TK Forum 2017 Better Library and Learning Space : Trends and Ideas
จากการเข้าร่วมสัมมนา ในหัวข้อเรื่อง TK Forum 2017 Better Library and Learning Space : Trends and Ideas เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 08.30-16.30 น. ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมสุโกศล กรุงเทพมหานคร จัดโดยอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) นั้น ในการจัดงานครั้งนี้ อุทยานการเรียนรู้ ได้เชิญวิทยากร จำนวน 3 ท่าน ซึ่งบรรยายในหัวข้อดังต่อไปนี้
1. Les Watson บรรยายเรื่อง Better Library and Learning Space : Trends and Ideas
2. Rob Bruijnzeels บรรยายเรื่อง I have to Change to Stay the Same : Creative Learning Environment for Future Libraries
3. Jérémy Lachal บรรยายเรื่อง Ideas Box : Learning and Creativity in Any Place
สาระสำคัญของการสัมมนา มีดังนี้
เลส วัตสัน ได้ให้ทิศทางและแนวคิดของห้องสมุดที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยสรุปได้ว่า เนื่องจากรูปแบบหรือระบบการศึกษาเปลี่ยนจากการเน้นการเรียนการสอนไปสู่การช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐาน ห้องสมุดจึงควรเป็นส่วนต่อขยายของห้องเรียน โดยสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มีการใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง มีการใช้ระบบเครือข่ายทั้งแบบผ่านสายเชื่อมต่อและแบบไร้สาย ทำให้สามารถใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ณ จุดใดก็ได้ภายในพื้นที่ การนำอุปกรณ์ของตนเองมาห้องสมุด (Bring Your Own Device หรือ BYOD) แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ห้องสมุดจึงควรได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น จุดจ่ายไฟเอาไว้ให้ การใช้ QR Code เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลด้วยสมาร์ทโฟน การติดตั้งป้ายอิเล็กทรอนิกส์แสดงผลแบบอินเตอร์แอคทีฟ การใช้เทคโนโลยีแสงในการเสริมภาพและอารมณ์ให้กับพื้นที่และการใช้เสียงเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้บริการ เป็นต้น
แนวทางการสร้างอาคารสมัยใหม่ที่นิยมมากที่สุด คือ การสร้างพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ง่าย มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน รองรับความหลากหลายและการไหลเวียนของผู้ใช้งานได้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แรงกระตุ้น ความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจ โอกาสการเรียนรู้จากผู้อื่น หรืออาจมีการแบ่งซอยพื้นที่ กลายเป็นห้องขนาดเล็กหลายห้องภายในพื้นที่เปิด เป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว ห้องสมุดควรจะมี เส้นด้ายสีทอง (Golden thread) ที่ช่วยให้ผู้ใช้เกิดความสงสัยใคร่รู้ เกิดความอยากรู้อยากเห็น เช่น งานศิลปะ ลานกลางอาคารที่น่าทึ่ง และเฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางอยู่ในพื้นที่นั้นเอง เป็นต้น
ร็อบ เบราซีลส์ บรรยายก่อนพูดถึงกรณีศึกษา คือ ห้องสมุดโรงงานช็อคโกแลต ว่า ต้องมีการบูรณาการการทำงานของห้องสมุด พยายามทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยมีการกำหนดค่าใหม่ใน 3 องค์ประกอบ คือ
- ระบบปฏิบัติการใหม่ หมายถึง กระบวนการทำงานใหม่ของห้องสมุด ด้วยการออกแบบวิธีการที่น่าตื่นเต้น ในการนำเสนอคอลเลกชั่นห้องสมุด ที่มีการกระตุ้นให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันความเข้าใจที่ลึกซึ้งหรือมุมมองใหม่ๆ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น
- การใช้งานใหม่ หมายถึง รูปแบบการทำงานใหม่ เชื่อมโยงความรู้และความเชี่ยวชาญในชุมชนกับกิจกรรมห้องสมุด สร้างความน่าดึงดูดใจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชน
- ฮาร์ดแวร์ใหม่ หมายถึง รูปแบบที่แตกต่างกันของอาคาร เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการและคอลเลกชั่นของห้องสมุด ก่อให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน เป็นสถานที่ที่เป็นที่รักของชุมชน ปรับให้เข้ากับผู้ใช้และบริบทของชุมชนโดยรอบ
ห้องสมุดโรงงานช็อคโกแลต (https://www.chocoladefabriekgouda.nl/) ที่เมืองเกาดา เนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่สำหรับชั้นหนังสือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น เน้นการใช้พื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วม เช่น พื้นที่ผลิตสื่อดิจิทัลที่มีอุปกรณ์ครบครัน พื้นที่จัดเวิร์คช็อปด้านศิลปะสิ่งพิมพ์ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ โรงงานช็อคโกแลต ได้รับรางวัลห้องสมุดดีที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ประจำปี ค.ศ. 2015/2016
วิทยากรท่านสุดท้าย คือ Jérémy Lachal จาก Libraries without Borders (https://www.librarieswithoutborders.org/) พูดถึงแนวคิดในการทำ Ideas Box ซึ่งมีลักษณะเหมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ Ideas Box บรรจุหนังสือ อุปกรณ์พกพาที่ทันสมัย สื่อการเรียนรู้ ไปให้ผู้คนในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงสารสนเทศและการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ถ้าค้นใน Google ด้วยคำว่า Ideas Box จะได้เห็นเรื่องราวอันทรงพลังของ Ideas Box เป็นอย่างมาก เช่น https://www.youtube.com/watch?v=ml7nZCNa2GQ
สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ในรูปแบบเต็มและย่อ ได้ที่ http://tkforum.tkpark.or.th/en/download-en/
ขอบคุณ อุทยานการเรียนรู้ ที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ทุกปี