SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
กิจกรรมชดเชยคาร์บอน และ เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์
มิถุนายน 11th, 2021 by pailin

ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกใบนี้ ซึ่งปัญหาโดยส่วนใหญ่เกิดมาจากการกระทำของมนุษย์ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทวีความรุนแรงในการเกิดพายุต่างๆ  สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนมาจากการสะสมก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อันเกิดมาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

ในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนล้วนมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือช่วยลดผลกระทบต่างๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของโลกเราไว้ให้ดีหรือให้ยังคงอยู่เหมือนเดิม ด้วยการลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่มีช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ที่ใช้เป็นกลไกและมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อน อันเกิดมาจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHG)

ก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซชนิดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และสารประกอบจำพวกฟลูออไรด์ 3 ชนิด คือ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon: HFC) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbon: PFC) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfurhexafluoride: SF6)  ซึ่งวัฎจักรการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมีทั้ง โดยทางตรงจากกลุ่มการเผาไหม้เชื้อเพลิง หรือโดยทางอ้อมจากการผลิตกระแสไฟฟ้าและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  จะเห็นได้ว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่มีอยู่หลากหลาย ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกมากมายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ


 

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คืออะไร ? ทำไมต้องกำหนดขึ้นมา ?

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยและดูดกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการผลิตสินค้าและบริการ

ประโยชน์ของการคำนวณหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พอเราทราบปริมาณแล้ว จะได้นำไปวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนลง ผ่านโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมชดเชยคาร์บอน

กิจกรรมชดเชยคาร์บอน

กิจกรรมชดเชยคาร์บอน คือ การส่งเสริมให้ซื้อคาร์บอนเครดิต มาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของ องค์กร / ผลิตภัณฑ์ / เหตุการณ์ / บุคคล เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร / ผลิตภัณฑ์ / เหตุการณ์ / บุคคล เหล่านั้น ลดลงหรือเท่ากับศูนย์

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ที่เป็นองค์กรสนับสนุนหลักขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ จึงได้จัดทำโครงการกิจกรรมชดเชยคาร์บอน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม ทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิต (ความต้องการมีส่วนร่วมชดเชยคาร์บอน) จากโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย (T-VER) ที่มีช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ

 

 

 

กิจกรรมชดเชยคาร์บอน มี 4 ประเภท

1. สินค้าและบริการ
คือ การรับรองกิจกรรมชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในระหว่างการผลิต การใช้งาน และการจำหน่ายสินค้า หรือ ในระหว่างการจัดหาและการใช้บริการ
2. การจัดประชุม หรือ งานอีเว้นท์
คือ การรับรองกิจกรรมชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในการจัดการประชุม การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และอื่นๆ
3. องค์กร
คือ การรับรองกิจกรรมชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร
4. กิจกรรมส่วนบุคคล
คือ การรับรองกิจกรรมชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกในกิจวัตรประจำวันส่วนบุคคล

 

วิธีการคำนวณสำหรับบุคคล

สำหรับบุคลลธรรมดาทั่วไปที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วยการ เข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอน จึงต้องใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อช่วยในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน (มีหน่วยคำนวณเป็น ตันต่อปี)
โดยคำนวณจากกิจกรรม 3 ด้าน

คือ การอุปโภคบริโภคในบ้านเรือน การเดินทางไปทำงานหรือสันทนาการ การบริโภคอาหาร

 

เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

เนื่องจากการคำนวณจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวันนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่เป็นองค์กรสนับสนุนหลักขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย จึงได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ช่วยในการคำนวณหาค่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบุคคล” สำหรับประชาชนทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1. ผ่านเว็บไซต์   CF Calculator Personal

แบบที่ 2. ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ   CF Calculator ดาวน์โหลดได้จาก Play store

 

หน้าเว็บไซต์ CF Calculator Personal 

http://carbonmarket.tgo.or.th/carbonfootprint/webV2/index.html

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้พัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมา และมีการปรับปรุงเป็นเวอร์ชั่นใหม่ในปี 2564  สำหรับท่านที่ยังไม่เคยใช้เครื่องมือนี้ ให้ทำการลงทะเบียนผู้ใช้ใหม่ก่อน โดยกรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วน และต้องจำ username และ password ไว้ให้ถูกต้อง เพื่อไว้ใช้ login เข้าใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในครั้งถัดต่อไป

สำหรับท่านใดที่เคยลงทะเบียนไว้แล้ว แต่มีปัญหา login ไม่ผ่าน เช่น ลืม password ให้กดปุ่ม ลืมรหัสผ่าน แล้วกรอก email ที่เคยใช้ลงทะเบียน แล้วระบบจะส่ง password ไปให้ท่านใหม่

 

แอพพลิเคชั่นบนมือถือ   CF Calculator

เข้าที่ Play store ค้นหาคำว่า CF Calculator ทำการดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่น ทำการลงทะเบียน (เฉพาะครั้งแรก) แล้วกรอกข้อมูลกิจกรรมต่างๆ จนครบถ้วน โปรแกรมจะคำนวณ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของท่านให้ทราบ ดังรูป

 

รายการอ้างอิง

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). (2564). CF Calculator Personal. สืบค้น 11 มิถุนายน 2564, จาก http://carbonmarket.tgo.or.th/carbonfootprint/webV2/index.html

โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก. (2559). การชดเชยคาร์บอนเครดิต. สืบค้น 2 มิถุนายน 2564, จาก http://ghgreduction.tgo.or.th/less/26-t-ver/about-tver/2016-07-19-11-17-02/120-2016-07-19-12-08-29.html

SET SOCIAL IMPACT ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2563). คาร์บอนฟุตพริ้นท์คืออะไร. สืบค้น 2 มิถุนายน 2564, จาก https://www.carethebear.com/article/detail/13

TERAO.(2020). Overview of scopes and emissions across a value chain as defined in GHG protocol.[image]. retrieved 2 June 2021, from https://teraoasia.com/2020/10/23/start-assessing-your-carbon-footprint-with-the-ghg-protocol


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa