SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
เทศกาลเช็งเม้ง (清明节)
มีนาคม 23rd, 2020 by supaporn

เป็นเทศกาลประจำปีตามประเพณี(年节หรือ传统节日) ที่สำคัญของชาวจีน ที่แสดงออกถึงความกตัญญูความเคารพและการระลึกถึงบรรพบุรุษ คำว่า”เช็งเม้ง”นั้นเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ชิงหมิง” เมื่อพูดคำเต็มว่า”ชิงหมิงเจี๋ย”ก็หมายถึงเทศกาลเช็งเม้งนั่นเองเทศกาลนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยชุนชิว (ก่อนคริสตศักราช 770 ปี ถึงก่อนคริสตศักราช 476ปี) เทศกาลนี้นอกจากเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษแล้ว ยังให้ความสำคัญกับข้าราชการตงฉินชื่อเจี้ยจื่อทุย (介子推) แห่งรัฐจิ้น (晋国) ด้วย โดยทางการห้ามมีการก่อไฟในบ้าน (禁火) และให้กินอาหารเย็นๆ เรียกว่า”หานสือ”(寒食) เป็นช่วงเวลายาวกว่า 3 เดือน เมื่อหมดช่วงหานสือชาวบ้านจะได้เชื้อไฟจากในวังที่พระจักพรรดิ์ทรงพระราชทานให้เหล่าเสนาบดี จากนั้นแล้ว ชาวบ้านจึงสามารถติดไฟปรุงอาหารร้อนได้ ต่อมาทางการเห็นว่าไม่สมควร ในสมัยราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-ค.ศ.907) จึงลดวัน”หานสือ” ให้น้อยลง และเน้นความสำคัญในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษมากขึ้น รวมทั้งการทำความสะอาดสุสาน การอาบน้ำที่ริมแม่น้ำที่เรียกว่า”ฝูเซีย”(祓褉) เพื่อเป็นสิริมงคลให้ห่างไกลจากภัยพิบัติ การท่องเที่ยวนอกเมือง ในสมัยพระเจ้าถังเสวียนจง (唐玄宗)(ค.ศ.712 –ค.ศ.742) ทรงมีพระราชบัญชาให้ราษฏรหยุดในเทศกาลนี้ 4 วัน ข้อมูลเกี่ยวกับวันเทศกาลนี้ดูได้จากหนังสือ”ถังฮุ่ยเย้า ตอนที่ 82” (《唐会要》卷82) มาถึงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ(北宋)(ค.ศ.960-ค.ศ.1127 )เทศกาลเช็งเม้งและหานสือได้หยุดรวม 7 วัน ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ ”เหวินชังจ๋าลู่” (《文昌杂录》) ของผังหยวนอิง (庞元英) ในปี ค.ศ.1935 รัฐบาลประเทศจีน (中华民国) ก่อนตั้งประเทศใหม่ ได้กำหนดวันที่ 5 เดือน 4 ของปีคริสตศักราชเป็นวันเช็งเม้งประจำปี และให้เป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการหนึ่งวัน ต่อมาในปี ค.ศ.2007  เดือน 7 วันที่ 12 รัฐบาลมีประกาศให้หยุดวันเช็งเม้งอย่างเป็นทางการ โดยหยุดตามวันที่ปฏิทินจีน หรือปฏิทินหนงลี่ (农历) กำหนดไว้

เทศกาลเช็งเม้งจะจัดกันในช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิมาจนถึงวันสุดท้ายของฤดูใบไม้ผลิ และในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีนต่างถือเอาวันที่ 5 เดือน 4เป็นวันสิ้นสุดของเทศกาล โดยเป็นเทศกาลที่ลูกหลานต้องไปร่วมกันจัดไหว้บรรพบุรุษ ทำความสะอาดสุสาน ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ในโอกาสนี้บุตรหลานได้มีโอกาสพูดคุยสังสรรค์กันมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานเกิดความสามัคคีปรองดองเพื่อร่วมกันสร้างวงศ์ตระกูลให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น

เมื่อถึงเทศกาลนี้ครั้งใด สิ่งที่อยู่ในใจไม่เคยลืมเลือนมีสองเรื่อง คือ หนึ่งภาพวาดบนผ้าไหมของจางเจ๋อตวน (张择端) ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ที่มีชื่อว่า “ชิงหมิงซั่งเหอถู” (清明上河图) ซึ่งมีความสวยงามมากเกินคำบรรยาย และเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่จิตรกรเอกได้วาดบนผ้าไหมที่กว้าง 24.8 ซม.และยาวถึง 528.7ซม. เนื้อหาในรูปวาดเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนในนครเปี้ยนยนจิง (汴京) ที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเปี้ยนเหอ (汴河) ซึ่งปัจจุบันเมืองเปี้ยนจิงคือเมืองไคเฟิง (开封) ของมณฑลเหอหนาน (河南) และอีกเรื่องคือคำกลอนของกวีเอกตู้มู้ (杜牧)แห่งราชวงศ์ถัง(唐) พที่บรรยายถึงบรรยากาศในวันเช็งเม้ง ชื่อกลอนว่า”ชิงหมิง”(《清明》)

清明时节雨纷纷,路上行人欲断魂。

借问酒家何处有,牧童遥指杏花春。

เทศกาลเช็งเม้งฝนตกปอยปอย  คนเดินทางใจจะขาด

ขอถามว่าที่ใดมีโรงเตี้ยม  เด็กเลี้ยววัวชี้ไปยังสวนดอกเห็งที่อยู่ไกลโพ้น

ขอขอบพระคุณ

รองศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ จันทโรนานนท์ คณบดีคณะภาษาและวัฒนธรรมจีน ที่กรุณามอบข้อมูลดังกล่าวมาให้ค่ะ


Comments are closed

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa