SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
นวัตกรรมห้องสมุดกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Library Innovation and Learning in the 21st Century)
เมษายน 6th, 2016 by supaporn

จากการเข้าร่วมฟังบรรยายในงาน TK Forum 2016 ซึ่งในปีนี้จัดในหัวข้อเรื่อง นวัตกรรมห้องสมุดกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  (Library Innovation and Learning in the 21st Century)  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุม 3,4 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้นประกอบด้วยการบรรยาย 3 เรื่อง ได้แก่

  1. Managing Innovative Personalities for Successful Library Innovation โดย คิมเบอร์ลี่ แมทธิวส์ (Kimberly Matthews) ผู้ช่วยผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนไมอามี่-เด๊ด สหรัฐอเมริกา
  2. Future City, Future Library: Experiences and Lessons Learned from the Library of Birmingham โดย ไบรอัน แกมเบิลส์ (Brian Gambles) อดีตผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร
  3. How to Develop and Promote Innovation in the Public Service: Case of Public Libraries in Singapore โดย เหงียน เลก ชอ (Ngian Lek Choh) ที่ปรึกษาคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (NLB)

สำหรับหัวข้อแรก Managing Innovative Personalities for Successful Library Innovation หรือ การบริหารบุคลิกภาพแห่งนวัตกรรมเพื่อการสร้างนวัตกรรมห้องสมุดที่ประสบความสำเร็จ  นั้น วิทยากรได้เริ่มกล่าวถึงการบริหารนวัตกรรม ขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กร เพราะต้องเป็นผู้กุมบังเหียนคนเก่ง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่ชอบอยู่เอกเทศ เป็นต้น เข้ามาร่วมสร้างผลงาน เพราะหากบริหารจัดการไม่ดี จะส่งผลในทางตรงข้ามคือ เกิดการหยุดคิด และเปลี่ยนเป็นทำลายล้างมากกว่าสร้างสรรค์ ดังนั้น ผู้นำที่แท้จริงควรมีคุณสมบัติ 10 ประการ ดังนี้

  1. มีคุณธรรม
  2. มีวิสัยทัศน์
  3. มีความรับผิดชอบ
  4. เป็นนักตัดสินใจ
  5. เป็นนักแก้ปัญหา
  6. เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้
  7. มอบอำนาจหน้าที่และให้อำนาจ
  8. เข้าใจสิ่งจูงใจ
  9. แสดงความซาบซึ้งใจ
  10. ไม่ปฏิบัติตามลำพัง

ในมุมมองของวิทยากร เห็นว่า นวัตกรรมแล้วแต่สายตาผู้มอง สำหรับชุมชนหนึ่ง มีระบบดิจิทัลเกือบทั้งหมดถือว่าเป็นนวัตกรรม สำหรับอีกชุมชนหนึ่ง เพียงแค่มีห้องสมุดก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมแล้ว ในการส่งเสริมนวัตกรรมในห้องสมุด ไม่เพียงแต่อาศัยผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่ยังรวมถึงองค์กรชั้นเลิศ วิธีการบรรลุความเป็นเลิศ ต้องตระหนักว่าจุดที่ยืน ณ ปัจจุบันในองค์กร ต่อมา การตัดสินใจว่า ต้องการให้ห้องสมุดเป็นประเภทไหน แบบตั้งรับ (reactive) แบบตอบสนอง (responsive) แบบดำเนินการเชิงรุก (proactive) หรือแบบสมรรถนะสูง (ดีเยี่ยม) ซึ่งเป็นโมเดลโปรแกรมสร้างสมรรถนะขั้นสูง (High Performance Programming Model หรือ HPP model) โดย ลินดา นีลสัน (Linda Nelson) และแฟรงค์ เบิร์น (Frank Burns)  โดยแนวคิดหลักในโมเดลนี้ คือ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ห้องสมุดแบบเชิงรุก ต้องมีการตอบสนองไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ห้องสมุดสมรรถนะสูงต้องดำเนินการเชิงรุกและมีการตอบสนองไปด้วย

ในส่วนของหัวข้อที่ 2 Future City, Future Library: Experiences and Lessons Learned from the Library of Birmingham (นครแห่งอนาคต ห้องสมุดแห่งอนาคต: ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับจากห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม) นั้น เนื่องจากวิทยากรเป็นผู้กำกับโครงการห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในทำให้ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมเป็นห้องสมุดประชาชนที่ดึงดูดคนเข้าชม และได้รับรางวัลจำนวนมาก ตั้งแต่การออกแบบที่ยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ เพื่อให้เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับทุกส่วนของชุมชน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสมบัติสาธารณะและบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของใจกลางนคร และ เพื่อเชื้อเชิญผู้เยี่ยมชมเข้าสู่การเดินทางแห่งการเรียนรู้และการค้นหา  ไม่ว่าห้องสมุดจะเล็กหรือใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์เมือง และส่วนหนึ่งของชุมชน ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาก รวมทั้งการคำนึงบทบาทของห้องสมุดที่สามารถเข้าถึงสารสนเทศอย่างเสรี ผู้คนสามารถเข้ามาแปลงข้อมูลให้กลายเป็นความรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการค้นหา ทั้งของตนเอง ของผู้อื่นและของโลก การรับเอาคำว่า “การมีส่วนร่วม” ของชุมชนเข้ามาตั้งแต่การออกแบบ การสร้าง การระดมทุน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคาร การเข้าถึงได้บริการของผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น วิทยากรได้พูดถึงบทบาทของบุคลากรในห้องสมุดที่ต้องมีความสันทัดในเรื่องการตลาด หารูปแบบบริการใหม่ๆ เพื่อให้ทรัพยากรที่เหมาะสมอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม และการให้เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้นด้วยจำนวนบุคลากรเท่าเดิม ในมิติของการให้บริการที่แปลงโฉม อาทิ เช่น การมีส่วนร่วมของอาสาสมัครในการให้บริการ บริการธุรกิจและการเรียนรู้ (business and learning service) โดยการปรับการให้บริการที่มิใช่แต่เพียงการให้บริการด้านสารสนเทศอีกต่อไป แต่ยังมีการประชุม ให้คำแนะนำ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา งานกิจกรรมสร้างเครือข่ายพันธมิตรถูกนำเสนอและบริหารจัดการโดยบุคลากรห้องสมุดซึ่งได้รับการฝึกใหม่เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการเรียนรู้ เป็นการปรับจุดเน้นงานบริการไปยังผู้ประกอบการ ประชาชนที่ต้องการดำเนินธุรกิจแต่ขาดความรู้/และทักษะที่จำเป็น

หัวข้อสุดท้าย คือ How to Develop and Promote Innovation in the Public Service: Case of Public Libraries in Singapore (นวัตกรรมการให้บริการของห้องสมุด: การเดินทางของคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์)  ซึ่งเป็นเรื่องไม่ประหลาดใจแต่อย่างใด ที่สิงคโปร์โดยคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ได้บริหารและพัฒนาห้องสมุดของสิงคโปร์ ด้วยวิสัยทัศน์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่สนับสนุนให้ประชาชนของสิงคโปร์มีการศึกษา โดยวิทยากรนำนวัตกรรมที่ใช้มาพูดให้ฟังดังนี้

  • นวัตกรรมการยืมหนังสือด้วยโทรศัพท์มือ เพียงดาวน์โหลด NLB MoblieApp จาก App Store และลงทะเบียนเป็นสมาชิก
  • นวัตกรรมเชิงกายกาย ห้องสมุดให้ข้อมูลสำคัญผ่านป้ายห้องสมุดดิจิทัล (digital library signage) การใช้อุปกรณ์ระบุตำแหน่งวัสดุห้องสมุดแบบออนไลน์ (online library item locator) ลดระยะเวลาในการหาวัสดุที่ต้องการของผู้ใช้ โดยแสดงแผนที่ไปยังวัสดุนั้นบนระบบออนไลน์ทันที การใช้หุ่นยนต์อ่านชั้นหนังสือ (proof-of-concept of a shelf-reading robot) โดยระบุสามารถระบุวัสดุที่วางผิดชั้น และสามารถทำเสร็จสิ้นภายในคืนเดียว และระบบวิเคราะห์วิดีโอ (video analytics) โดยติดตั้งกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกโปรไฟล์ของผู้ใช้อย่างรอบด้านทุกวันและวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้เพื่อกำหนดประเภทบริการที่ใช้งานได้ดี และที่ใช้งานไม่ได้ดีนัก ณ ชั่วโมงต่างๆ ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และสามารถวิเคราะห์ระบุกลุ่มผู้ใช้บริการในแต่ละบริการด้วยการวิเคราะห์อายุเฉลี่ยของผู้ใช้บริการประเภทนั้นๆ
  • นวัตกรรมห้องสมุดดิจิทัล มีการพัฒนาเทคโนโลยี OneSearch และ eReads เพื่อให้มีการค้นหาและเลือกวัสดุห้องสมุดง่ายขึ้น รวมทั้งระบบวิเคราะห์เนื้อหาบทความ (text analytics) เพื่อป้อนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ใช้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • การแปลงระบบดิจิทัลครั้งใหญ่ มีการแปลงหนังสือพิมพ์กว่า 200 ฉบับในรูปแบบดิจิทัล และเมื่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ หรือ NAS (National Archives of Singapore) ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ NLB เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ได้แปลงเนื้อหาทรัพยากรต่างๆ และสามารถเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ตโดยผ่านกระบวนการทำให้โปรแกรมค้นหาเกิดประโยชน์สูงสุด ในระยะเวลา 10 เดือนสถิติการเข้าใช้เพิ่มสูงขึ้นถึง 750%
  • คอมพิวเตอร์สู่แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือ พัฒนาวิธีการนำเสนอเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบการแสดงผลหลายหน้าจอ (multi-screen support) และสร้างรูปแบบเว็บไซต์ที่ตอบสนองอุปกรณ์แสดงผล (responsive web design) สามารถนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ โดยไม่ต้องออกแบบหน้าเว็บไซต์สำหรับแสดงผลขนาดเล็กแบบใหม่รวมทั้งสื่อในรูปแบบวิดีโอและเสียงได้ถูกปรับให้เข้ากับอุปกรณ์พกพาของผู้ใช้บริการอีกด้วย
  • การค้นหาแบบครั้งเดียว (OneSearch) สำหรับทรัพยากรทุกรูปแบบ มีการพัฒนาการสืบค้นเนื้อหาทั้งหมดข้ามฐานข้อมูล
  • การอ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์ (eReads) มีการพัฒนาระบบ eReads เพื่อช่วยให้บรรณารักษ์จัดเรียงทรัพยากรเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ตามความสนใจของผู้ใช้บริการได้บ่อยครั้งตามความต้องการในเวลาเพียงครึ่งวันผ่านระบบเสมือน
  • การนำทรัพยากรที่เกี่ยวข้องไปสู่ผู้ใช้ปลายทาง นำโปรแกรม Mahout ซึ่งเป็นโอเพนซอร์ส เพื่อรวบรวมบทความที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลหัวข้อเดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การสืบค้นเป็นไปได้ง่าย
  • การพัฒนาในอนาคต คือ ระบบข้อมูลชื่อถนนและอาคารตามเวลาและตำแหน่ง (time-based and location-based information on street and building names) ที่ปรากฏอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการย้อนเวลากลับไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่เหล่านั้นได้

รายการอ้างอิง

แมทธิวส์, คิมเบอร์ลี่. (2559, มีนาคม). การบริหารบุคลิกภาพแห่งนวัตกรรมเพื่อการสร้างนวัตกรรมห้องสมุดที่ประสบความสำเร็จ. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2559 TK Forum 2016, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, กรุงเทพฯ.

แกมเบิลส์, ไบรอัน. (2559, มีนาคม). นครแห่งอนาคต ห้องสมุดแห่งอนาคร: ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับจากห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2559 TK Forum 2016, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, กรุงเทพฯ.

เหงียน เลก ซอ. (2559, มีนาคม). นวัตกรรมการให้บริการของห้องสมุด: การเดินทางของคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2559 TK Forum 2016, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, กรุงเทพฯ

 


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa