ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้เข้าศึกษาดูงาน Chula UltimateX Library ณ อาคารจามจุรี 10 ภายใต้การบริหารของสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 13.30-16.00 น. ซึ่งเป็นต้นแบบห้องสมุดแบบ Unmanned Library โดย ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม และทีมงาน เป็นผู้บรรยาย
สำนักงานวิทยทรัพยากร เปิดตัว Chula UltimateX Library ห้องสมุดที่ให้บริการในรูปแบบ Unmanned Library แห่งแรกของประเทศไทย ณ บริเวณชั้น 2 และชั้น M2 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) เปิดให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 19.00 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น. และช่วงการสอบจะขยายเวลาจนถึง 21.00 น. ทุกวันจันทร์ – วันอาทิตย์
จากเดิมที่อาคารจามจุรี 10 เป็นที่รวบรวมทรัพยากรจากห้องสมุดคณะจิตวิทยา คณะสหเวชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพยาบาลศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ไม่ว่านิสิตคณะไหนก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ในส่วนของระยะเวลาที่เปิดให้บริการ ต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นตามความต้องการของนิสิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดและช่วงสอบ ซึ่งการเปิดนอกเวลานั้น จะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับบุคลากรที่มาดูแล แต่เมื่อพัฒนามาเป็น Unmanned Library ซึ่งใช้ระบบสั่งการจากระยะไกล ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้ มีระบบการดูแลความปลอดภัย ระบบ WiFi สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถควบคุมจากที่ไหนก็ได้
“ห้องสมุดแห่งนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่าการให้บริการห้องสมุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากในอนาคตเราอาจจะมีปัญหาในเรื่องของกำลังคน การบริหารจัดการห้องสมุดที่ไม่ต้องมีบุคลากรจำนวนมากมาดูแลน่าจะคล่องตัวและ เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่บางครั้งเขาไม่อยากให้ใครมาคอยสอดส่อง … และเป็นการนำเทคโนโลยีพื้นฐานที่ห้องสมุดมีอยู่แล้วมาร้อยเรียง และเพิ่มการควบคุมผ่านระบบโดยที่ไม่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ หรือบรรณารักษ์ให้บริการ” ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร รองศาสตราจารย์.ดร.อมร เพชรสม ได้กล่าวถึงที่มาของห้องสมุด Unmanned Library
Chula UltimateX Library จึงเป็นห้องสมุดที่ผสมผสานนวัตกรรมการบริหารจัดการห้องสมุดผ่านเครื่องบริการอัตโนมัติ และการบริหารจัดการอาคารด้วยเทคโนโลยีทางไกล การให้บริการแบบ Unmanned Library เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่มีคน (บุคลากรของห้องสมุด) เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด ภายใต้โครงการ CU NEX ระบบบริการแบบอัตโนมัติตั้งแต่หน้าประตู ผู้รับบริการสามารถ รับบริการด้านต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองผ่านเครื่องให้บริการอัตโนมัติ และสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี โปรแกรมการสื่อสารและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ห้องสมุดจัดไว้ให้ นอกจากนี้ บุคลากรของสำนักงานวิทยทรัพยากร ยังสามารถควบคุมการเปิด – ปิดห้องสมุด การเปิด – ปิดระบบไฟ ระบบเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านระบบปฏิบัติการบนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่
พื้นที่ให้บริการ
เริ่มต้นจาก ประตูทางเข้าอัตโนมัติ นิสิต บุคลากรจะผ่านเข้า-ออก ด้วย Application CU NEX / บุคคลทั่วไปใช้บัตรประชาชนสแกนรับ QR Code เพื่อมาสแกนที่ประตูอัตโนมัติ จึงจะเปิดให้เช้าใช้บริการ
การสืบค้น การยืม คืน ยืมต่อ ผ่านระบบอัตโนมัติ
เมื่อไม่มีบุคลากรมาประจำคอยให้บริการ จึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เตรียมไว้ให้บริการ
ปฏิทินวัดหยุดให้บริการ เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่ต้องปิดประกาศให้ผู้ใช้ทราบและเห็นอย่างเด่นชัด
วันหยุด
การจัดทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อให้ผูัใช้สะดวก เข้าใจง่ายในการหยิบใช้ ไม่เกิดปัญหาข้อสงสัย หรือมีข้อสงสัยน้อยที่สุด เช่น โซนวิทยานิพนธ์ จัดเรียงตามปี พ.ศ. เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการอ่านจากตัวเล่ม ทำให้ค้นหาได้สะดวก หยิบตัวเล่มได้รวดเร็ว
เนื่องจากไม่มีบุคลากร การจัดป้ายเพื่อแจ้งช่องทางในการติดต่อ กรณีมีปัญหาในการใช้บริการ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยสามารถสอบถามบรรณรักษ์แบบออนไลน์ หรือโทรติดต่อเจ้าหน้าที่ได้
จากการได้มาศึกษาดูงานห้องสมุดแบบ Unmanned Library ทำให้เห็นว่า มีงานส่วนใดบ้างที่ไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรประจำให้บริการ แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาทดแทน และบุคลากรต้อง Upskill หรือ reskill เพื่อพัฒนางานในส่วนงานอื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อไป
ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ขอขอบคุณ วิทยากรทุกท่าน ในการให้คำอธิบายและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น