SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ทักษะที่ต้องมี
เมษายน 28th, 2021 by supaporn

คุณ คริสตัล ลิม-แลงจ์ (Crystal Lim-Lange) อดีตผู้อำนวยการ NUS Centre for Future-ready Graduates และผู้ก่อตั้งบริษัท Forest Wolf ประเทศสิงคโปร์ ได้นำเสนอภาพ ทักษะต่างๆ จากสภาเศรษฐกิจโลก ในการบรรยายเรื่อง Deep Human Resilience-the Skills and Mindsets We Need to Succeed in an Era of Change ขึ้นมานำเสนอในงาน TKForum 2021 หัวข้อเรื่อง “Library and Public Space for Learning” ในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น. จัดโดย TK Park อุทยานการเรียนรู้

ทักษะที่ต้องมีในปี 2022

 

ในคอลัมน์ขวามือเป็นทักษะที่อยู่ในช่วงขาลง หมายถึง ทักษะที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เป็นทักษะที่ได้จากการศึกษาแบบดั้งเดิม เช่น ความจำ การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ ทักษะเหล่านี้ หุ่นยนต์ เอไอ หรือเครื่องจักร สามารถทำได้ดี ส่วนคอลัมน์ทางซ้ายมือเป็นทักษะที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นทักษะที่ทำให้คนแตกต่างจากหุ่นยนต์ เรียกว่า ทักษะขั้นสูง ทักษะเหล่านั้น คือ ความสามารถในการคิดเชิงลึก เชิงวิพากย์ เชิงวิเคราะห์ การสร้างนวัตกรรมเป็นทักษะการคิดขั้นสูง การมีความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ ความเป็นผู้นำและการมีอิทธิพลต่อผู้อื่น หรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การสื่อสารที่ซับซ้อน

การเตรียมบัณฑิตที่จะจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จึงต้องปรับเปลี่ยนไป เพราะการจบมหาวิทยาลัยไมได้ หมายถึง มีการศึกษาสูง ในอดีต การเรียนได้เกรดดีๆ นำไปสู่การมีงานที่ดีทำ ยิ่งเรียนหนักก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะไต่บันไดขึ้นไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ในโลกปัจจุบัน ตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงผันผวน ตำแหน่ง หรือบางงานอาจหายไป กลยุทธ์ที่ดีที่สุด คือ เรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ ให้กว้างและพาตัวเองไปพบกับประสบการณ์ที่หลากหลาย วิทยากรได้กล่าวว่า ตอนนี้เราอาศัยอยู่ในโลกที่เรียกว่า “VUCA” คือ มีความผันผวน (Volatile) ความไม่แน่นอน (Uncertain) ความซับซ้อน (Complex) และความคลุมเครือ (Ambiguous) การจ้างงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง การเตรียมความพร้อมให้กับคนหนุ่มสาวสำหรับการทำงานในอนาคต มิได้มีเพียงเรื่องทักษะที่จำเป็น แต่ยังมีเรื่อง การรับรู้ตนเอง และการปรับกรอบความคิด (mindset) โดย

1. กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทำสิ่งใหม่ๆ และมีความแตกต่าง

2. การมีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน

3. อย่าติดยึดกับความคิดเกี่ยวกับตัวเอง ที่ทำให้ไม่เกิดความมั่นใจ และเป็นตัวหยุดยั้งความสำเร็จ

4. ต้องปรับ mindset ว่าการเรียนรู้ทำได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

5. เปิดรับประสบการณ์ เรียน/ฝึกทักษะให้มากที่สุด คือ การฝึกทักษะมนุษย์ (Soft skills) ได้แก่ ทักษะทางด้านอารมณ์ ทักษะทางสังคม การคิดเชิงวิพากย์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ วิธีการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะความรู้ที่เรียนมา คือ Hard skills ซึ่งจะล้าสมัยและตกยุค

นอกจากนี้ วิทยากรได้นำเสนอ 5 ทักษะขั้นสูง (Deep Human Skills)

1. Focus & Insight (การมีสมาธิและจดจ่อ) เทคนิคสำคัญที่ทำให้มีสมาธิมากขึ้น คือ การฝึกสติ เป็นการฝึกให้จดจ่อความสนใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

2. Self-Awareness (การตระหนักรู้ในตนเอง) รู้ชัดเจนว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนตรงไหน เพื่อจะได้พัฒนา และปรับตัว เพิ่มการตระหนักรู้ด้วยการสะท้อนความเห็น จากการถามหรือรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

3. Empathy & Compassion คือ (ความเห็นอกเห็นใจและเมตตากรุณา) ฝึกเอาใจใส่คนอื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น มนุษย์ต้องการความเขื่อมโยง ทำให้อีกฝ่ายเชื่อใจ งานที่ต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจจะยังคงอยู่ไปอีกนาน เพราะความเชื่อใจเป็นสิ่งที่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้

4. Complex communication (การสื่อสารที่ซับซ้อน) หมายถึง ความสามารถสื่อสารเรื่องยากๆ กับคนอื่น เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง

5. Adaptive resilience  (ความเข้มแข็งทางใจ) เมื่อมีเหตุการณ์ที่ท้าทาย เมื่อล้มแล้วต้องลุกมาให้ได้ ต้องมีความเข้มแข็ง เชื่อในตัวเอง และปรับตัวให้ได้ เป็นคนที่เรียนรู้จากความล้มเหลว เติบโตผ่านการเรียนรู้

แต่การที่ยังมีกรอบความคิดที่ตายตัว (Fixed mindset) เนื่องจากมนุษย์มักจะมีความคิดที่ถูกฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องความไม่เก่ง ความขี้อาย ทำให้ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนระบบปฏิบัติการภายในที่คอยดำเนินการอยู่เบื้องหลัง และเป็นตัวที่คอยหยุดยั้งไม่ให้พบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง แม้ว่าจะได้รับการฝึกอบรมมากมาย ทักษะเหล่านั้นก็ไม่มีความหมาย จึงต้องมีกรอบความคิดแบบพัฒนา (Growth mindset)

การเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindshift) ที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น

1. เปลี่ยนจากความรู้สึกกลัวความล้มเหลว ให้กลายเป็นกรอบความคิดแบบพัฒนา (Growth mindset) วิธีการหนึ่ง คือ การฝึกให้มีนิสัยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความล้มเหลว

2. เปลี่ยนจากการวางแผนที่ชัดเจนตายตัว เป็น ปรับเปลี่ยนให้เร็วและกล้าลองไอเดียใหม่ ๆ โลกเปลี่ยนเร็วเกินกว่าจะรอคอยความสมบูรณ์แบบ แต่ควรเรียนรู้ผ่านการทดลอง ลงมือปฏิบัติ

3. เปลี่ยนจาก เริ่มต้นด้วยเหตุผล เป็น เริ่มต้นด้วยความเห็นอกเห็นใจ เช่น “ฉันเข้าใจคุณ” “ฉันรับฟังคุณ” “ฉันรู้ว่าสิ่งที่คุณพูดมีความสำคัญ” คำพูดเหล่านี้ ช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์ และช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จ


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa