SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
เทคนิคและวิธีประพันธ์บทความวิชาการและบทความวิจัย เพื่อการเผยแพร่ความรู้
กรกฎาคม 24th, 2016 by prapaporn

หัวข้อ “เทคนิคและวิธีประพันธ์บทความวิชาการและบทความวิจัย เพื่อการเผยแพร่ความรู้” เป็นหัวข้อในการสัมมนาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ณ ห้องจัดแสดงดนตรี ชั้น 2 หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

ผอ.สำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน

ผอ.สำนักหอสมุดแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน

วิทยากร คือ ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ไม้เท้าทอง (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) บรรยายในหัวข้อเรื่อง “เทคนิคและวิธีประพันธ์บทความวิชาการและบทความวิจัย เพื่อการเผยแพร่ความรู้” ซึ่งสามารถสรุปประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ไม้เท้าทอง วิทยากร

ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ไม้เท้าทอง วิทยากร

บทความวิชาการ (Journal article/Scholarly) คือ งานเขียนเชิงวิชาการที่นำเสนอความรู้ในหัวข้อต่างๆ ที่ได้จากการทบทวนเอกสารในเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย

 

ประเภทของบทความทางวิชาการ

  • บทความปริทัศน์ (review article) คือ บทความที่เขียนขึ้นจากการทบทวนเอกสาร/งานวิจัย ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่เคยมีการศึกษา รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ แล้วนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่
  • บทความวิจัย (research article) คือ บทความที่เขียนขึ้นจากการศึกษาวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องที่ได้ทำการศึกษาวิจัย

องค์ประกอบ : บทความปริทัศน์

1. ชื่อเรื่อง

  • กำหนดชื่อเรื่องให้สั้นและกระชับ
  • มีคำสำคัญซึ่งเป็นประเด็นหลักๆ ของเรื่องที่เขียนอย่างครบถ้วน
  • ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ไม่ซ้ำกับชื่อบทความที่มีอยู่แล้ว
  • ชื่อเรื่องและเนื้อหาของบทความมีความสอดคล้องกัน
  • ชื่อเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้อ่าน สามารถคาดเดาได้ว่าผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาอะไรบ้าง  (เนื้อหาที่มุ่งเน้น)

2. บทคัดย่อ (Abstract)

  • เป็นสาระสังเขปแบบพรรณนา (indicative abstract) นำเสนอขอบเขตคร่าวๆ ของเรื่องที่เขียน ซึ่งไม่สามารถใช้แทนต้นฉบับได้
  • เขียนให้สั้น กระชับ ใช้ภาษาตามที่ปรากฏในบทความ
  • กำหนดคำสำคัญ (keyword) ซึ่งเป็นคำแสดงแนวคิดหลักของบทความ

3. บทนำ (Introduction)

  • เกริ่นนำเกี่ยวกับหัวข้อที่เขียนอย่างกว้างๆ
  • นำเสนอความสำคัญที่ต้องศึกษาในหัวข้อเรื่องที่เขียน
  • หัวข้อเรื่องที่เขียนครอบคลุมในประเด็นใดบ้าง
  • เหตุผลสำคัญที่เขียนบทความ เช่น วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย ประโยชน์ในการนำไปใช้ เป็นต้น

4. เนื้อเรื่อง (Text)

  • นำเสนอเนื้อหาในหัวข้อต่างๆ ตามลำดับก่อนหลัง โดยลำดับเนื้อหาจากเรื่องทั่วไป สู่เรื่องที่เฉพาะเจาะจง
  • เขียนเนื้อหาในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์
  • เขียนเนื้อหาในแต่ละย่อหน้าให้มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว

5. บทสรุป (Conclusion)

  • เขียนสรุปเนื้อหาที่ได้นำเสนอไว้ในเนื้อเรื่อง โดยเขียนในภาพรว
  • แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นที่เขียน โดยอาจให้มุมมองใหม่ๆ แก่ผู้อ่าน เพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้า ในอนาคต หรือนำเสนอทัศนะเกี่ยวกับการนำสารสนเทศที่นำเสนอไว้ในบทความเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์

6. เอกสารอ้างอิง (References)

  • กรณีใช้คำว่า “บรรณานุกรม” หมายถึง เอกสารทุกรายการที่ผู้วิจัยใช้ประกอบการศึกษาวิจัย ทั้งที่ใช้อ่านเพื่อให้เกิดแนวคิด และที่ใช้นำมาอ้างอิงในเนื้อหาของงานวิจัย
  • กรณีใช้คำว่า “เอกสารอ้างอิง” หมายถึง เอกสารเฉพาะที่ผู้วิจัยใช้อ้างอิงในเนื้อหาของงานวิจัยเท่านั้น
  • เขียนรายการอ้างอิงแทรกในเนื้อหา และบรรณานุกรม/เอกสารอ้างอิงท้ายบทความ โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดของวารสารแต่ละชื่อ
  • เขียนเอกสารอ้างอิงท้ายบทความให้ครบตามรายการที่ได้อ้างอิงไว้ในเนื้อหาของบทความ

องค์ประกอบ : บทความวิจัย

1. ชื่อเรื่องของงานวิจัย

  • ชื่อวิจัยควรสัมพันธ์กับเนื้อหา/วัตถุประสงค์ของการวิจัย
  • ชื่อวิจัยควรครอบคลุมประเด็นที่ศึกษา
  • ชื่อวิจัยควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับตัวแปรที่ศึกษา
  • ชื่อวิจัยควรมีความชัดเจนเกี่ยวกับประชากร/กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา
  • ชื่อวิจัยอาจระบุถึงวิธีการวิจัยที่ใช้ (เพราะงานวิจัยนั้นๆ ให้ความสำคัญที่วิธีการวิจัย)

2. บทคัดย่อ (Abstract)

  • เป็นสาระสังเขปแบบให้ความรู้ ที่ใช้แทนต้นฉบับได้
  • เขียนให้ครอบคลุมเนื้อหาของงานวิจัยในภาพรวม
  • เขียนให้สั้น กระชับ ใช้ภาษาตามที่ปรากฏในงานวิจัย
  • เขียนผลการวิจัยสั้นๆ ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย
  • กำหนดคำสำคัญ (keyword) ซึ่งเป็นคำแสดงแนวคิดหลักของงานวิจัย โดยเป็นคำที่ปรากฏในงานวิจัย

3. บทนำ (Introduction)

  • บริบท ปัญหาวิจัย  โจทย์วิจัย
  • งานวิจัยที่ศึกษาในเรื่อง/ประเด็นนั้นๆ ซึ่งเชื่อมโยงให้เห็นว่า ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยในเรื่อง/ประเด็นนั้นๆมาก่อน หรือถ้ามีการศึกษาแล้วก็อาจจะยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยในบางประเด็น หรือยังไม่เคยใช้วิธีวิจัยแบบอื่นในการศึกษา สิ่งนี้ทำให้ทราบถึง knowledge gap
  • เหตุที่ทำให้ต้องศึกษาวิจัย วัตถุประสงค์ของการวิจัย
  • ในบทนำอาจกล่าวถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน

4. วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง (Literature Review)

  • นำเสนอทฤษฎี หรือแนวคิด ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย
  • นำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย
  • เขียนเนื้อหาในส่วนที่เป็นการนำเสนอให้เห็นภาพรวมของทฤษฏีแนวคิด หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (สั้นและกระชับ)

5. วิธีการวิจัย (Methodology)

  • ระบุวิธีการวิจัยให้ชัดเจนว่าเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ หรือ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
  • ประชากร/กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นใคร
  • เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคืออะไร มีลักษณะอย่างไร
  • การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการเมื่อใด เก็บอย่างไรและผลการเก็บข้อมูลเป็นอย่างไร
  • สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลมีอะไรบ้าง

