SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
เรื่องเล่าชาว มฉก. “หุ่นคน” สู่ผลงานสร้างสรรค์ชุด “หุ่นคนตะลุงโนรา”
กรกฎาคม 23rd, 2020 by matupode

 

ผู้เขียนจำได้ว่า “หุ่นคน” เริ่มเข้ามามีบทบาทในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2546 ตอนนั้นนับว่าเป็นการแสดงที่แปลกใหม่ ผู้เขียนเคยสงสัยตอนได้ดูการแสดงในครั้งแรกว่า คนที่แสดงใช่หุ่นหรือว่าคนจริงๆ กันแน่ อาจเพราะการแต่งหน้า การแสดงที่สมจริงก็อาจเป็นได้

“คณะหุ่นคน ม. หัวเฉียว”  จัดตั้งโดยอาจารย์สุกฤตาวัฒน์ บำรุงพานิช ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ในขณะนั้น อาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า แนวคิดและแรงบันดาลใจในการการสร้างสรรค์งานหุ่นคน เกิดจากการได้มีโอกาสได้ชมการแสดงการเชิดหนังตะลุงทางภาคใต้ จึงได้ตั้งข้อสังเกตและเกิดคำถามว่า “ตัวหนังตะลุงเลียนแบบคน แต่งกายเหมือนคน หน้าตารูปร่างทุกอย่างเหมือนคน” เลยให้คำตอบกับตัวเองว่า ผู้ที่แกะรูปหนังตะลุงนั้น ได้ใช้จินตนาการในการแกะหนังตามตัวคนที่ตนเองชื่นชอบหรือไปพบบุคคลใดบุคคลหนึ่งในสังคม แล้วถ่ายทอดสู่การแสดงด้วยกิริยา ท่าทาง การเชิด การพูด  ด้วยหลักการดังกล่าวทำให้อาจารย์กลับมาคิด แล้วมองในมุมกลับว่า “ถ้าหากหนังตะลุงเลียนแบบคนแล้วถ้าเราเอาคนไปเลียนแบบหนังตะลุงบ้างก็น่าจะสนุกและแปลกดี” จึงได้ดำเนินการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของตัวหนังตะลุงทั้งการแต่งกาย รูปร่างใบหน้า กิริยาท่าทาง และวิธีเชิดมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดงหุ่นคน และยังศึกษาค้นคว้าศิลปะการแสดงหุ่นทุกชนิด เช่น หุ่นหลวง หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก การแสดงหุ่นของภาคต่างๆ โขน ละคร การแสดงหนังใหญ่ ตลอดจนการแสดงศิลปะแบบสากลมาผสมผสานกับศิลปะการเชิดหุ่น โดยนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในวรรณกรรม  วรรณคดี  และวิถีชีวิตของสังคมไทยมาดัดแปลงแต่งเติมให้เป็นบทแสดง  แล้วประยุกต์ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างคนกับหุ่นหรือคนเลียนแบบหุ่น  โดยได้นำวิธีการเชิดหุ่น รูปแบบการแสดง การดำเนินเรื่อง ตลอดจนการแต่งกายของหุ่นให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เป็นศิลปะการแสดงร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากกระแสสังคมที่เริ่มยอมรับศิลปะการแสดงหุ่นคนด้วยเหตุผลเพราะความแปลกใหม่นั่นเอง

อาจารย์สุกฤตาวัฒน์ ได้เล่าให้ฟังอีกว่า คณะหุ่นคนสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ชุด ได้แก่ หุ่นคนชเวดากอง หุ่นคนวิลาศลักษณ์ศุภฤกษเบิกอมร ออกเผยแพร่ครั้งแรกในงานประเพณีรับบัวประจำปี 2546 ตำบลบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในวันนั้นได้มีรายการสะเก็ดข่าวมาถ่ายทำและนำไปออกอากาศเผยแพร่การเชิดหุ่นคนทำให้คณะหุ่นคน ม.หัวเฉียว ได้รับการตอบเป็นอย่างมากเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยต่างติดต่อว่าจ้างทำการแสดงอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของการเชิดหุ่นคน  และหลังจากนั้นก็ยังได้ผลิตผลงานสร้างสรรค์เพิ่มเติมอีกจำนวนหลายชุด ได้แก่ หนังใหญ่คน หุ่นคนเรื่องพระมหาชนก ตอนพระมหาชนกเรือแตกแล้วนางมณีเมขลาเข้าช่วยเหลือ ฯลฯ

และในปี พ.ศ. 2560 อาจารย์สุกฤตาวัฒน์ บำรุงพานิช ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเรื่องราวของหุ่นคนจากแนวคิดของตนเองในฐานะที่เกิดและเติบโตในภาคใต้ซึ่งคุ้นเคยกับการแสดงหนังตะลุงและการรำโนรานำเสนอในรูปแบบวิชาการ ซึ่งผลงานได้ถูกตีพิมพ์ในปี 2561 ภายใต้ชื่อว่า “ผลงานสร้างสรรค์ชุดหุ่นคนตะลุงโนรา”


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa