รองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
หลังจากการประกาศผลการประกวดอาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ ของ กฟน.(MEA Energy Saving Building Award) เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 มกราคม 2559 รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) ได้ส่งสารถึงบุคลากร มฉก. ความว่า
27 มกราคม 2559
เรียน ชาว มฉก. ที่รักทุกท่าน
หลายท่านคงจะได้ทราบกันแล้วว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติของเรา ได้รับรางวัลและตราสัญญลักษณ์ “อาคารประหยัดพลังงานดีเลิศ ของ กฟน. (MEA Energy Saving Building Award)” พร้อมกับได้รับเงินรางวัล จำนวน 2,000,000.00บาท(สองล้านบาท) จากการไฟฟ้านครหลวงในวันนี้ (27 มกราคม 2559) นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของพวกเรา เนื่องจากรางวัลนี้เป็นรางวัลที่ไม่ใช่จะได้กันมาง่ายๆ ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการชุดต่างๆ มาหลายขั้นตอนหลายรอบ จนกระทั่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายที่เราต้องแข่งขันเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยต่างๆอีกถึง 8 มหาวิทยาลัย และ มฉก.เราก็ได้รับรางวัลนี้ในที่สุด
ปัจจัยที่สำคัญมากประการหนึ่งที่ช่วยให้ มฉก.ของเราได้รับรางวัลนี้ ก็คือผลการดำเนินงานด้านการประหยัดทรัพยากรต่างๆของเรานั้น เกิดขึ้นจากการร่วมทำกันในทุกระดับทั้งมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี เพราะถึงมหาวิทยาลัยจะมีนโยบายด้านการประหยัด หรือลงทุนมากมายด้านเทคโนโลยีเพื่อให้มีการประหยัดทรัพยากรเพียงไร ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชาว มฉก. แล้ว มหาวิทยาลัยของเราจะไม่มีวันจะประสบความสำเร็จได้รับรางวัลใหญ่นี้ได้เลย
เป็นที่ทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงปรับตัว (โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่มดำเนินการ) จากสิ่งที่ทำอยู่และเป็นอยู่มานานจนเคยชินแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง และมักจะไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจของคนส่วนมาก และมีบางส่วนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างไปบ้าง แต่สำหรับชาว มฉก.ส่วนใหญ่นั้นมีทัศนคติที่ดีและน่าเคารพยิ่ง ที่มีความคิดเห็นมุมมองการเปลี่ยนแปลงในทางบวก พร้อมที่จะปรับความคิดที่จะร่วมดำเนินงานให้องค์กรของเราไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอีกระดับหนึ่งของสังคม มีความอดทนต่อความไม่เคยชิน ต่อการปรับตัวเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านการประหยัดทรัพยากรต่างๆ ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาพและความปลอดภัย ฯลฯ
ผมจึงใคร่ถือโอกาสนี้ขอบพระคุณชาว มฉก. ทุกท่านในทุกหน่วยงานเป็นอย่างยิ่ง ที่กรุณาให้ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ อดทนมุ่งมั่นยึดอุดมการณ์ ที่จะช่วยกันทำแต่สิ่งดีในแง่มุมต่างๆ [จาก คุณธรรม (6ประการ) จริยธรรม (4ประการ) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม] ให้เป็นรูปธรรมมาโดยตลอด และขอบพระคุณทีมงานของ บริษัทอินโนเวชั่น เทคโนโลยี่ ที่เป็นปรึกษาให้กับเรา อันเป็นพลังร่วมหลายประสานจนบังเกิดเป็นผลที่นำมาสู่การได้รับรางวัลใหญ่ที่สำคัญมากในระดับประเทศ ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของพวกเราทุกคน
ขอบพระคุณชาว มฉก.ทุกท่านครับ
ประจักษ์ พุ่มวิเศษ
Prachak Poomvises
กองเชียร์ร่วมแสดงความยินดี
ภาพการมอบรางวัล
ท่านอธิการบดีหลังรับโล่
ท่านรองฉลอง แขวงอินทร์ เจ้าภาพหลัก ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ประหยัดพลังงานด้วยคุณธรรม
“มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ม.หัวเฉียวฯ ประหยัดพลังงานด้วยคุณธรรม” โดยเกิดจากการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยไว้ว่า “ขอให้ทำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ดี” ครั้งเมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีตามที่ทรงรับสั่ง ซึ่งจะต้องมีดีด้วยความรู้ และด้วยคุณธรรม จริยธรรม หรือทั้งกาย วาจา ใจ โดยได้บ่มเพาะคุณธรรมให้แก่บุคลากรและนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย และกำหนดเป็นคุณธรรม 6 ประการ อันได้แก่ ขยัน อดทน ประหยัด เมตตา ซื่อสัตย์ และกตัญญู เพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยคุณธรรม”
มหาวิทยาลัยจึงได้นำคุณธรรม 6 ประการ มาเป็นหลักในการบริหารงาน สอดแทรกในการเรียน การสอน รวมทั้งกิจกรรมและโครงการต่างๆ มหาวิทยาลัยมีแนวโน้มการใช้ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งพลังงานเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ทางมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการโครงการใช้ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ทั้งนี้ ยังได้มีการเพิ่มกิจกรรมโครงการอนุรักษ์พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการรับผิดชอบการใช้พลังงานซึ่งเป็นทรัพยากรของสังคม ด้วยการนำคุณธรรมมาเป็นหลักในการดำเนินการ จึงเกิดคำขวัญ “ม.หัวเฉียวฯ ประหยัดพลังงานด้วยคุณธรรม” ขึ้นนั่นเอง
การใช้พลังงานของระบบและอุปกรณ์หลัก
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย อาคารหลัก 16 อาคาร ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง ประเภทค่าไฟฟ้าแบบ TOD: (Time of Day Rate) 4.1.2 โดยมีการใช้หม้อแปลง 16 ชุด รวม 10,370 kVA
มหาวิทยาลัย ได้มีการติดตั้งระบบ Central Energy Monitor โดยมีการใช้ Power Meter เพื่อตรวจสอบการใช้พลังงานในทุกๆ อาคาร และในเครื่องจักรหลักโดยพบว่ามีสัดส่วนการใช้พลังงานใน 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย
1. ระบบปรับอากาศ
2. ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
3. ระบบอื่นๆ ได้แก่ อุปกรณ์สำนักงาน ระบบลิฟต์ และระบบสุขาภิบาล
สัดส่วนการใช้พลังงาน
ดัชนีการใช้พลังงานไฟฟ้า
ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมประกวดอาคารประหยัดพลังงานดีเด่น ของการไฟฟ้านครหลวง (MEA Award) ปีที่ 3 ประจำปี 2558 และได้รับตราสัญลักษณ์ในระดับที่ 1 และจากการประกาศผลเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลชนะเลิศอาคารประหยัดพลังงานประเภทอาคารมหาวิทยาลัย และเตรียมตัวเข้าร่วมประกวด Thailand Energy Award โดยกระทรวงพลังงานฯ ต่อไป
เบื้องหลังความสำเร็จ
กลยุทธ์ที่ 1 การมีส่วนร่วม “เราคือทีม”
การมีส่วนร่วมของทุกคนตั้งแต่ผู้บริหาร ที่ต้องสร้างความศรัทธา ความเชื่อ และทำให้กับคนในองค์กรร่วมมือ ร่วมใจ ซึ่งสามารถทำได้โดยสร้างผ่านกระบวนการในการเรียนรู้ศึกษาร่วมกัน ปฏิบัติร่วมกัน คิดร่วมกัน และมีการตัดสินใจร่วมกัน ในส่วนของบุคลากรนั้น มีความตระหนักถึงหน้าที่ในการอนุรักษ์พลังงาน ดังนี้
- ใช้พลังงานอย่างเหมาะสม
- ใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการประหยัดพลังงาน
- การอนุรักษ์พลังงานต้องไม่ส่งผลต่อการให้บริการ
ตัวอย่างกิจกรรม
คณะบริหารธุรกิจ จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์มาตรการประหยัดพลังงาน 10 ประการ
การประหยัดพลังงาน จากท่านอธิการบดีสู่บุคลากรใหม่ ม. หัวเฉียว
กลยุทธ์ที่ 2 การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้มีคุณธรรม 6 ประการ คือ ขยัน อดทน ประหยัด เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญู และได้นำเรื่องประหยัดมาเชื่อมโยงกับการประหยัดพลังงาน
เราคือทีม
โครงการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย และโครงการ Green Bus Station และป้อมยามลดโลกร้อน
ตัวอย่างกิจกรรม
Big Cleaning Day 7 ส จุดเริ่มต้นของการประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อน
ประชุมขับเคลื่อนการประหยัดพลังงานภายใต้แนวทาง “ม. หัวเฉียวฯ ประหยัดพลังงานด้วยคุณธรรม”
เปิดตัว…จักรยานสีขาว รุ่นที่ 4 HCU White Bike 4 For Saving Energy, Good Health & Environment
จักรยานสีขาว @ ม. หัวเฉียว
กิจกรรมพลัง 3ป : ปั่น ปลูก ประหยัด เทิดพระเกียรติวันแม่
ม.หัวเฉียวฯ จัดกิจกรรม ปั่น : ปลูก : 7ส เพื่อพ่อของเรา
ม.หัวเฉียวฯ เตรียมความพร้อมกับ Water Footprint หรือ รอยเท้าน้ำ
Green Energy Technology 2015
กลยุทธ์ที่ 3 นำระบบการบริหารจัดการพลังงานมาใช้กับองค์กรอย่างเข้าใจ
มหาวิทยาลัย นำระบบการจัดการพลังงาน 8 ขั้นตอน ของกระทรวงพลังงานมาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ลดการใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม 15% พร้อมกับกำหนดมาตรการหลัก 6 ประการ ให้บุคลากรทุกท่านร่วมกันนำไปปฏิบัติใช้หรือการจัดทำระบบมาตรฐานการจัดการพลังงานแบบสากล ISO 50001 มาใช้งานโดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็น
มาตรการ 6 ประการ ได้แก่
- เปิดหน้าต่างทุกๆ เช้าวันจันทร์ เพื่อการระบายอากาศก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 15 นาที
- การรณรงค์ลดการใช้พลังงานในช่วงเวลา 18.30 – 21.30 น. (On Peak)
- การรณรงค์การใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมขององค์กร
- การปรับตั้งอุณหภูมิ 25 องศาของเครื่องปรับอากาศภายในหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน
- การปรับตั้งโหมด Stand by คอมพิวเตอร์ 15 นาทีพร้อมปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ช่วงพักเที่ยง และเมื่อไม่มีการใช้งาน
- ปิดระบบเครื่องปรับอากาศและระบบแสงสว่างในช่วงเวลา 12.00-13.00 น.
กลยุทธ์ที่ 4 มีที่ปรึกษา
การมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำให้คำปรึกษา ชี้แนวทางในการดำเนินการ การวางแผนการค้นหามาตรการเชิงลึก การวิเคราะห์หาความคุ้มค่าและจุดคุ้มทุน การทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน
กลยุทธ์ที่ 5 ศึกษาเรียนรู้จากผู้สำเร็จ
ทางมหาวิทยาลัยได้ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัลการประหยัดพลังงาน เพื่อเรียนรู้จากความสำเร็จ
สรุป
ความสำเร็จที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติสามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับรางวัลนั้น อยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ คือ
1. การพัฒนาคน (People ware) คือ การสร้างทัศนคติที่ดีในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน และจัดตั้งทีมงานอนุรักษ์พลังงาน โดยมุ่งเน้นให้มีบุคลากรจากทุกภาคส่วนเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน พร้อมกับการจัดสรรงบประมาณให้ทีมงานอนุรักษ์พลังงานได้ศึกษาดูงานอาคารที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการทำงาน รวมทั้งจัดให้มีการอบรมความรู้และสร้างจิตสำนึก ด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับบุคลากรและนักศึกษาทุกปี การสร้าง และจัดกิจกรรมส่งเสริมภายในมหาวิทยาลัยและสังคม พร้อมกับกำหนดมาตรการหลัก 6 ประการ ให้บุคลากรทุกท่านร่วมกันนำไปปฏิบัติใช้ รวมทั้งการได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากทีมที่ปรึกษาอย่าง บริษัท อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด ที่เข้ามาช่วยจัดการด้านพลังงานอีกทางหนึ่ง
2. การสร้างระบบ (System ware) คือ การร่วมกันสร้างระบบและมาตรการต่างๆ ในการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้แนวทางของกระทรวงพลังงานพร้อมดำเนินการจัดทำระบบมาตรฐานการจัดการพลังงานแบบสากล ISO 50001
3. การเน้นประสิทธิภาพ (Hardware) คือ การประเมินศักยภาพในการใช้พลังงานของอุปกรณ์แลเครื่องจักรเป็นระยะ กำหนดการใช้งานเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน รวมทั้งการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องจักรอย่างถูกวิธีและเหมาะสม และที่สำคัญการปรับปรุงเครื่องจักรโดยการพิจารณามาตรการที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและมีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 3 ปี เช่น การใช้หลอดไฟ LED และการใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูงแบบ Inverter เป็นต้น
รายการอ้างอิง
ประจักษ์ พุ่มวิเศษ. (27 มกราคม 2559). ขอบพระคุณ. [Electronic mail].