6. ผลการวิจัย (Results)

  • นำเสนอข้อค้นพบที่ได้ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยเขียนให้ครบทุกข้อ
  • สรุปผลการวิจัยที่เป็นข้อค้นพบหลักๆ ในแต่ละเรื่อง/ประเด็น
  • เขียนผลการวิจัยให้มีเนื้อหาที่เป็นเอกภาพตั้งแต่ต้นจนจบ
  • นำเสนอตาราง/ภาพประกอบที่เป็นผลการวิจัยหลัก (หรือนำไปเสนอไว้ในภาคผนวกท้ายบทความ)
  • ระบุเหตุผลเพื่อทดสอบสมมุติฐาน และวิธีที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐานการวิจัย
  • ผลการวิจัยเป็นไปตามสมมุติฐานที่กำหนดไว้หรือไม่

7. อภิปรายผล (Discussion)

  • กล่าวถึงวัตถุประสงค์การวิจัย
  • นำเสนอผลการวิจัย/ข้อค้นพบที่ตอบคำถามการวิจัย
  • เปรียบเทีนบกับงานวิจัยอื่น
  • จุดเด่น จุดด้อย ของงานวิจัย
  • การตีความผลการวิจัย และการทำวิจัยในอนาคต
  • นำผลการวิจัยที่ค้นพบมาอภิปราย โดยใช้หลักการ/เหตุผลทางวิชาการ
  • ผู้วิจัยเขียนผลการวิจัยที่จะอภิปราย โดยอภิปรายว่า “ที่ผลการวิจัยเป็นเช่นนั้นเพราะ…” แล้วจึงอภิปรายว่าสอดคล้องหรือแตกต่างจากผลการวิจัยอื่นๆ อย่างไร

8. บทสรุป  (Conclusion)

  • การกล่าวถึงผลการวิจัยโดยย่อ และข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายผลการวิจัย
  • บางบทความนำบทสรุปไปเขียนรวมไว้ในหัวข้อ อภิปรายผลและสรุป (Discussion and Conclusion)

9. กิตติกรรมประกาศ  (Acknowledgement)

เขียนคำขอบคุณให้แก่หน่วยงาน / บุคคล ที่ให้ทุนวิจัย หรือให้การสนับสนุน, ช่วยเหลือ ในการวิจัย

10. ภาษาที่ใช้ในงานวิจัย

  • ใช้ภาษาที่เป็นทางการ/ภาษาเขียน
  • ตรวจสอบคำศัพท์/ศัพท์เทคนิค จากพจนานุกรม หรือหนังสือรวมคำศัพท์บัญญัติ ของราชบัณฑิตยสถาน หรือของหน่วยงานที่ได้รวบรวมคำศัพท์ในสาขาวิชาไว้
  • ใช้คำให้มีความเป็นเอกภาพ
  • ใช้คำเต็มแทนคำย่อ หากคำย่อเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ให้เขียนครั้งแรกที่ปรากฏในบทความ โดยระบุคำเต็มและให้ใส่คำย่อไว้ในเครื่องหมายวงเล็บกลม ครั้งต่อไปใช้คำย่อได้

ผลที่ได้รับจากการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้

  1.  ได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเขียนบทความวิชาการและบทความวิจัยที่ถูกต้อง
  2. สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตนเองได้
  3. มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ได้รับฟังข้อคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานซึ่งกันและกัน

รายการอ้างอิง

เทอดศักดิ์ ไม้เท้าทอง. (2559). เทคนิคและวิธีประพันธ์บทความวิชาการและบทความวิจัย เพื่อการเผยแพร่ความรู้. การสัมมนา เรื่อง  เทคนิคและวิธีประพันธ์บทความวิชาการและบทความวิจัย เพื่อการเผยแพร่ความรู้. ณ ห้องจัดแสดงดนตรี ชั้น 2 หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  วันที่ 23 มิถุนายน 2559.

 


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa