SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
ความร่วมมือระหว่างศูนย์บรรณสารสนเทศกับหอสมุดแห่งชาติ
พฤศจิกายน 20th, 2020 by supaporn

ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีความร่วมมือในหลาย ๆ ด้านกับหอสมุดแห่งชาติ เริ่มจากความร่วมมือเพื่อการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย มีการจัดเก็บในระยะยาวและเพื่อให้สามารถสืบค้นได้ ศูนย์บรรณสารสนเทศ มีพัฒนาการความร่วมมือในด้านต่างๆ กับหอสมุดแห่งชาติ ดังนี้

ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีการบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ในโครงการจัดทำสำเนาหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2460 ถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 ในการนำหนังสือพิมพ์ภาษาจีนเก่าทุกฉบับที่ตีพิมพ์ในประเทศไทย ทั้งรายวัน รายสองวัน และรายสัปดาห์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเอกสารอันมีคุณค่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสงวนรักษาหนังสือพิมพ์จีน และเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย

การลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักหอสมุดแห่งชาติและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ณ ห้องรับรอง ชั้น 4 อาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

 

การลงนามความร่วมมือการทำสำเนาหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย ระหว่างสำนักหอสมุดแห่งชาติและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

สาระสำคัญของบันทึดข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การทำสำเนาหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย ระหว่าง กรมศิลปากร กับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

สิทธิและหน้าที่ของกรมศิลปากร

1.  จัดหา ส่งมอบ ต้นฉบับหนังสือพิมพ์จีนทุกชื่อ ทุกเล๋ม เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ นำไปจัดทำสำเนา รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ อย่างเต็มที่ตามความเหมาะสม

2. สามารถเข้าไปในสถานที่ปฏิบัติงานทำสำเนาของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ การทำสำเนา โดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ จะดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเต็มที่ตามความเหมาะสม

3. มีสิทธิได้รับสำเนาหนังสือพิมพ์จีน จำนวน 1 ชุด โดยกรมศิลปากรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

สิทธิและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ

1.  มีสิทธิ์ใช้ต้นฉบับหนังสือพิมพ์จีนทุกชื่อ ทุกเล่ม ที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เพื่อนำไปจัดทำสำเนา โดยกรมศิลปากร จะอำนวยความสะดวกให้ให้มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ อย่างเต็มที่ตามความเหมาะสม

2. กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาต้นฉบับของหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ที่กรมศิลปากรส่งมอบให้ มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปจัดทำสำเนา รวมทั้งต้องดูแลรักษาต้นฉบับหนังสือพิมพ์จีนให้อยู่ในสภาพที่ดีและไม่เสียหาย โดยต้องนำ ต้นฉบับหนังสือพิมพ์ทุกชื่อ ทุกเล่มส่งคืนให้กรมศิลปากร ทันทีที่ทำสำเนาเสร็จสิ้น

4. เป็นผู้หาอุปกรณ์เพื่อการทำสำเนา หรือจัดจ้างผู้รับเหมาะจัดทำสำเนา และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนี้เองทั้งสิ้น

5. ส่งมอบสำเนาหนังสือพิมพ์จีน จำนวน 1 ชุดให้แก่กรมศิลปากร โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

ทั้งนี้ สำเนาหนังสือพิมพ์จีน ให้เป็นลิขสิทธิ์ร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

การดำเนินงานระยะที่ 1

  • บริษัท เค แอนด์ โอ ซิสเต็มส์ แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ
  • ขนย้าย หนังสือพิมพ์จีน ตั้งแต่ปี 2466 จนถึง ปี 2529 และแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล เป็นเวลา 5 ปี
  • ศูนย์บรรณสารสนเทศ รับดำเนินการต่อ
  • พัฒนาฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์จีน โดยศูนย์บรรณสารสนเทศ  https://lib-km.hcu.ac.th/chnewspaper4/index.php
  • ตรวจสอบคุณภาพการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล
  • ใส่เมทาดาทาของหนังสือพิมพ์จีน ได้แก่ วัน เดือน ปี ของหนังสือพิมพ์
  • จัดช่องทางการสืบค้น ได้แก่ การใส่หมวดหมู่ของเนื้อหา โดยผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน

กระบวนการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีน

จากภาพในลำดับต่อไปนี้ เป็นการปฏิบัติงานของบุคลากรศูนย์บรรณสารสนเทศ ที่รับดำเนินการต่อจากบริษัท เค แอนด์ โอ ซิสเต็มส์ แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลเป็นไฟล์ .jpg และนำเข้าโปรแกรม

 

 

 

 

 

การดำเนินงานระยะที่ 2

  • ส่งหนังสือพิมพ์จีนที่ดิจิไทซ์เรียบร้อยแล้ว คืนหอสมุดแห่งชาติ
  • นำหนังสือพิมพ์จีน ฉบับปี 2530 มาดำเนินการต่อ  และฉบับปีเก่าที่ไม่สมบูรณ์และไม่ได้นำส่งคืน
  • มีการประชาสัมพันธ์การใช้ฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์จีน (3 ภาษา)
  • มีนักศึกษา นักวิจัย ขอใช้ฐานข้อมูลนี้  45 ราย

ฐานข้อมูล Thailand Digital Chinese Newspaper (TDCN)

มีนาคม 2556 ต่อยอดงานการอนุรักษ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2461-2529 ที่มีการจัดทำสำเนาไปแล้ว 1,122,497 หน้า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้ผลักดัน ให้มีการพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลสำเนาหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ชื่อว่า Thailand Digital Chinese Newspaper (TDCN) นับว่าเป็นแหล่งค้นคว้าที่มีนักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และให้ศูนย์บรรณสารสนเทศ ดำเนินงานโครงการจัดทำสำเนาหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ในระยะที่ 2 ต่อไป

 

ภาพของหนังสือที่ดิจิไทซ์แล้วพร้อมการลงข้อมูล

18 ธันวาคม 2560 อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ เข้าพบผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ เพื่อหารือถึงความร่วมมือการถ่ายสำเนาหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย โดยมีข้อสรุปในการจะดำเนินการส่งมอบไฟล์ดิจิทัลหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยที่ดำเนินการแล้ว ให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ

19 กรกฎาคม 2561 ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ส่งมอบหนังสือพิมพ์จีนและไฟล์ดิจิทัลหนังสือพิมพ์จีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466-2529 ให้แก่สำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวนรวม 1,138,380 หน้า จากการดิจิไทซ์  2,385 เล่มและต่อยอดการถ่ายสำเนาหนังสือพิมพ์จีนในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นไป  โดย อธิบดีกรมศิลปากร นายอนันต์ ชูโชติ เป็นประธานผู้รับมอบ พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมศิลปากร นางประนอม คลังทอง ผู้อำนวยสำนักหอสมุดแห่งชาติ นางสาวกนกอร ศักดาเดช และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย อธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ เป็นประธานผู้ส่งมอบ พร้อมด้วย รองอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร. อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อาจารย์ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศและบุคลากรที่ดูแลงานดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย รายงานผลการดำเนินงานและสาธิตระบบการสืบคืนฐานข้อมูล Thailand Digital Chinese Newspaper (TDCN

ไฟล์ที่ส่งมอบ

 

ไทม์ไลน์โครงการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย

14 ธันวาคม 2561  ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ เข้าพบผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อหารือเรื่องการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ในประเด็นงบประมาณในการสนับสนุนการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย และการนำ Thai Subject Heading เข้าระบบ WorldShare Management Services (WMS) ซึ่งหอสมุดแห่งชาติ เห็นด้วยในการจัดทำ

18 ธันวาคม 2562 ศูนย์บรรณสารสนเทศ มอบหนังสือพิมพ์จีนที่พิมพ์ในประเทศไทยให้แก่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในบางฉบับที่ยังไม่มีเก็บอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ

21 ธันวาคม 2562 ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้รับเชิญในการรับมอบหนังสือเกี่ยวกับจีนศึกษา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี จากศาสตราจารย์ เฉิน ฉังยู ที่มอบให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยสิ่งพิมพ์ที่ได้รับในครั้งนี้ ได้แก่ หนังสือ จำนวน 3,457 เล่ม แบ่งเป็น ภาษาอังกฤษ 383 เล่ม ภาษาจีน 3,074 เล่ม ให้บริการ ณ ห้องหนังสือนานาชาติ อาคาร 1 ชั้น 3  และวารสาร จำนวน 723 ฉบับ แบ่งเป็น ภาษาอังกฤษ97 ฉบับ ภาษาจีน 626 ฉบับ ให้บริการ ณ ห้องบริการวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลา อาคาร 1 ชั้น 4

ร่วมงานรับมอบหนังสือเกี่ยวกับจีนศึกษา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี จากศาสตราจารย์ เฉิน ฉังยู ที่มอบให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ

เข้าร่วมงานรับมอบหนังสือเกี่ยวกับจีนศึกษา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี จากศาสตราจารย์ เฉิน ฉังยู ที่มอบให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ

7 มกราคม 2563 ศูนย์บรรณสารสนเทศ มอบหนังสือพิมพ์จีนที่พิมพ์ในประเทศไทยให้แก่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในบางฉบับที่ยังไม่มีเก็บอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ส่งมอบหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ที่จำหน่ายออก เพื่อให้หอสมุดแห่งชาติ คัดเลือกสำหรับรายการที่หอสมุดแห่งชาติยังไม่มี ในฐานะที่เป็น Repository แห่งชาติ

24 มีนาคม 2564  ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เข้าพบผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อหารือความคืบหน้าการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย โดยตกลงกันในเรื่องการส่งมอบไฟล์หนังสือพิมพ์จีนที่ทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติดิจิไทซ์เพิ่มเติมได้ ผ่านทางระบบเครือข่ายด้วยการ FTP File และส่งคืนตัวเล่มที่ดิจิไทซ์เสร็จแล้ว พร้อมรับตัวเล่มฉบับใหม่มาดำเนินการต่อไป (เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มาพบช้ากว่ากำหนด)

14 ธันวาคม 2564 ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เข้าพบผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานและประชุม เรื่องการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ร่วมกัน โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ยินดีในความร่วมมือดังกล่าวต่อไป และขอความอนุเคราะห์ในการทยอยนำส่งต้นฉบับหนังสือพิมพ์จีนที่ดิจิไทซ์ เสร็จแล้ว (ถ้ามี) ส่งกลับคืนให้หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีสถานที่ และสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บที่เหมาะสมกว่า และขอให้ประสานงานกันในเรื่องการ FTP เพื่อส่งไฟล์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยข้อมูลที่ส่งให้กับหอสมุดแห่งชาตินั้น มีผู้ใช้ที่รู้จักภาษาจีน ใช้ฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์จีนฯ นี้เป็นประจำ

ผู้อำนวนการศูนย์บรรณสารสนเทศ เข้าพบผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

18 พฤษภาคม 2565 ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้นำหนังสือพิมพ์จีน ปี พ.ศ. 2530 ที่ดิจิไทซ์เรียบร้อยแล้วจำนวน 20 เล่ม ส่งคืนให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ

10 มกราคม 2566 ศูนย์บรรณสารสนเทศ เข้าพบรักษาการผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ และสรุปผลการดำเนินงานโครงการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนฯ ในปีที่ผ่านมาโดยมีการส่งต้นฉบับหนังสือพิมพ์จีน ปี พ.ศ. 2530 ที่ดิจิไทซ์แล้ว คืนหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 20 เล่ม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 และส่งข้อมูลโดยการ FTP ให้กับทางสำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน 48 เล่ม ยังมีตัวเล่มหนังสือพิมพ์จีนปี พ.ศ. 2530  ที่ยังไม่ได้ดิจิไทซ์อีกจำนวน 16 เล่ม

14 ธันวาคม 2566 ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ และผู้อำนวยสำนักหอสมุดแห่งชาติ พบปะกันตามที่มีการตกลงทางวิชาการร่วมกันในโครงการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย โดย ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้รายงานความคืบหน้าในการดิจิไทซ์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย มีการนำตัวเล่มหนังสือพิมพ์จีนคืนสำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่ดิจิไทซ์เสร็จแล้วจำนวน 5 เล่ม และ การให้บริการฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์จีนแก่นักวิจัยชาวต่างประเทศ ในการนี้ ได้มีการหารือในการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย และกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจีน การแพทย์แผนจีน โดยคาดว่าจะมีกิจกรรมในเดือนมิถุนายน 2567

ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ยังคงมีความร่วมมือทางวิชาการ หรือความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ต่างสนับสนุนภารกิจของแต่ละหน่วยงานได้

รายการอ้างอิง

ลงนาม. ข่าวสด วันอังคารที่ 21 ตุลาคม 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6536 หน้า 5

ร่วมมือ. มติชน วันที่ 14 ตุลาคม 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11175 หน้า 22


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa