SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ความสัมพันธ์จีน–อาเซียนภายใต้นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง” (Sino-ASEAN Relations under One Belt One Road Policy 一带一路背景 下 中国与 东盟关系)
กุมภาพันธ์ 7th, 2017 by wanna

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2560 ผู้เขียน ได้มีโอกาส เข้าร่วมสัมมนาวิชาการจีนศีกษา ครั้งที่ 7 เรื่อง “ความสัมพันธ์จีน–อาเซียนภายใต้นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง” (Sino-ASEAN Relations under One Belt One Road Policy 一带一路背景 下 中国与 东盟关系) ซึ่ง จัดโดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยากร คือ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ไทยจีน ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Prof.Dr. Zhu Zhenming ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทยจีน สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน ผู้เขียน เห็นว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงอยากจะแบ่งปันความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมสัมมนามาให้ผู้สนใจได้ทราบ ดังนี้

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น กล่าวถึง ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนภายใต้นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง ว่าปัจจุบันเรียกว่า BRI (Belt and Road Initiative) ซึ่งเดิมเรียกว่า One Belt One Road ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศของจีน เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีทุนสำรองเป็นอันดับหนึ่ง เงินหยวนถูกใช้มาก นักท่องเที่ยวจีนบุกโลก กล่าวถึงความสัมพันธ์จีน-อาเซียนครบรอบ 25 ปี การค้าจีน-อาเซียนในยุค New Normal ขยายตัวลดลง (New Low) การส่งออกของจีนในตลาดโลกลดลง

ปี 2014 จีนคือคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน แต่ในปี2015 ขยายตัวลดลงเนื่องจากอาเซียนอยู่ในโซ่อุปทานของจีน เมื่อความต้องการของจีนลดลง การค้ากับจีนก็ลดลง เศรษฐกิจของจีนยังคงพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลจีนจึงหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจุบันคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนคือเวียตนาม จีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าของไทย แต่ไม่ใช่ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย

ด้านการลงทุน จีนกลายเป็นผู้ออกไปลงทุนต่างประเทศเป็นอันดับสองของโลก ในปี 2016 จีนไปลงทุนในสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 อินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 เวียตนามเป็นอันดับ 3 ลาวเป็นอันดับ 4 มาเลเซียเป็นอันดับ 5 กัมพูชาเป็นอันดับ 6 ไทยเป็นอันดับ 7 และ พม่าเป็นอันดับ 8

เดือนกันยายน 2013 ประธาน สี จินผิง ได้ ไปอินโดนีเซีย พูดเรื่อง Silk Road Economic และ Maritime Silk Road และในปี 2014 มีการตั้งกองทุน Silk Road Fund และ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) แต่จีนกำลังอยู่ในขบวนการสร้างความเข้มแข็งภายใน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนไม่เข้มแข็งดังเดิม เป็น New Normal นักวิชาการจีนเริ่มตั้งคำถามว่าจีนจะได้อะไร จีนฝันอะไร (Chinese Dream) ในปี 2049 เป็นปีที่ ครบ 100 ปี ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนฝันเป็น “เสี่ยวคัง” คือ ให้คนจีนอยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้า

สำหรับ Prof.Dr. Zhu Zhenming กล่าวถึง ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนภายใต้ 1 แถบ 1 เส้นทาง และ แนวคิดที่จีนมีต่อไทย ว่า นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางที่ประธาน สี จินผิง เสนอในปี 2013 ทั่วโลกให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้มาก จะเห็นได้จากเว็บไซต์ต่างๆ มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่น้อยกว่า 4000 บทความ ซึ่งทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และคนส่วนใหญ่ในสังคมกล่าวถึงเรื่องนี้ ในมุมมองของตนเอง ทำให้เกิดความสับสน ทั้งในจีนและต่างประเทศ แนวคิดสูงสุดของผู้นำจีนต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ได้ประโยชน์จากโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง หากไม่สอดคล้องกันก็ไม่ต้องทำตาม เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วค่อยมาร่วมมือกัน

ตั้งแต่ จีน เสนอนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง 10 ประเทศในอาเซียนล้วนสนับสนุนนโยบายของจีน มีแถลงการณ์ร่วมกันว่าเห็นด้วย ประเทศในอาเซียนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเช่นการสร้างทางรถไฟในอินโดนีเซีย ลาว และ ไทย มีการตกลงโครงการความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) ซึ่งป็นโครงการที่ไทยเสนอ และจีนสนับสนุนอย่างมาก จึงถือว่าโครงการนี้มี 2 เจ้าภาพ

แนวคิดจีน-อาเซียน ต้องมอง 3 จุด คือ ภาพรวม ประวัติศาสตร์แนวดิ่ง-แนวราบ การเปลี่ยนแปลงและการหยุดนิ่ง จีนกับอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง :

– ปี 2016 ครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์จีนกับอาเซียน มีการฉลองครบรอบ 25 ปีที่ลาวและอินโดนีเซีย
– 10 ปีแรก ของทศวรรษ 1950 จีนฟื้นฟู ความสัมพันธ์ทางการฑูตกับอินโดนีเซีย
– ช่วง 10 ปี เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ด้วยความช่วยเหลือจากจีน ประเทศต่างๆ ในอาเซียนจึงสามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ จีนเสนอช่วยไทยพันล้านเหรียญสหรัฐ จีนสัญญากับไทยว่าจะไม่ลดค่าเงินหยวน (ถ้าลดไทยจะเดือดร้อน)
– ในช่วง 10 ปี มีเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ จีนพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีเขตการค้าเสรีกับอาเซียน และ พัฒนาความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับอาเซียน จีงนับว่า 10 ปีแรก เป็นยุคทองระหว่างจีนกับอาเซียน

ช่วง 10 ปีหลัง จีน-อาเซียน มีความสัมพันธ์ทางการเมืองในเชิงลึก ผู้นำไปมาหาสู่กันมากขึ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าก้าวกระโดดมากขึ้น และ ปัญหาก็เกิดมากขี้น เช่น ปัญหาเรื่องดินแดน ปัจจัยทางอ้อมที่กระทบจีนกับอาเซียน เช่น ผลกระทบที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ นโยบายสร้างความสมดุลในเอเชีย-แปซิฟิค ของสหรัฐอเมริกาก็มีผลต่อความสัมพันธ์จีน-อาเซียน การไปมาหาสู่กันมากขึ้นก็ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น รวมทั้งการรายงานของสื่อต่าง ๆ ที่คลาดเคลื่อน

นโยบาย จีนต่ออาเซียน :

– ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนอยู่ในอันดับต้นๆ
– สนับสนุน ประชาคมอาเซียนอย่างแข็งขัน
– สนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาค
– ผลักดัน องค์กรร่วมชะตา จีน-อาเซียน

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ดังคำกล่าว “จีน-ไทย เป็นญาติกัน” ความร่วมมือ จีน-ไทย อยู่ในระดับต้น ๆ มีมากขึ้น ในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านความมั่นคง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ประเทศไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่มีสถาบันขงจื่อมากที่สุด จีน-ไทย เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เรื่องผลกระทบระหว่างไทยกับจีน ปัญหาใหญ่ไม่มี มีแต่เรื่องเล็ก ๆ
นโยบาย “4 ไม่เปลี่ยน” ของจีน ที่มีต่อไทย

1. จีน-ไทย เป็นคนบ้านเดียวกัน จีนเป็นมิตรต่อไทย
2. ฐานะของไทยอยู่ในระดับต้น ๆ
3. พัฒนาความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์เชิงหุ้นส่วนให้มีความรอบลึกมากขึ้น
4. แนวนโยบายหลักที่ไม่เปลี่ยนคือ เป็นมิตรประเทศที่ดี ร่วมมือให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

ข้อเสนอของวิทยากร

1. ไทย-จีนมีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี แต่ต้องระวังปัจจัยที่เป็นผลเสียต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน
2. เมื่อปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จสวรรคต ผู้นำสูงสุด 3 คนของจีน กล่าวว่า การเสด็จสวรรคตของพระองค์เป็นความสูญเสีย ของชาวจีนและชาวไทย และ พระองค์จะสถิตอยู่ในใจของชาวจีนและชาวไทย เนื่องจากพระองค์ทรงผลักดันความสัมพันธ์ไทย-จีน ฉะนั้น ควรรำลึกถึงพระองค์ท่าน และทำตาม และ ควรเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ยกระดับความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับประชาชน ถ้าเกิดปัญหาควรแก้ไขทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรชี้แนะให้สื่อต่าง ๆ รายงานให้ถูกต้อง


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa