R2R ย่อมาจากคำว่า Routine to Research คือ การศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานประจำทุกวัน แล้วนำปัญหานั้นมาทำเป็นงานวิจัย จากนั้นก็นำผลที่ได้จากการวิจัยย้อนกลับมาใช้กับงานประจำอีกที เพื่อแก้ไขปรับปรุงพัฒนางานให้มีความเจริญขึ้น และพัฒนากำลังคนให้เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงาน
หลักเกณฑ์ในการทำ R2R
- มีการศึกษาปัญหา คัดเลือกหัวข้อที่จะทำ R2R
- ดำเนินการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้ R2R
- ทำแผนพัฒนาเพื่อปรับปรุงการทำงานจากผลการทำ R2R
- ดำเนินการตามแผนพัฒนาการปรับปรุงการทำงาน
- นำผลการดำเนินงานมาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
- ขนาดของปัญหา (Size of problem) ควรศึกษาจากน้ำหนักของปัญหาโดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน
ของปัญหา อาจกำหนดเป็นคะแนน แล้วนำปัญหาที่มีน้ำหนักคะแนนมากนั้น มาเป็นหัวข้อปัญหาของการวิจัยได้
- ความรุนแรงเร่งด่วนของปัญหา (Severity of problem) ควรเป็นปัญหาซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ถ้าไม่แก้ไขด่วนก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
- ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา (Feasibility or ease) ปัญหานั้นจะต้องมีการแก้ไขกระทำได้ง่าย โดยไม่ต้องอาศัยหน่วยงานอื่น หรือมีปัจจัยสนับสนุนในการดำเนินการแก้ไข
- ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา (Community concern) การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ร่วมงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
- ผลกระทบต่อหน่วยงาน (Impact) ต้องคำนึงถึงผลกระทบของปัญหาที่มีต่อบุคลากรและหน่วยงานมากน้อยแค่ไหน
ประโยชน์ที่ได้จาก R2R
หน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงานที่ได้มีการทำ R2R และนำผลการวิจัยจาก R2R ไปใช้ในการแก้ไขปรับปรุงพัฒนางานและพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานของตนเอง แล้วเกิดผลสำเร็จ เช่น
- โรงพยาบาลศิริราช ได้ทำการวิจัยกับทารกแรกเกิดที่มีปัญหาเรื่องการดูดนมมารดา โดยใช้โครงการว่า “ยิ้มออกถ้วนหน้าเพราะ R2R”
- โรงพยาบาลแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ได้ทำการวิจัยกับคนใช้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง มีปัญหาอุปสรรคในการเดินทางไปโรงพยาบาล ปัญหาครอบครัวภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยใช้โครงการว่า “บนเส้นทางการค้นหา “มีอะไร…ในมะเร็ง”
- สถานีอนามัยบ้านเม็ง จ.ขอนแก่น ได้ทำการวิจัยกับชุมชนบ้านเม็ง ศึกษาปัญหาสุขภาพของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเย็บผ้าของท้องถิ่น โดยใช้โครงการว่า “พลิกปัญหาสร้างอนาคต ชุมชนคนเย็บผ้า”
นอกจากตัวอย่างโครงการที่กล่าวมานี้ ยังมีกลุ่มงานอื่น ๆ ที่กำลังให้ความสนใจในการทำ R2R อีกมาก เพื่อการทำงานที่มีมาตรฐานและมีความสุขกับงาน การทำ (Routine to Research : R2R) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว
รายการอ้างอิง
จรวยพร ศรีศศลักษณ์ และ อภิญญา ตันทวีวงศ์, บรรณาธิการ. (2551). สยบงานจำเจด้วยการวิจัยสู่โลกใหม่ของงานประจำ : R2R : routine to research. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.
เดชาวุธ นิตยสุทธิ. (2559). เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R)” วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 ณ ห้องบรรยายพิเศษ 3 อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”. สมุทรปราการ : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.