หอจดหมายเหตุมีโครงการจัดทำหอเกียรติยศ (Hall of Fame) สำหรับผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ เช่น ดร. อุเทน เตชะไพบูลย์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกท่าน ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ท่าน เผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุ https://lib-km.hcu.ac.th/hcu-archives/index.php/hall-of-fame ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล
ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้รวบรวมข้อมูลของรองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดีลำดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยฯ ผู้เขียนเลือกใช้การสัมภาษณ์ร่วมกับการศึกษาเอกสารในการรวบรวมข้อมูล เพราะมองว่าการสัมภาษณ์จะได้ข้อมูลที่มีชีวิต มีความน่าสนใจมากกว่าการศึกษาเอกสารลายลักษณ์ เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็นับว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2562 ผู้เขียนพร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารสนเทศ และนักวิชาการจดหมายเหตุอีกท่านหนึ่ง ได้รับอนุญาตเข้าสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ ที่บริษัท จักรมาร์ติน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เนื่องจากท่านครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อประมาณต้นปี 2562
ประเด็นคำถามที่ส่งไปก่อนล่วงหน้า เพื่อจะขอสัมภาษณ์ เช่น ชีวิตช่วงวัยเด็ก ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ชีวิตการทำงาน และบทบาทของการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ผู้เขียนคิดว่าตอนสัมภาษณ์จะถามเป็นแต่ละข้อไป แต่พอสัมภาษณ์จริงๆ “อาจารย์ประจักษ์” ขอเรียกว่า “อาจารย์ประจักษ์” เพราะตลอดการสัมภาษณ์อาจารย์ประจักษ์จะให้ความเป็นกันเองและมักจะแทนชื่อตัวเองว่า “อาจารย์ประจักษ์” ตลอดเวลา อาจารย์ประจักษ์เล่าทุกคำถามที่ส่งไป เล่าเป็นเรื่องราวโดยผู้สัมภาษณ์แทบจะไม่ต้องถามอะไรเพิ่มเติมอีกเลย
ตลอดระยะเวลาสัมภาษณ์ 3 ชั่วโมง คำตอบของคำถามที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากที่สุดก็คือ ผู้เขียนได้ถามอาจารย์ประจักษ์ว่า “ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ผลงานหรือความภาคภูมิใจที่อาจารย์ภูมิใจมากที่สุดคืออะไร?”
“ อาจารย์ประจักษ์ไม่มีอะไรที่ภูมิใจมากหรอก อะไรที่มันดี อาจารย์ประจักษ์ก็ Happy ไปหมดแหละ อาจารย์ประจักษ์ไม่ได้มีอะไร แล้วก็ไม่ค่อยจำด้วยว่าอะไรที่มันทำแล้วเราภูมิใจมากที่สุด แต่รวมๆ แล้ว ที่อาจารย์ประจักษ์ดีใจก็คือ หัวเฉียวเป็นที่รู้จักมากขึ้นเยอะ ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพราะคนเราจะดีไม่ดี สังคมจะดีไม่ดีก็อยู่ที่คนที่นักศึกษา แล้วก็อะไรหลายอย่างที่เราทำ ล้วนดีทั้งนั้น และทำความภูมิใจให้อาจารย์ประจักษ์ทั้งนั้น รวมทั้งพวกเราที่พัฒนาเป็นคนดีส่วนใหญ่ อาจารย์ประจักษ์ก็ภูมิใจ พวกเราที่รักและภูมิใจในสถาบันมากขึ้น………..”
คำตอบของอาจารย์ประจักษ์ดูเป็นคำพูดธรรมดาๆ แต่ผู้เขียนรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่ในทุกประโยคที่อาจารย์พูด หรือทุกช่วงเวลาที่อาจารย์ประจักษ์ให้สัมภาษณ์ น้ำเสียงที่พูดถึงบุคลากร พูดถึงนักศึกษา แววตาที่โอบอ้อมอารี ผู้เขียนรู้สึกว่าสัมผัสได้และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสัมภาษณ์ ผู้อ่านท่านใดสนใจเรื่องราวชีวิตของ “รองศาสตราจารย์ประจักษ์ พุ่มวิเศษ” ว่าแต่ละช่วงชีวิตท่านเป็นอย่างไร สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในเว็บไซต์หอจดหมายเหตุ “หอเกียรติยศ” ได้ในเร็วๆ นี้
“เวลาเพียง 3 ชั่วโมงในการสัมภาษณ์ หรือการยกเอาคำตอบจากบทความแค่บทความเดียว อาจไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด แต่จะทำให้เราย้อนไปในเวลาเหล่านั้นได้ และจะรู้ว่าพวกเราโชคดีอย่างไรที่มีอาจารย์ประจักษ์เป็นอธิกาบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”