให้ผิดไปจากความเป็นจริงที่พบจากการวิจัย การหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอเรื่องหรือสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ถือเป็นการหลอกลวง กระทำผิดทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และจรรยาวิชาชีพ (จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ, 2554)

Falsification การปลอมแปลงข้อมูล

การปกปิด บิดเบือน หรือทำให้ผิดไปจากความจริง โดยการตัดทอน หรือเพิ่มเติม ดัดแปลง ปรุงแต่ง แก้ไขข้อมูล ข้อความ หรือการปฏิบัติอื่นใดในกระบวนการวิจัย และรายงานข้อค้นพบจากการวิจัย เพื่อให้เป็นตามข้อสรุปที่นักวิจัยต้องการ แต่ไม่เป็นความจริง ถือเป็นการนำเสนอสิ่งอันเป็นเท็จ ผิดทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และอาจผิดกฎหมาย ทั้งขาดจิตสำนึกในจรรยา (จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ, 2554)

Plagiarism การลอกเลียนผลงาน

การนำแนวคิด งานหรือผลงานของผู้อื่น ไปใช้เสมือนว่าเป็นของตน โดยไม่มีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาหรือให้เกียรติเจ้าของเดิม หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้ชัดแจ้ง ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นของตน

ถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์ หลอกลวงทางวิชาการ และขาดจิตสำนึกในความมีจรรยาหรือความประพฤติที่ดี (จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ, 2554)

งานหรือผลงานที่เข้าข่ายในการลอกเลียน

แนวคิด ภาษา ถ้อยคำ ข้อความ คติพจน์ สุภาษิต ภาพเขียน ภาพถ่าย รูปปั้น รูปจำลอง ทำนองเพลง ตาราง ข้อมูล และผลงานใดๆ ของผู้อื่น ไม่ว่าจะนำมาทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน หรือนำมาทำใหม่ด้วยตนเอง หรือว่าจ้างผู้อื่นให้ทำให้ ดัดแปลง หรือปรับปรุงใหม่ แล้วนำเสนอประหนึ่งว่าเป็นของตน โดยไม่ให้เกียรติหรืออ้างถึงแหล่งข้อมูล

การคัดลอกผลงานตนเอง (Self-Plagiarism)

การคัดลอกหรือนำผลานที่เหมือนเดิมหรือเกือบเหมือนเดิมของตนเองกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยไม่มีการอ้างถึงผลงานเดิมของตนเองนั้น ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความถูกต้องเป็นจริงและอาจเกิดความสับนในการอ้างอิงได้ (จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ, 2554

การละเมิด (Infringement)

  • การล่วงละเมิดความเป็นผู้นิพนธ์
  • การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายต่อคน สัตว์ทดลอง และสิ่งแวดล้อม
  • การไม่เก็บความลับข้อมูลที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลระหว่างการวิจัยและในรายงานผลการวิจัย ฯลฯ

ความเป็นผู้นิพนธ์ (Authorship)

การเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการผลิตผลงานทาางปัญญาไม่ว่าจะในด้านแนวคิด การออกแบบวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลผล การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ การร่างรายงาน ผลการวิจัย (ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน) การตรวจแก้และปรับปรุงร่างรายงานผลการวิจัย

ผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้ ถือว่ามีคุณสมบัติในความเป็นผู้นิพนธ์บทความหรือรายงานผลการวิจัย หัวหน้าหน่วยงาน ผู้ให้คำปรึกษาทั่วไปในการวิจัย ผู้ช่วยหาทุน ผู้ชี้แนะหรือช่วยให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล ผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ผู้รวบรวมเอกสารอ้างอิง ผู้ช่วยวิจัย กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยหรือผู้รับการวิจัย บุคคลหรือองค์กรที่ช่วยให้ได้รับความสะดวก และผู้ช่วยงานธุรการต่างๆ

บุคคลและองค์กรข้างต้นนี้ไม่ถือเป็นผู้นิพนธ์ แต่สมควรได้รับเกียรติว่าเป็นผู้มีส่วนสนับสนุนในการสร้างผลงานวิจัย ด้วยการระบุชือไว้ในกิตติกรรมประกาศ

บทความหรือรายงานวิจัยต้องใส่ชื่อผู้มีส่วนร่วมในการผลิตผลงานวิจัยให้ครบถ้วน

ลักษณะการล่วงละเมิดความเป็นผู้นิพนธ์

  • ไม่ใส่ชื่อผู้สมควรเป็นผู้นิพนธ์ไว้ครบถ้วน
  • เพิ่มเติมชื่อผู้ที่มิได้มีคุณสมบัติเป็นผู้นิพนธ์เข้าไป (โดยเจ้าตัวอาจทราบหรือไม่ทราบ)
  • ใส่ชื่อผู้ไม่สมควรเป็นผู้นิพนธ์แทนตัวนักวิจัยเอง
  • อ้างชื่อตนเป็นผู้นิพนธ์ทั้งๆ ที่ผู้อื่นเป็นผู้เขียนผลงานให้

รายการอ้างอิง

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สำนักพัฒนาวิชาการ. แผนกพัฒนางานวิจัยและสื่อการเรียนรู้. 2560. การประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของนักวิจัย” วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2560 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. สมุทรปราการ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa