SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
หนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู”
พฤศจิกายน 6th, 2015 by supaporn

ซื่อคู่ฉวนซู

ซื่อคู่ฉวนซู

หนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู” เป็นหนังสือสำคัญยิ่งของจีนชุดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นหนังสือที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวถึงหนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู” ไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง  “ไอรัก คืออะไร” [1] หน้า 14 ในหัวข้อ “ดูพิพิธภัณฑ์ของห้องสมุด” ดังนี้

หนังสือ ซื่อคู่ฉวนซู เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้สี่ประเภทของจีน ได้แก่

  1. คัมภีร์ศาสนา หน้าปกสีเขียว เปรียบกับฤดูชุนเทียน (ฤดูใบไม้ผลิ)
  2. คัมภีร์ปรัชญา หน้าปกสีเหลือง เปรียบกับฤดูชิวเทียน (ฤดูใบไม้ร่วง)
  3. คัมภีร์เบ็ดเตล็ด หน้าปกสีเทา เปรียบกับฤดูตงเทียน (ฤดูหนาว)
  4. คัมภีร์ประวัติศาสตร์ หน้าปกสีแดง เปรียบกับฤดูเซี่ยเทียน (ฤดูร้อน)

และหน้า 18 ในหัวข้อ “ดูหนังสือโบราณ”

หนังสือนี้รวมทั้งหมดเป็นพันๆ เล่ม จักรพรรดิ์เฉียนหลงมีพระราชโองการให้รวบรวมเขียนด้วยลายมือทั้งหมด (ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นมีการพิมพ์แล้ว) สร้างไว้ 7 ชุด ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 ชุด เก็บรักษาไว้ที่ปักกิ่ง ไต้หวัน และหลานโจว ตอนกบฏไท้เผ็ง ถูกทำลายไป 3 ชุด เมื่อตอนที่กองทัพผสม 8 ชาติเข้าเผาวังหยวนหมิงหยวน ถูกทำลายไปอีกชุดหนึ่ง เขาบอกว่าธรรมดาไม่ให้คนอื่นดูคัมภีร์นี้ตัวจริง ผู้ที่ต้องการศึกษาต้องอ่านจากไมโครฟิล์ม คนที่จับหนังสือต้องใส่ถุงมือ

จากแผ่นพับแนะนำหนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู” ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ให้ข้อมูลของหนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู”  ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจไว้ดังนี้ [2]

การเรียบเรียงหนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู”เริ่มตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อน (เมื่อ ค.ศ. 1793) จักพรรดิเฉียงหลง รัชสมัยชิงเกาจง มีพระกระแสรับสั่งให้รวบรวมหนังสือตำราทั้งอดีตและปัจจุบันกว่า 2,500 ประเภท รวมกว่า 6,000 ภาค ประมาณ 9 หมื่นกว่าเล่มโดยมี จี้เสี่ยวหลันเป็นหัวหน้าบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการกว่า 60 คน ส่วนผู้คัดลอกมากถึง 2,800 คน ส่วนใหญ่เป็น “จิ้นซื่อ”บัณฑิตแห่งสำนักหันหลิน ในสมัยนั้นนับว่าเป็นการระดมอัจฉริยะบุคคลมาช่วยกันทั้งสิ้น แบ่งคัดเป็น 7 ชุด ใช้เวลาทั้งหมด 10 ปีจึงแล้วเสร็จ

หนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู”เป็นตำราประมวลวิชาความรู้อันล้ำลึกไว้ทุกประเภท ซึ่งมีชื่อเสียงเกรียงไกรเลื่องลือไปทั่วโลก จัดเป็นรูปเล่มขึ้น เมื่อปลายรัชสมัยเฉียงหลง หนังสือชุดนี้ถือว่าเป็นตำราที่ยิ่งใหญ่ด้านวรรณคดีในศตวรรษที่ 18 โดยไม่มีหนังสือชุดใดในโลกสามารถทัดเทียมได้ ประมวลหนังสือทุกยุคทุกสมัยกว่า 2,500 ประเภทของประเทศจีน แบ่งเป็น จิง สื่อ จื่อ จี๋ รวม 4 ภาคด้วยกัน ภาคละ 44 ประเภท ประเภทละ 65 หมวด มีเนื้อหาสาระลึกซึ้งและกว้างขวางสุดที่จะพรรณนา

