หนังสือสมาคมจีนที่จัดตั้งในประเทศไทย คือ หนังสือรวบรวมรายนามผู้ก่อตั้งและสมาชิกของสมาคมจีน หนังสือที่ระลึก หนังสืออนุสรณ์ รายงานประจำปีของสมาคม หนังสือตระกูลแซ่ชาวจีนโพ้นทะเล ฯลฯ เนื้อหามักประกอบด้วยรายชื่อสมาชิก ตำแหน่ง สำนักงาน สถานที่ติดต่อของสมาชิก บางเล่มมีกล่าวถึงประวัติและวัตถุประสงค์ของสมาคมที่จัดตั้งขึ้นและกิจกรรมของสมาคม

ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีหนังสือสมาคมจีนที่จัดตั้งในประเทศไทย อยู่จำนวนพอสมควร มีการจัดเก็บเพื่อให้บริการค้นคว้า ความเป็นมาของแต่ละสมาคม คณะกรรมการแต่ละชุด และผลงานของสมาคมแต่ละแห่ง การลงรายการทางบรรณานุกรม ของหนังสือประเภทนี้ ศูนย์บรรณสารสนเทศได้กำหนดแนวทางไว้โดยให้บริการอ่านในห้องสมุดภาษาจีนเท่านั้น มิให้ยืมออก และมีการกำหนดหมวดหมู่ขึ้นใช้เอง ถ้าต้องการใช้สามารถสืบค้นในระบบห้องสมุด หรือมาที่ห้องสมุดภาษาจีน ชั้น 5 ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และติดต่อขอยืมอ่านได้
การลงรายการทางบรรณานุกรมสำหรับหนังสือสมาคมจีน ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีขั้นตอนดังนี้
1. ลงข้อมูลที่สำคัญทางบรรณานุกรม มีดังนี้
040 แหล่งผลิตข้อมูลทางบรรณานุกรมใช้บันทึกรหัส หรือชื่อหน่วยงาน
ที่ผลิตข้อมูล
041 รหัสภาษา โดยระบุอักษร 3 ตัวที่ใช้แทนภาษาของสิ่งพิมพ์เล่มนั้น จะมี 2 ภาษา เสมอ คือภาษาจีน และภาษาไทย
110 ชื่อนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นรายการหลัก เป็นการลงชื่อของสมาคม
245 ชื่อเรื่อง ชื่อเรื่องภาษาไทย
246 ชื่อเรื่องที่เป็นพินอินของภาษาจีน ซึ่งพินอินก็คือระบบในการถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐาน ด้วยตัวอักษรละติน
260 สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์
300 เล่ม : ภาพประกอบ; ขนาด
500 หมายเหตุทั่วไป
610 หัวเรื่องที่เป็นนิติบุคคล ใส่ชื่อของสมาคมนั้น ๆ
650 หัวเรื่องทั่วไป ใส่คำว่า สมาคมจีน — ไทย และ ชาวจีน — ไทย

2. กำหนดรหัส (เหมือนเลขหมู่) เป็นการกำหนดขึ้นมาเอง เริ่มจากกำหนดหมวดหนังสือของสมาคมของคนจีน เป็น ASS ซึ่งย่อมาจาก Association จากในภาพจะเป็นรหัส ASS ZS 1988-1989 ซึ่ง ZS จะมาจากชื่ออักษรย่อสองตัวแรกของชื่อสมาคม คือ 鄭氏 Zhèng shì และตามด้วยปีของเนื้อหาปีนั้น ๆ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเป็นการรายงานในแต่ละปี

3.ใส่รหัสในข้อ 2 ตรง Call number และกำหนด shelving location ของหนังสือ ซึ่งกำหนดให้เป็นหนังสืออ้างอิง ไม่ให้ยืมออก จึงต้องกำหนดเป็น Reference Book

4.จากนั้นติดสันหนังสือ และจัดเรียงหนังสือตามรหัสที่่กำหนดไว้

จากรูปเป็นหนังสือสมาคมเตชะสัมพันธ์ ที่รวบรวมรายนามคณะกรรมการอาวุโส สมัยที่ 1 เอาไว้ในเล่ม สมาคมนี้ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานถาวรสมาคมฯ ผู้ก่อตั้งสมาคมเตชะสัมพันธ์ โดยสมาคมก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ให้สมาชิกมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านการดำรงชีวิตและธุรกิจ และร่วมกิจกรรมของสมาคม