จักรพรรดิเฉียงหลง เริ่มแรกเดิมทีทรงสร้างหอสมุดราชสำนักไว้ 4 แห่งเพื่อเก็บรักษาหนังสือดังกล่าวโดยเฉพาะ คือ หอสมุดเหวินเอียนเก๋อแห่งพระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง หอสมุดเหวินจินเต๋อแห่งเมืองเฉินเต๋อ หอสมุดเหวินหยวนเก๋อแห่งอุทยานหยวนหมิงหยวน และหอสมุดเหวินซู่เก๋อแห่งเมืองเสิ่นหยาง ต่อมาพระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้วัดจินซันแห่งเมืองเจิ้นเจียง ต้ากวนถาง แห่งเมืองหยางโจว และวัดเซิ่นอิงแห่งเมืองหางโจว ก่อสร้างหอสมุด “เจียงเจ๋อซันเก๋อ”ขึ้นอีกสามแห่ง อาทิ หอสมุดเหวินจงเก๋อ หอสมุดเหวินฮุ่ยเก๋อ และหอสมุดเหวินหลันเก๋อ หนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู”แบ่งคัดเป็น 7 ชุด กระจายเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดทั้ง 7 แห่ง ตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งยังได้สลักพระราชนิพนธ์ของจักรพรรดิเฉียงหลงลงบนแผ่นศิลาไว้เป็นอนุสรณ์อีกด้วย

หนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู”ทั้ง 7 ชุดนี้ หลักจากได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาผ่านมาร้อยกว่าปี ก็เริ่มประสบภัยพิบัตินานาประการทั้งภัยสงคราม กลียุค อัคคีภัย และภัยธรรมฃาติ ทำให้ชำรุดเสียหาย กระจัดกระจายไปหลายครั้งหลายครา จนเหลืออยู่เพียง 4 ชุดเท่านั้น และเมื่อสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ รัฐบาลก๊กมินตั๋งได้พยายามขนย้ายหนังสือชุดที่มีอยู่ในห้องสมุดในพระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง อพยพลี้ภัยไปเก็บไว้ที่หอสมุดกรุงไทเป ไต้หวัน และได้ดำเนินการถ่ายจากต้นฉลับมาจัดพิมพ์สำเนาไว้เพียง 300 ชุดเท่านั้น และถูกซื้อไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงชุดเดียวที่มหาวิทยาลัยในไต้หวันสั่งจองไว้ และบริษัท นานมี จำกัด ได้นำส่วนหนึ่งของหนังสือชุดนี้มาแสดงในงานนิทรรศการหนังสือในประเทศไทย มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งและทราบว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระทัยเป็นพิเศษจึงได้ติดต่อมาเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย

四库全书在泰国华侨崇圣大学图书馆资讯中心之一

四库全书是成书与乾隆皇帝后期。这部在十八世纪举世无双的巨大丛书,共收錄了中国历代二千五百多种书籍,分经、史、子、集,共四部,部下分四十四类,类下分六十五属,内容之多,浩如烟海,所以华侨崇圣大学觉得这套书有很大的价值,就把四库全书存在华侨崇圣大学图书馆的第五层。

รายการอ้างอิง

[1] เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. (2536). ไอรัก คืออะไร. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ธนาคารไทยพาณิชย์.
[2] มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. หนังสือ “ซื่อคู่ฉวนซู” เพชรน้ำหนึ่งในหอสมุด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (แผ่นพับ). สมุทรปราการ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.


Leave a Reply

https://lib-km.hcu.ac.th/?p=55You must be logged in to post a comment.

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa